โควิด-19

"โควิด" ปิดฉาก (อาจไม่) จบบริบูรณ์ เปิดเงื่อนไข "โรคประจำถิ่น" เป็นได้แค่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โควิด" ปิดฉาก (อาจไม่) จบบริบูรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเงื่อนไข "โรคประจำถิ่น" เป็นได้แค่ไหน เมื่อเชื้อไม่หายไปจากโลก

(22 เม.ย.2565) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับสถานการณ์ "โควิด" โดยเฉพาะในประเด็นการปรับโควิดให้เป็น "โรคประจำถิ่น" โดยระบุหัวข้อว่า โควิดปิดฉาก แต่อาจไม่จบบริบูรณ์ ENDEMIC IS NOT THE END โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ภายในปี 2565 ตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง 

 

 

 

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ให้ข้อมูลว่า ไม่ใช่เพียงแค่ประชากรโลกมีภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อเท่านั้น เพราะการที่โรคระบาดใหญ่ลุกลามทั่วโลก ที่เรียกว่า pandemic จะลดระดับลงมาเป็นโรคประจำถิ่นได้ เช่น โรคเอดส์ โรคไข้เลือดออก โรคซิฟิลิส และไข้หวัดใหญ่ที่เราคุ้นเคย หมายความว่า โรคนั้นจะต้องเป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำภายในขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีอัตราป่วยคงที่ และสามารถคาดการณ์ และควบคุมการระบาดได้ แม้ว่าโรคนั้นจะยังทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ก็ตาม แม้ว่าโรค "โควิด" มีแนวโน้มว่าจะลดระดับกลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อนี้จะหายไปจากโลก

 

ศ.ดร.เบอร์นาเด็ตต์ โบเดน-อัลบาลา (Bernadette Boden-Albala) ผู้อำนวยการและคณบดีผู้ก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ กล่าวว่า การควบคุมการระบาดที่มีอยู่ช่วยผลักดันให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิตและที่สำคัญที่สุดคือลดการแพร่เชื้อได้มาก
 

ในการจัดระดับโรคระบาดนั้น ขอบเขตการระบาดจะเป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของการระบาด ซึ่งขณะนี้ โรค "โควิด" ยังจัดว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ลุกลามทั่วโลก ที่เรียกว่า pandemic เช่นเดียวกับ ไข้หวัดสเปน ในปี 2461 อยู่ ส่วนโรคระบาด หรือ epidemic ซึ่งมีระดับการระบาดที่รุนแรงลดลงมาจะหมายถึงโรคที่มีการระบาดแพร่กระจายผ่านประชากรตั้งแต่หนึ่งกลุ่มขึ้นไป ความชุกของการติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างหรือเกินคาดการณ์ได้ แต่ไม่ลุกลามไปทั่วโลก เช่นโรคอีโบลา ที่ระบาดในทวีปแอฟริกาข้ามไปยังทวีปอื่น ๆ ระหว่างปี 2557-2559 ส่วนโรคประจำถิ่นนั้น หมายถึงโรคระบาดที่ยังสามารถรับมือได้ ซึ่งได้แก่

 

โรคเอดส์ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคอุบัติใหม่ในปี 2527 พัฒนาเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง จนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคประจำถิ่นในเชิงระบาดวิทยา พบครั้งแรกในปี 2500 และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายด้วย แม้ว่าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่หากเข้ารับการประเมินการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยก็มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดตามฤดูกาลจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วประชากรในแต่ละปี แม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ไวรัสก็กลายพันธุ์บ่อยครั้ง และมีส่วนทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ตามฤดูกาลทุกปี คนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สามารถฟื้นตัวได้เองที่บ้านโดยมีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก อาจมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นได้

โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคประจำถิ่นที่พบทั่วโลก โชคดีที่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีดวัคซีน หากใครวางแผนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโรคตับอักเสบระบาดเฉพาะถิ่น

โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เคยเป็นโรคประจำถิ่นทั่วโลก ต่อมาการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ปัจจุบันยังถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นเฉพาะบางส่วนของทวีปแอฟริกา และในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการเกิดโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

 

หลายประเทศประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะยังไม่ฟันธงว่าจะสามารถปรับระดับได้ภายในปี 2565 หรือไม่ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์
โอไมครอนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ในขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยพิจารณาจากการที่เชื้อลดความรุนแรงลง ซึ่งคำนวณจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด ร่วมกับการจัดการระบบสาธารณสุขที่สามารถควบคุมและชะลอการระบาดได้

 

อย่างไรก็ตาม การจะควบคุมความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในระดับประชากรได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ที่ยังต้องเว้นระยะห่างและรักษามาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ เพื่อจำกัดการระบาดในวงกว้าง

 

 

ขอบคุณข้อมูล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

logoline