ศรัทธาสายมู

ชมภาพยอดปลี พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ เมื่อครั้งบูรณะประดับอัญมณีล้ำค่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดภาพชุด ยอดปลีของพระธาตุช่อแฮ ศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่ ในครั้งทำการบูรณะ พบประดับด้วยอัญมณีมีค่าพร้อมเปิดประวัติความเป็นมา

หนึ่งในความประทับใจในสิ่งที่น้อยคนได้พบเห็น เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ อุปนายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย เผยแพร่ภาพชุดของยอดพระธาตุ ที่ถูกระบุว่า เป็นพระธาตุช่อแฮ โดยมีข้อความระบุว่า "#พระธาตุช่อแฮ ปลียอดบนสุด​ ของพระธาตุ​ช่อแฮ(พระธาตุ​ประจำปีขาล)​ ถ่ายไว้ปีก่อนในช่วงบูรณะ​องค์​พระธาตุ​ ถือเป็นการร่วมงานบุญ​สำคัญและ​เป็นงานบุญครั้งใหญ่มากครั้งหนึ่ง​  ในชีวิตของผมและครอบครัว​ ญาติ​สนิทมิตร​สหาย​ ​ที่เป็นมงคล​อย่างยิ่ง
ยอดปลีพระธาตุช่อแฮ ภาพโดย  ศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ อุปนายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย
ผมได้มีโอกาส​ ชมความงามอย่างใกล้ชิด​มากๆ​ แต่ก็มิอาจกล้าอาจเอื้อม​ ไปสัมผัส​แม้แต่ปลายนิ้ว​ ได้แต่เก็บภาพนี้มาฝากกัลยาณมิตร​ทุกท่าน​ ครั้งหน้าถ้าหากจะมี​ การบูร​ณะอีกรอบ​ สังขารผมคงไม่น่าจะแข็งแรงพอที่จะปีนมาบนยอดตรงนี้อีกแล้ว


อัญมณี​สีขาวเม็ดใหญ่ มีเล่าบอกกันว่าเป็นของ​ ล้นเกล้า​ ในหลวงรัชกาล​ที่​9​ ท่านพระราช​ทาน​ มาติดไว้เมื่อนานมาแล้ว​ตั้งแต่การบูร​ณะเมื่อคราวก่อน​ จะเท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบได้​  ได้แต่สาธุ​กับ​ แรงศรัทธา​ของผู้คนมากมาย​ ที่สืบต่อพระพุทธ​ศาสนา​มานับร้อย​ๆ​ปี กับองค์​พระธาตุ​ที่สำคัญที่เมืองแพร่แห่งนี้"

ภาพชุดดังกล่าว เป็นส่วนยอดสุดหรือปลียอดพระธาตุ ที่ประดับด้วยทองคำพุ่มลักษณะดอกบัว ฐานโดยรอบคล้ายกลีบดอกไม้ ชั้นถัดลงมาประดับด้วยอัญมณี พร้อมด้วยมีอัญมณีเม็ดสีขาวขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ด้วย สำหรับประวัติพระธาตุช่อแฮหรือ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล

ยอดปลีพระธาตุช่อแฮ ภาพโดย  ศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ อุปนายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย

มีระบุไว้ในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน 

ยอดปลีพระธาตุช่อแฮ ภาพโดย  ศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ อุปนายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย

ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมากจนล่วงมาถึง พ.ศ. 2467 พระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่และเจ้าอาวาสวัดเมธัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในก่อตั้ง และ การบูรณปฏิสังขรณ์ พร้อมด้วย ครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดแพร่ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่

ยอดปลีพระธาตุช่อแฮ ภาพโดย  ศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ อุปนายกสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย

ขณะเดียวกัน ตำนานพระธาตุช่อแฮจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ของทางวัดพระธาตุช่อแฮ มีระบุอีกทางว่า  กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) ประทับ ณ ดอยโกสัยธชัคคะบรรพต ขณะนั้นมีหัวหน้าชาวลั๊วะนามว่าขุนลั๊วะอ้ายค้อม (อ่านว่า "ก้อม" ) ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่บนดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ขุนลั๊วะอ้ายค้อมเห็น เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่น เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานที่ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุที่ระลึก

โดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลัวะอ้ายก้อมไว้ มีรับสั่งให้เอาเส้นพระเกศานี้ไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้บริเวณนี้ พระองค์มีรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุพระศอกข้างซ้ายมาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่าเมืองแพร่ โดยเป็นเมืองใหญ่ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับนั่ง ณ ใต้ต้นหมากนี้ เมื่อทรงทำนายแล้วก็เสด็จจาริกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่าควรจะเป็นที่ตั้งพระธาตุได้ จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระเชตวันอารามและหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี ตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมกันอธิษฐานว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยเสด็จไปยังถิ่นฐานบ้านเมืองหลายแห่ง แล้วทรงหมายสถานที่ที่ควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

จึงขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตอยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้นั้นเถิด เมื่ออธิษฐานแล้วพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าจะหมดอายุแห่พระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ