ข่าว

มอง“หุ้น-ค่าเงิน”ปั่นป่วนแค่ช่วงสั้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาฯ ก.ล.ต.มองอังกฤษออกจากอียูกระทบตลาดหุ้น-ตลาดเงินระยะสั้น เชื่อตลาดหลักทรัพย์เอาอยู่ หุ้นตก 2-3% ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค


               นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความเห็นถึงกรณีอังกฤษลงมติออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ว่า ผลกระทบระยะสั้นในเรื่องความผันผวนของตลาดเงินของอังกฤษและภูมิภาคอื่นๆ เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของตลาดทุน ดังจะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ใน Asia-Pacific มีดัชนีที่ลดลงในวันนี้ ในส่วนของ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงอยู่ในช่วง 2-3% นั้น ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ก.ล.ต. มองว่าเป็นเรื่องปกติและระบบของตลาดหลักทรัพย์รองรับได้ไม่มีปัญหา

               อย่างไรก็ดี แม้ผลโหวตเป็น BREXIT แต่อังกฤษและอียูต้องมีกระบวนการเจรจาเพื่อหารูปแบบการออกจากอียูอีกประมาณ 2 ปี ดังนั้น การประเมินผลกระทบระยะยาวคงต้องขึ้นกับความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว และขึ้นกับว่า BREXIT ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคยุโรปมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถคอยติดตามความคืบหน้ากันได้

               สำหรับผลกระทบระยะสั้นที่มีต่อตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ยังคงมองว่า BREXIT เป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานของ บจ. ไทยโดยตรง เพราะมูลค่าการค้าไทย-อังกฤษมีสัดส่วนไม่สูงประมาณไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย แต่คงทำให้ SET มีความผันผวนอยู่บ้างในระยะสั้น จึงขอให้ผู้ลงทุนอย่าตื่นตระหนกและขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

ธปท.ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทย

               ข่าว ธปท. ฉบับที่ 34/2559 เรื่อง การประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจากกรณีที่สหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป

               ตามที่สหราชอาณาจักรได้จัดให้มีการลงประชามติและผลปรากฏเป็นการลงคะแนนเสียงข้างมากเพื่อออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรป นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอเรียนประเมินผลกระทบเบื้องต้นว่า ผลกระทบทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยผ่านช่องทางการค้าและความเชื่อมโยงของสถาบันการเงินคาดว่าจะค่อนข้างจำกัด แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาวะความไม่แน่นอนจากกระแสการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

               สำหรับการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ เบื้องต้น มีดังนี้

               ผลกระทบผ่านช่องทางการค้า คาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด โดยหากพิจารณาระดับการค้าของไทยกับสหราชอาณาจักรโดยตรง พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรคิดเป็นร้อยละ 1.8 ในปี 2558 (เป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามในกลุ่มสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์) อย่างไรก็ดี หากรวมการส่งออกที่รวมกลุ่มสหภาพยุโรป ผลกระทบก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าว (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) มีประมาณร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมคาดว่าจะไม่มากนัก หากปัญหาไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสหราชอาณาจักรและกลุ่มสหภาพยุโรปภายหลังจากแยกตัวด้วย

               ทางด้านผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทย ประเมินว่ามีในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินโดยตรงกับสถาบันการเงินในสหราชอาณาจักรและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นเพียงร้อยละ 1.31 ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยได้มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันความเสี่ยงสถานะเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว

               อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งในตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดทุน จากความกังวลของนักลงทุนที่มีเพิ่มขึ้นและการปรับฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความผันผวนของราคาสินทรัพย์และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะสั้นและเป็นที่คาดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยล่าสุดพบว่า ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงและค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 8.0 และ 3.2 ตามลำดับ (ณ เวลา 13.00 น.) จากวันก่อนประกาศผลการลงประชามติ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ค่าเงินเยน รวมทั้งราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย สำหรับค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 0.7 (ณ เวลา 13.00 น.) สอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ที่ปรับอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนผลกระทบต่อตลาดทุนก็จะเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้นได้เช่นกัน โดยคาดว่าอาจมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยบ้าง แต่จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติได้ปรับลดการลงทุนในตลาดการเงินไทยไประดับหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้

               แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยในเบื้องต้นจะมีค่อนข้างน้อย กอปรกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่ผลกระทบจากการปรับแผนธุรกิจของเอกชนและคู่ค้าต่างๆ ของสหภาพยุโรป เพื่อรับมือกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินหากมีความจำเป็นรวมทั้งขอแนะนำให้ภาคธุรกิจเอกชนดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินได้ในระยะต่อไป

               ธนาคารแห่งประเทศไทย 24 มิถุนายน 2559

               ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนธุรกิจเงินตราต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2356-7740, 0-2283-5451 E-mail: [email protected]

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ