คอลัมนิสต์

2564 ปีแห่งความอับโชค ดาว"พลังประชารัฐ"ร่วงดับ บนถนนแห่งอำนาจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พลังประชารัฐ" เป็นพรรคที่หนุน"ลุงตู่"ครองอำนาจ มีความวุ่นวายออกมาเนืองๆ เหตุเพราะ มีคนการเมืองจากทุกพรรคมารวมพลังด้วยหลากเหตุผล ทำให้การชิงอำนาจนำกลายเป็นปัญหาภายในที่สื่อมวลชนขุดประเด็นขึ้นมาขยายผลได้เสมอๆ ติดตามเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ

 

ปี2564 ที่กำลังจะผ่านไปท่ามกลางภาวะโควิด-19ที่ระบาดทั่วโลกและลามมายังไทย การตัดสินใจแก้สถานการณ์ของรัฐบาล-ภาคส่วนต่างๆนั้นมีทั้งกระแสหนุน-กระแสต้านจากบุคคลหลากแวดวง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมคือเป้าหลักที่โดนกระหน่ำจากขั้วตรงข้ามแบบไม่เว้นวัน ทุกการตัดสินใจและแทบทุกคำพูดของประมุขฝ่ายบริหารสามารถเป็นประเด็นทางการเมืองได้ทุกระยะที่สามารถบ่งชี้อาการอยู่-อาการไปของครม.ได้แทบทุกจังหวะ

 

ปี2564ที่กำลังจะพ้นไป สิ่งหนึ่งในวงการการเมืองที่มองข้ามมิได้คือ"ลีลาของกำลังพลการเมืองหลากสำนักย่านเกียกกาย" เพราะมักเกิดเหตุ"สภาล่ม"หลายครั้งและ"การยุติการทำหน้าที่ส.ส."ปรากฏเนืองๆ  

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองของผู้สภาผู้แทนราษฎร 25 พรรค (นับจำนวนส.ส.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพร เขต1/สงขลา เขต6/กทม.เขต9) แยกเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรค มีส.ส.รวม 267 คน แบ่งเป็น

 

พรรคพลังประชารัฐ 117 คน(นับรวมพิเชษฐ สถิรชวาล ที่ยุบพรรคประชาธรรมไทยมารวมกับพปชร.เข้าไปแล้ว+ลุ้นป้องกันตำแหน่งหนึ่งเขต) ภูมิใจไทย 62คน (นับรวมพรพิมล ธรรมสาร ที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทยเข้าไปแล้ว) ประชาธิปัตย์ 48คน(ลุ้นป้องกันแชมป์สองเขต)

 

ชาติไทยพัฒนา 12 คน เศรษฐกิจใหม่ 5คน(มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ไปอยู่ฝ่ายค้าน) รวมพลังประชาชาติไทย 5คน พลังท้องถิ่นไท 5คน ชาติพัฒนา 4 คน รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พลังชาติไทย-ประชาภิวัฒน์-เพื่อชาติไทย-ครูไทยเพื่อประชาชน-พลเมืองไทย-ประชาธิปไตยใหม่-พลังธรรมใหม่และไทรักธรรม มีส.ส.พรรคละ 1 คน

 

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค มีส.ส.รวม 208 คน ประกอบด้วย เพื่อไทย 130คน(ตัดส.ส.สองคนที่โดนขับออกจากพรรคไปแล้ว) ก้าวไกล 52คน เสรีรวมไทย 10คน ประชาชาติ 7คน เพื่อชาติ 6คน(นับรวมศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ที่มาจากพรรคเพื่อไทยเข้าไปเพิ่ม) เศรษฐกิจใหม่ พลังปวงชนไทยและไทยศรีวิไลย์ พรรคละ 1 คน

 

แค่นี้ก็มึนหัวแล้วว่า ใครอยู่พรรคไหนและปีกใดกันแน่....

 

ปี 2564 พบว่าผู้แทนราษฎรที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่

 

"วินน์ สุธีรชัย" พรรคก้าวไกล ลาออกจากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปตั้งพรรคใหม่

 

เทพไท เสนพงศ์  จากประชาธิปัตย์

 

"เทพไท เสนพงศ์" ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคปชป. เหตุถูกตัดสิทธิทางการเมืองและมีการเลือกตั้งซ่อม โดยตัวแทนจากพปชร.ปักธงในเขตนี้ได้  "ชุมพล จุลใส- ถาวร เสนเนียม -อิสสระ สมชัย"โดนตัดสิทธิทางการเมืองจากการตัดสินของศาล เพราะโดนคุมขังจากคดีการชุมนุมของกปปส. โดยชุมพรเขต1ที่ชุมพลเป็นเจ้าของพื้นที่และสงขลาเขต6ซึ่งถาวรเป็นส.ส.มาหลายสมัยต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงกลางเดือนม.ค.2565 ส่วนเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ของอิสสระนั้นก็ขยับอันดับต่อไปเลื่อนมาแทน


 "ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และภูมิศิษฎ์ คงมี" ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย  หยุดปฏิบัติหน้าที่เหตุเสียบบัตรแทนกันและรอลุ้นว่า"รอด-ไม่รอด..."

วิรัช รัตนเศรษฐ์  อดีตประธานวิปรัฐบาล  ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

"ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ -ปารีณา ไกรคุปต์ -วิรัช รัตนเศรษฐ -ทัศนียา รัตนเศรษฐ -ทัศนาพร เกษเมธีการุณ" ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่และรอคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการจากผลกรรมในวันวาน ส่วนคนที่พ้นวงโคจรคือ"พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ" เพราะโดนตัดสิทธิทางการเมืองจากคำตัดสินของศาล เหตุเพราะสองคนนี้โดนคุมขังจากคดีการชุมนุมของกปปส.  บวกกับ"สิระ เจนจาคะ"ส.ส.กทม.ที่หลุดเก้าอี้ล่าสุดเพราะเคยโดนคุมขังจากคดีฉ้อโกงในปี2538 ขณะเดียวกันหลายเดือนก่อนยังเกิดเหตุอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม"สามารถ เจนชัยจิตวนิช"ส่งคนไปเรียนและเข้าสอบแทนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ จนพรรคพปชร.ต้องสอบสวนและปลดสามารถหลุดเก้าอี้ 


ปรากฏการณ์ทางการเมืองของนักการเมืองที่สังคมให้ราคามากสุดในปี2564 คือ "จังหวะของคนในพรรคพลังประชารัฐ"  เนื่องจากเป็นพรรคที่หนุน"ลุงตู่"ครองอำนาจ ก็มีความวุ่นวายออกมาเนืองๆ เหตุเพราะพรรคนี้คือ"พรรคสหมิตร"ที่คนการเมืองจากทุกพรรคมารวมพลังด้วยหลากเหตุผล และเมื่อมาจากคนละแหล่ง-คนละอุดมการณ์ ทำให้การชิงอำนาจนำกลายเป็นปัญหาภายในที่สื่อมวลชนขุดประเด็นขึ้นมาขยายให้สังคมจับจังหวะได้เสมอๆ

 

อย่าลืมว่า....พปชร.คือพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลเรือเหล็ก หากความขัดแย้งภายในประทุเนืองๆ ความมั่นคงของรัฐบาลจะมาจากไหน...

อุตตม สาวนายน  กลุ่มสี่กุมารที่ออกจากพลังประชารัฐเตรียมเปิดตัวพรรคการเมือง

บรรยากาศความไม่ค่อยน่ารื่นรมย์มากที่สุด คงไม่พ้นพปชร.เพราะความวุ่นวายปะทุทันทีที่ตั้งรัฐบาลได้ นับตั้งแต่การแย่งเก้าอี้ครม.-ประธานกมธ.-กมธ. และอื่นๆ ถัดมาเมื่อเริ่มตั้งไข่ได้ก็เริ่มมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากกลุ่มสี่กุมารที่จองเก้าอี้หลักในครม.โดยมีการบีบให้"กลุ่มสี่กุมาร-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"ลาออกจากพรรค-ครม.แล้วเกลี่ย โควต้าใหม่ จากนั้นก็ต้องปรับกันอีกคราวเมื่อ"รมว.ดีอีเอสและรมว.ศึกษาธิการ"พ้นหน้าที่จากการวินิจฉัยว่ามีความผิดจากการชุมนุมของปกกส.พรรคนี้ก็มีกระแสข่าวแย่งเก้าอี้กันเสมอๆ  

 

บวกกับห้วงที่"พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" เปลี่ยนเสื้อจากประธานยุทธศาสตร์พรรคมาเป็นหัวหน้าพรรคพปชร. แล้วให้"อนุชา นาคาศัย" เป็นพ่อบ้านพรรคเพื่อลดแรงปะทะในพรรค ถัดมาเกือบปีก็ปรับโครงสร้างพรรคอีกรอบโดย"ผู้กองคนดังและคณะ"เข้ากุมสภาพเสียงข้างมากในพรรค โดยช่วงนั้นมีกระแสข่าวว่า"สันติ พร้อมพัฒน์" ผอ.พรรคก็อยากทำหน้าที่พ่อบ้านพรรคเช่นกันแต่แรงเบียดสู้ร้อยเอกคนดังไม่ได้จนเกิดรอยปริขึ้นอีก  แต่เมื่อครองอำนาจได้ไม่นานนัก "ร้อยเอกคนนั้น"ก็แพ้ภัยหลังลุงตู่รู้เรื่องการก่อกบฏไม่ไว้วางใจสร.1จากน้ำมือ"ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า" ในช่วงศึกซักฟอก  จนทำให้ลุงตู่ปลด"ผู้กองคนดังพ้นรมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมพ่วง"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ให้พ้นรมช.แรงงาน"ไปด้วย

 

เพราะอย่าลืมว่า "กลุ่ม4ว./กลุ่ม3ช."คือกลุ่มการเมืองที่สังคมรู้จักผ่านรายงานข่าวของสื่อหลากแขนงและตีคู่กลุ่ม3ป."ตัวจริง-เสียงจริงในพปชร." และตอนนั้นมีกระแสข่าว 2ป.ตั้งพรรคสำรองเพราะ2ป.ไม่พอใจพี่ใหญ่ที่ยังหนุนร้อยเอกธรรมนัส  โดยตอนนั้น"ฉัตรชัย พรหมเลิศ" อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยคือโต้โผพรรคใหม่ของ2ป. แต่ตอนนี้กระแสข่าวนี้ซาลงไปแล้ว  และอย่าลืมว่าหลังจากผู้กองคนดัง-มาดามบิ๊กอายส์ร่วงเก้าอี้รมต.  ร้อยเอกธรรมนัสแสดงอาการฮึดฮัด+จ่อย้ายพรรคมาพ่วง  "แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่จากเจ้าของวรรคทอง มันคือแป้ง" 

ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ เหลือเพียงตำแหน่ง เลขาธิการพปชร.

อย่ามองข้ามเหตุในตอนนั้น เพราะพบว่ามีการวิ่งเต้นขอโควต้ารมต.ที่ว่างสองตำแหน่งจากคนในพรรค แต่"ลุงตู่"ยังไม่ขยับในตอนนั้น-ตอนนี้ (แต่ปี2565น่าจะปรับให้บางขั้วพรรคเพื่อสยบแรงกระเพื่อม)  และเมื่อบวกอาการไม่กินเส้นของคีย์แมนหลากมุ้งในพรรค+การสอยส.ส.+การสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนฯชั่วคราว+สภาล่มจากค่ายนี้นั้นมันสะท้อนอะไร... 

 

ขณะที่การชิงประมุขเสาชิงช้า"ผู้ว่าฯกทม."ที่จะเกิดช่วงกลางปี2565นั้น แรกเริ่มเดิมทีพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขันอาสาลงในนามพรรค แต่สุดท้ายยุติบทนี้เพราะติดเงื่อนกฎหมาย(ต้องพ้นวาระส.ว.2ปี จึงจะมีตำแหน่งทางการเมืองได้) บวกกับความไม่แน่ชัดในช่วงต้นของพ่อเมืองปัจจุบัน"พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง"ที่มีกระแสข่าวว่าสร.1หนุนเต็มตัวก็เริ่มคลายปมแล้วว่า"สมัยหน้าพล.ต.อ.อัศวินจะลงประชัน" แต่คงต้องแข่งกับคนกันเองอย่าง"สกลธี ภัทริยะกุล"รองผู้ว่าฯกทม. ที่เพิ่งลาออกจากสมาชิกพรรคพปชร.และออกตัวลงสมัครอิสระ แต่มีกองหนุนกปปส.มาช่วย

 

ลีลาการเมืองของคนพปชร. ในข้อมูลบรรทัดข้างต้นนี้แปลว่าอะไร... สังคมน่าจะไขคำตอบได้  

 

ด้วยเหตุฉะนี้"คนการเมืองหลายคนข้างต้นในค่ายพปชร. "น่าควรคู่"ดาวดับการเมืองปี2564"มากกว่าคนการเมืองค่ายการเมืองอื่นๆเพราะสีสัน-ลีลามันเกินคำบรรยาย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ