คอลัมนิสต์

บ้ง 'ครูอาจารย์' โดนบีบ 'ปั่นยอด' เพิ่มเด็กเข้าเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้ง 'ครูอาจารย์' โดนบีบ 'ปั่นยอด' เพิ่มเด็กเข้าเรียน ตามจำนวนอาจารย์แต่ละคณะต้องใช้ทุกกลยุทธ์โน้มน้าวจิตใจผู้ปกครองและเด็ก เพื่อให้เข้าเรียนตามเป้า ใครทำไม่ได้ จะถูกกดดันทุกวิถีทาง จนต้องถอดใจลาออก

“ครูดิ่งตึกดับเครียดหนักถูกบังคับให้หานักเรียนใหม่ตามยอด” เกิดเรื่องราวใหญ่โตในสถานศึกษาแต่ผู้บริหารระดับกระทรวงศึกษาธิการเล่นบทนิ่งเฉย ต้นสังกัดก็บอกปัดไม่เกี่ยวกับ “ปั่นยอด” ดึงเด็กเข้าเรียน ใจร้ายไปมั๊ย 

 

การศึกษาไทยมาถึงจุดจริงหรือ มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อว่าจะมีอยู่จริง “ครูแจ่ม” ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว พบว่า “มีอยู่จริง” เป็นหน้าที่เพิ่มของ “ครู” ยุค2565 นอกจากเป็นทุกอย่างให้แล้วยังต้องทำหน้าที่ “การตลาด” ดึงเด็กเข้าเรียน ภาพเหล่านี้มีความชัดเจนในสถานศึกษาภาคเอกชนโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ต่างได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเรียนฟรีจากรัฐตัวเลขผกผันตามจำนวนเด็ก

 

ขยับเข้าไปใกล้ข้อเท็จจริง เมื่อใกล้เปิดเทอมใหม่ ทั้ง “ครูอาจารย์” ต้องปั่นยอดดึงเด็กเข้าเรียนตามที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารระดับสูงของสถานศึกษา มีมานานแล้ว แต่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  

"ครูอาจารย์ ปั่นยอด ดึงเด็กเข้าเรียนเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยเอกชนไปแล้ว เดิมเป็นหน้าที่ของฝ่ายแนะแนว และฝ่ายทะเบียนนักศึกษา เดิมเป็นแบบนี้ จริงๆ แต่ 2-3 ปีมานี้หนักมากมหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนมากบอกเลยเป็นนโยบายที่อาจารย์ต้องถึงเด็กมาเรียน สื่อประชาสัมพันธ์อาจารย์ต้องลงขันช่วยกันออกเงินเองมหาวิทยาลัยไม่มีงบให้ " ครูอาจารย์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งระบุ

 

ลืมไปเลยภาพจำในอดีต “ครูอาจารย์” มีหน้าที่สอนหนังสือ ควบคู่ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้ตอบโจทย์สังคมโลกที่ปรับเปลี่ยนไป

 

“ครูอาจารย์” ยุคนี้ต้องเก่งการตลอด ออกโรดโชว์ตามโรงเรียน เพื่อพบปะพูดคุยแนะนำสถาบันอุดมศึกษา แต่ต้องฝ่าด่าน “ครูแนะแนว” ก่อน การโรดโชว์ถึงจะบรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เห็นภาพความสำเร็จในอนาคตหากมาเรียนที่นี่  ยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องจัดอีเว้นท์ระดับมีซุปตาร์หรือบุคคลมีชื่อเสียงมาร่วมงาน เพื่อจูงใจเด็กมาร่วมกิจกรรม

 

ดูเหมือนว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญให้การศึกษาไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอด มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของรัฐไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ต้องปรับตัวเพื่อดึงยอดเด็กไม่ให้ร่วงไปมากกว่าเดิมมากนัก

“ครูแจ่ม” สอบถามผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ออกตัวว่า เพื่อความอยู่รอด "ครูอาจาย์" ต้องร่วมด้วยช่วยกัน และใช้ทุกมาตรการจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนเรียนฟรีแต่มีน้อยเพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาสถาบันการศึกษาเมื่อมีคนเก่งมาเรียน ที่เหลือเป็นนักเรียนที่ต้องเรียนกับสถาบัน 4 ปีเด็กกลุ่มนี้มีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)รองรับอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยมีรายได้จากส่วนนี้และเด็กที่มีเงินจ่ายค่าเทอมโดยไม่ต้องกู้กยศ.

 

ว่ากันว่า ค่าเทอมเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนระดับปริญญาตรีอยู่ระหว่าง  3.5 หมื่น- 5 หมื่นบาท เด็กเรียน 4 ปี หากจำนวนผู้เรียนมาก รายได้ก็มากตามไปด้วย ที่แย่หนักหลักสูตรที่ไม่มีเด็กเรียน หรือสมัครเรียนไม่ถึง 20 คน จะถูกยุบรวมกับหลักสูตรที่ใกล้เคียงกัน เคยเกิดกรณียุบหลักสูตรหลายสาขาจนถึงขั้นเกือบยุบคณะตามไปด้วย คณบดีคณะถูกกดดันหนักเมื่อไม่มีเด็กมาเรียน จำต้องถอดใจลาออก

 

เมื่อบทบาท “ครูอาจารย์” เปลี่ยนไปใช้การตลาดนำการศึกษา การปั่นยอดเพิ่มเด็กเข้าเรียนจึงเริ่มขึ้น จากคณะวิชาในมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องดึงเด็กเข้าเรียนจำนวนเพิ่มตามสัดส่วนของจำนวนครูอาจารย์ในแต่ละคณะวิชา

 

กล่าวคือ คณะวิชาที่มีครูอาจารย์ จำนวน 20 คนต้องดึงเด็กเข้ามาเรียนให้ได้200คน /คณะวิชาที่มีครูอาจารย์ จำนวน 30 คนต้องดึงเด็กเข้ามาเรียนให้ได้ 300 คน /คณะวิชาที่มีครูอาจารย์ จำนวน 40 คนต้องดึงเด็กเข้ามาเรียนให้ได้400คน/คณะวิชาที่มีครูอาจารย์ จำนวน 50 คนต้องดึงเด็กเข้ามาเรียนให้ได้500คน/คณะวิชาที่มีครูอาจารย์ จำนวน 60 คนต้องดึงเด็กเข้ามาเรียนให้ได้ 600 คน (ดูแบนเนอร์ประกอบ)ฯลฯ

อินโฟกราฟิก บ้ง “ครูอาจารย์” โดนบีบ “ปั่นยอด” ดึงเด็กเข้าเรียน

 

มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งลงทุนสร้างตึกอาคารใหม่ ด้วยเงินจำนวนมหาศาลแต่ไม่มีเด็กมาเรียน เมื่อโลกหลังโควิด-19 กำลังจะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” นักเรียน นักศึกษา เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องมาที่มหาวิทยาลัย

 

สภาวะทางการเงินมหาวิทยาลัยเอกชนที่ลงทุนหนักอยู่ในภาวะหนี้ท่วม จะพึ่งพารัฐก็ไม่ได้ ทางออกที่เป็นไปได้จึงตกหนักที่ “ครูอาจารย์” ต้องหาทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มเด็กเข้ามาเรียนให้ได้มากที่สุด

 

ปรากฏการณ์ “ครูอาจารย์” ปั่นยอดดึงเด็กเข้าเรียนในมุมมอง ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน นักการศึกษา ระบุว่า การศึกษาไทยน่าเป็นห่วงมาก รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงการคลัง ต้องร่วมกันหาทางออก ไม่ใช่ปล่อยให้สถานศึกษา ทั้ง โรงเรียน  วิทยาลัย มหาวิทยาลัยหาทางออกเพื่อความอยู่รอดด้วยวิธีการแบบนี้ ยิ่งใกล้เปิดเทอมแรงกดดันที่ครูอาจารย์ได้รับจะเป็นอย่างไร อย่าคิดแต่เรื่องเปิดเทอมต้องเรียนออนไซต์ นักเรียน นักศึกษา ต้องรับวัคซีน คิดแค่นั้นไม่ได้ ต้องลงไปดูรากเหง้าของปัญหาการศึกษาไทย

 

“ทำไมครูอาจารย์ต้องปั่นยอดดึงเด็กเข้าเรียน ไม่ต่างจากแบงค์ บริษัทประกัน การศึกษาไทยมาถึงจุดต่ำสุดแบบนี้ได้อย่างไร กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงอุดมฯ ทำอะไรกันอยู่ กระทรวงการคลังปล่อยให้กู้กยศ.ให้เด็กทุกคนได้จริงหรือ ทำไมไม่ครอบคลุมค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ มีค่าเทอมอย่างเดียวในโลกความจริงเด็กเรียนได้จริงหรือ” ศ.ดร.กนก ตั้งข้อสังเกต

 

การศึกษาไทยมาถึงจุดต่ำสุดนี้ได้อย่างไร ใครควรรับผิดชอบ?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ