คอลัมนิสต์

ทวงความเป็นธรรม"เด็กหญิง 14" ต้องไม่ตายฟรีกับค่าเทอมเถื่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เงินไม่มี ผู้ปกครองไม่มา "เด็กหญิง 14" เรียนดี แต่การศึกษาและปากของครูทำให้เด็กจบชีวิตลาโลก จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบจากกระทรวงศึกษาธิการ แม้ก่อนหน้านั้นบอกจะรู้ผลสอบไม่เกิน 7 วัน

เรื่องราวของ “น้องโบนัส”  เด็กหญิงปลอบขวัญ ระสุโสะ อายุ 14 ปี  ที่เจอปัญหามรสุมรุมเร้ามืดแปดด้าน หวังยึดโรงเรียนเป็นที่พึ่งสุดท้ายแต่ไม่เป็นไปตามที่หวัง เด็กหญิง 14 ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยความน่าเศร้าใจ

 

16 พ.ค. 2565 หลังการเสียชีวิตของน้องโบนัสเพียง 2 วัน “ ดร.อัมพร พินะสา” เลขาธิการกพฐ. ผู้บังคับบัญชาสูงสุดจากส่วนกลาง ถูกกระแสสังคมกดดันหนัก สั่งการด่วนให้เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี เด็กหญิง 14 ต้องรู้ผลไม่เกิน 7 วัน แต่เมื่อครบ 7 วัน กลับไม่มีคำตอบ

  

ขณะที่ “ตรีนุช เทียนทอง ” รมว.ศึกษาธิการ ออกมากำชับเรื่อง “ความปลอดภัยในโรงเรียน” นักเรียนมาถึงโรงเรียนต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากครูและผู้บริหารโรงเรียน และปรับระบบแนะแนวในโรงเรียน

อีกมุมของปลายด้ามขวาน หลังเพื่อนรักจบชีวิต “เด็กหญิงกอหญ้า” เพื่อนของ “น้องปลอบขวัญ” ถูก “ครู” เรียกเข้าไปพบตั้งแต่ช่วงบ่ายจนค่ำมืดของวันพุธที่18 พ.ค.2565 เพียงคนเดียว โดยไม่มีผู้ปกครอง ตามที่รับปากภาคประชาสังคมเอาไว้ ไม่มีใครรู้ว่าชะตาชีวิตของ “เด็กหญิงกอหญ้า” ผู้รับปากเพื่อนรัก “ช่วยเปิดโปง” หลังออกจากห้องสอบข้อเท็จจริง จะเป็นอย่างไรบ้าง

 

ขณะเดียวกัน เลขาธิการ กพฐ. ไม่ยอมเปิดเผยผลสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และมีใครต้องรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของ เด็กหญิง 14 กลับเฉไฉไปอีกเรื่องว่า “หากนักเรียนไม่มีเงินค่าเทอม ก็ให้ผ่อนชำระ” นั่นหมายความว่ามีการจัดเก็บ “ค่าเทอมเถื่อน” ทั้งที่นักเรียนทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเรียนฟรี 15 ปี ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า “นักเรียน” มีมูลหนี้อะไรกับโรงเรียน “ดร.อัมพร พินะสา” เลขาธิการกพฐ. จึงสั่งให้ผ่อนชำระเงินค่าบำรุงการศึกษา หรือ "ค่าเทอมเถื่อน" การสั่งการนี้ไม่ว่าด้วยวาจา หรือ เป็นหนังสือถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ “ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่”

ว่ากันว่า หลัง เด็กหญิง 14 กระทำอัตวินิบาตกรรม คณะทำงานด้านการศึกษา สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับนักเรียนหญิงรายนี้ต้องไม่ตายฟรี

 

คณะทำงานด้านการศึกษา สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ประสานงานขอเข้าพบ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรณี เด็กหญิง 14  และขอให้ยกเลิกประกาศเก็บเงินบำรุงการศึกษา เบื้องต้นตอบรับเป็นวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดขอเลื่อนการนัดพบไปเป็นหลังเวลาราชการของวันที่ 8 มิถุนายน 2565 

 

ความจริงเกี่ยวกับ เด็กหญิง 14 มีอะไรบ้าง 

  • 1.ข้อเท็จจริงที่ “เด็กหญิง 14” พูดกับเพื่อนว่าอย่างไร โดยพยานบุคคลคือเพื่อนที่ได้เห็น รับรู้หลายคนว่า “เด็กหญิงปลอบขวัญ” พูดหรือไลน์บอกเพื่อน ตรงกับหลักการรับฟังพยานของศาลไทย คนที่ใกล้ถึงความตาย รับฟังว่าเป็นความจริง

 

  • 2.ในข้อเท็จจริงนี้ จะพบว่า ครูคนใดพูดกับน้องว่าอย่างไร การที่ครูปฏิบัติต่อนักเรียน ที่กระทำไม่ว่าเป็นคุณ หรือเป็นโทษ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เหมือนหมอรักษาคนไข้

 

  • 3.นำข้อเท็จจริงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา คือการดำเนินการทางวินัยโดยอำนาจบังคับบัญชา ส่วนมาตรการทางวิชาชีพก็เป็นหน้าที่โดยคุรุสภา

 

  • 4.อำนาจการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ตรงนี้ “ตรีนุช เทียนทอง” รมว.ศึกษาธิกาาร ควรตอบหรือแจ้งเป็นหนังสือดังนี้ 

 

  • 4.1 การเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ขัด รัฐธรรมนูญ ม.54 และผิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ม.10  หรือไม่

 

  • 4.2 ถ้าขัด กระทรวงศึกษาธิการ ต้องดำเนินการอย่างไร เช่น ทำหนังสือสั่งการไปยัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  โรงเรียน ให้ยกเลิกการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษารวมทั้งทำหนังสือแจ้งกรมบัญชีกลาง

 

ถ้ากระทรวงศึกษาธิการยังยืนยันว่า การเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา (ค่าเทอมเถื่อน)กระทำได้โดยชอบ ก็ให้ทำเป็นหนังสือยืนยันแจ้งเป็นการทั่วไป เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญให้ ส.ส.นำไปอภิปรายฯในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

  

    ถ้าระบบการศึกษาไทยยังเป็นแบบนี้นักเรียนคนไหนจะเป็นรายต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ