Lifestyle

'แพ้ยารุนแรง' อย่าเพิกเฉย ปล่อยทิ้งไว้ อันตรายถึงเสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาวะ 'แพ้ยารุนแรง' มีอาการอย่างไร และหากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว ควรจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ทันท่วงที

การ แพ้ยา อาจเกิดได้ในผู้ป่วยทุกโรคส่วนใหญ่มักพบเฉพาะอาการทางผิวหนัง หรือมีอาการในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถพบได้หลังจากรับประทานยาเพียงไม่กี่มื้อ จนถึงรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 6 เดือน แต่เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยเกิดภาวะ แพ้ยารุนแรง (steven johnson syndrome หรือ SJS) และท็อก-ซิก อีพิเดอร์มัล เนโครไลซิส (Toxic Epidermal Necrolysis หรือ TEN) จำนวนมาก และมีการใช้ยากลุ่มที่มีความเสี่ยงจะแพ้สูง ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีการเพิ่มสิทธิในการตรวจยีนส์หาว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ยารุนแรงก่อนจ่ายยาบางชนิดหรือไม่

 

วันนี้ คมชัดลึก จะพาไปดูกันว่า ภาวะแพ้ยารุนแรง มีอาการอย่างไร และหากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว ควรจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ทันท่วงที

 

อาการที่พบในผู้ป่วยแพ้ยาทางผิวหนังรุนแรง

 

อาการนำ ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่ม มีผื่นขึ้นบริเวณลำตัวแขนขา หน้าบวม ตาบวม เจ็บผิว เจ็บตามตัว มีอาการเจ็บเคืองตา เจ็บปาก กลืนเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด ผื่นอาจมีลักษณะพองเป็นตุ่มน้ำหรือเกิดการหลุดลอกของผิวหนัง และมีการหลุดลอกของเยื่อบุต่างๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยารุนแรงอาจมีอาการแทรกซ้อนของอวัยวะภายใน เช่น มีแผลในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

ยาที่มักทำให้เกิดการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงในประเทศไทย ได้แก่

 

  1. ยารักษาโรคเกาต์ เช่น allopurinol
  2. ยากันชัก เช่น carbamazepine, phenobarbital, phenytoin และlamotrigine
  3. ยาแก้ปวด/ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, meloxicam, piroxicam และ tenoxicam
  4. ยาต้านไวรัส HIV เช่น nevirapine, abacavir
  5. ยากลุ่มซัลฟา เช่น co-trimoxazole, sulfasalazine
  6. ยากลุ่มเพนนิซิลิน เช่น amoxicillin
  7. ยารักษาวัณโรค เช่น rifampicin, isoniazid pyrazinamide, ethambutol
  8. Dapsone

 

ข้อควรปฏิบัติหากเกิดอาการแพ้ยา

 

  1. หากได้รับยาใดๆ  และเริ่มมีอาการเจ็บคอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนปวดข้อหรือ มีผื่นผิวหนัง ผิดปกติ
  2. ให้หยุดยาทันที
  3. ถ่ายรูปผื่นในระยะแรก
  4. นำยาที่ใช้ทั้งหมดพร้อมฉลากและชื่อยามาพบแพทย์และเภสัชกร

 

หากท่านมีประวัติแพ้ยา

 

  1. จดจำชื่อยา และอาการที่ท่านแพ้ยา
  2. พกบัตรแพ้ยาติดตัว และยื่นแสดงบัตรหรือ
  3. แจ้งชื่อยาที่แพ้แก่แพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือกลุ่มยาที่เคยแพ้

 

การ แพ้ยา ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย และไม่สามารถทราบได้ว่าใครจะแพ้ยาอะไรแต่สามารถสังเกตอาการนำได้ก่อนที่จะ แพ้ยารุนแรง ปัจจุบันการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ สามารถตรวจยีนเพื่อทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังได้ ทั้งนี้ยังไม่สามารถตรวจได้กับยาทุกชนิด จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ และเภสัชกร

 

\'แพ้ยารุนแรง\' อย่าเพิกเฉย ปล่อยทิ้งไว้ อันตรายถึงเสียชีวิต

 

ข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลฝ่ายเภสัชกรรม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ