คอลัมนิสต์

ท้าราชทัณฑ์พิสูจน์ มากกว่า"ลดโทษคดีโกง" จริงหรือไม่ ดูแล"นักโทษแบรนด์เนม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดใจ "คมชัดลึก" ท้าพิสูจน์ไส้ในกรมราชทัณฑ์ จริงหรือไม่ ที่มีเรื่องร้องเรียนจัดเกรด"นักโทษแบรนด์เนม" ต้องดูแลเป็นพิเศษ จี้นายกฯ -รมว.ยุติธรรม ตั้งกก.สอบสวนลดโทษ อย่าซ้ำรอย แบบกก.ตรวจสอบคดีบอส กระทิงแดง

 

การลดโทษอย่างรวดเร็วให้กับนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการอ้างว่าเป็นไปตามพระราชกฤษฏีกาอภัยโทษฯ พ.ศ.2564  ยังคงเป็นข้อสงสัยถึงต้นทางในการเสนอเรื่อง โดยเฉพาะกระบวนการทำงานของกรมราชทัณฑ์  กระทรวงยุติธรรม 

 

นอกเหนือจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย )ACT ออกแถลงการณ์คัดค้าน  ยังมีเครือข่ายภาคประชาชน บุคคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน แสดงความไม่มั่นใจการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งลามไปถึงฝ่ายบริหารประเทศภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีเบื้องหลังที่น่าเคลือบแคลงสงสัย 

 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ มอบหมายให้เข็มชัย ชุติวงศ์  อดีตอัยการสูงสุด และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานแล้วก็ตาม แต่กระนั้น การติดตามตรวจสอบเงื่อนงำการลดโทษให้นักโทษคดีทุจริต ก็ยังต้องเดินหน้าหาความจริงกันต่อ 

 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน( ACT )

 

ดร.มานะ  นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย )  หรือ ACT   เปิดเผยผ่าน "คมชัดลึก" ถึงความพยายามหาความจริงในเรื่องนี้ ว่า  กว่าที่เราจะผ่านขั้นตอน ป.ป.ช. ถึงศาล จนมีคำพิพากษาจำคุกคนเหล่านี้ ใช้เวลาร่วมสิบปี  แต่พอเข้าคุกกลับให้อำนาจกรมราชทัณฑ์  ผบ.เรือนจำ ตั้งเรื่องว่าใครมีคุณสมบัติอภัยโทษได้มากมายขนาดนี้ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสม  

 

 

 

ท้าราชทัณฑ์พิสูจน์ มากกว่า"ลดโทษคดีโกง" จริงหรือไม่ ดูแล"นักโทษแบรนด์เนม"

 

ท้าราชทัณฑ์พิสูจน์ มากกว่า"ลดโทษคดีโกง" จริงหรือไม่ ดูแล"นักโทษแบรนด์เนม"

"อย่าลืมว่า คดีคอร์รัปชั่นในบ้านเราเยอะ จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตฯ จำนวน 8,000 กว่าเรื่อง  ป.ป.ช.สามารถชี้มูลความผิดเฉลี่ยได้ 5 เปอร์เซนต์ เท่านั้นเอง ยังมีความผิดอีกมากมายแต่ไม่มีคนร้องเรียนเอาผิดข้าราชการ"  

 

"จากข้อมูลงานวิจัยการทุจริตคอร์รัปชัน  พบว่า มีข้าราชการเพียงสี่เปอร์เซนต์พบการทุจริตร้องเรียนเข้ามา ที่เหลือนอกนั้น ไม่ร้องเรียน เพราะมองว่า ไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไกล่เกลี่ย ตรงนี้ เป็นตัวอย่างว่าถ้าเปิดโอกาสให้คนโกง ได้รับอภิสิทธิ์เอื้ออาทรลดกระหน่ำแบบนี้ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกทาง”  ดร.มานะ กล่าว 


   องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันติดตามตรวจสอบเงื่อนงำลดโทษคดีโกงชนิดกัดไม่ปล่อย

 

"การที่รัฐบาลประกาศต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ เราต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้รุนแรง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถือว่าเป็นการสวนทาง"  ดร.มานะตอกย้ำเหตุการณ์ ราชทัณฑ์ชงเรื่องลดโทษคดีทุจริตชนิดลดกระหน่ำซัมเมอร์เซล 

 

หลังจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการลดโทษให้นักโทษคดีโกง เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย )  มองว่า เรื่องนี้ถูกเปิดโปงขึ้นมาทำให้สังคมไทยหูตาสว่างขึ้น  เพราะเรากำลังงงกันอยู่เกิดเรื่องนี้ได้อย่างไร 

 

"ทำให้ได้เห็นกระแสสังคม ว่า คนไทยไม่ยอม ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม  บรรดานักโทษ ที่เห็นชื่อกันโดนลงโทษตั้งแต่ 10-50 ปี แต่เหลือโทษจำคุกจริงๆ เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่าลืมว่า ถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นกัน  คนเหล่านี้จะได้รับการพ้นโทษในปีหน้า แทนที่จะติดคุก 30 ปีในอนาคต"  

 

 

 

แม้ว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ  ได้เห็นแนวทางของท่านนายกฯ ที่ระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอยู่ ตรงนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ว่า ดร.มานะ ในฐานะเลขาองค์กรฯต่อต้านคอร์รัปชันก็สะท้อนมุมมองที่จำเป็นต้องบอกประชาชนต่อไปว่า  "ในประเทศไทยที่ผ่านมามีเรื่องที่ใหญ่ประชาชนไม่พอใจ ผู้มีอำนาจมักจะบอกว่า เดี๋ยวจะสอบสวน เดี๋ยวจะดำเนินการ ถ้าเป็นตำรวจจะบอกว่า ย้ายไปก่อน เดี๋ยวจะสอบสวน  แต่ความเป็นจริงมันเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจเพราะเมื่อเรื่องเงียบผ่านไปเขาก็ทำกันต่อไป  ถ้าเป็นตำรวจหรือทหาร ย้ายไปย้ายกลับในตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้น  ข้าราชการก็เช่นกัน  เพราะ ฉนั้นจะปล่อยไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนโยบายระดับชาติ 

 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

"ผมเชื่อว่าคนไทยอยากฟังว่าท่านรมว.ยุติธรรมชี้แจงต่อคำถามว่าท่านมีนโยบายอย่างไรเห็นด้วยไหม กับ ที่พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรมว.ยุติธรรม และองคมนตรี บอกว่าคดีคอร์รัปชั่น คดียาเสพติด คดีข่มขืน ต้องไม่มีอภัยโทษ ถ้าเห็นด้วย ท่านจะทำอย่างไร  นายกฯมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร วันนี้ท่านพูดได้ ยังไม่ต้องรับปากว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ หรือยกเลิกพรฎ. อภัยโทษที่ประกาศใช้แล้วจะออกใหม่ให้เกิดผลใหม่ขึ้นมา หรือจะมีการแก้ไขกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ไม่ว่าเป็นการจัดทำรายชื่อ ต้องคำตัดสินจำคุกกี่ปีถึงจะได้รับสิทธิ์ลดโทษ หรือการจัดทำเกณฑ์นักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยมได้รับสิทธิ์

 

“แต่ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ได้ยินต่อเนื่องหลายปีแล้วในกรมราชทัณฑ์ นักโทษที่เป็นนักการเมือง เศรษฐี เป็นผู้มีอิทธิพล เมื่อติดคุกแล้ว เขาจะถูกขนานนามว่า เป็นนักโทษวีไอพี  วีวีไอพี  เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเรียกกันว่า "นักโทษแบรนด์เนม" คนพวกนี้จะได้ไปอยู่ที่ในที่พิเศษ รับสิทธิพิเศษ พบว่าคนจำนวนหนึ่งได้ไปอยู่ในรพ.ของกรมราชทัณฑ์แล้วมีอภิสิทธิ์ มีการไปเยี่ยมกันง่ายๆ จัดโต๊ะเลี้ยงอาหาร ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่ต้องจำคุก เราจะปล่อยให้เกิดขึ้นไหม  ท่านนายกฯ  ท่าน รมว.ยุติธรรมว่าอย่างไร  รัฐสภาจะมีแนวทางอย่างไร จะมีแนวทางแก้ไขกฎหมายหรือไม่"  ดร.มานะ กล่าว 

 

"หลังจากนี้ ป.ป.ช.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีใครเข้าไปตรวจสอบการคอร์รัปชันในกรมราชทัณฑ์ ที่พูดกันมานานมาก แต่ยังไม่เห็นความชัดเจน ตรงนี้คนไทยต้องการอยากเห็น”ดร.มานะ ส่งเสียงไปถึงฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ถึงเวลาตรวจสอบความอึมครึมไม่โปร่งใสภายในราชทัณฑ์แล้วหรือยัง  

 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)   บอกว่า  ที่ผ่านมาเป็นเรื่องดีใจมากที่มีผู้รู้หลายท่านให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม อย่างเช่นนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีผู้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญว่าพรฎ.อภัยโทษขัดต่อรธน.หรือไม่  ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็มีความชัดเจน หรือ กรณีที่บางคนไปยื่นเรื่องที่ป.ป.ช.และรัฐสภาแล้ว  ช่วยกันทำต่อไปคนไทยต้องกดดัน และต้องผลักดัน เรื่องนี้ต่อไป ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบ และแสดงท่าทีชัดเจน อย่าปล่อยให้เรื่องเงียบ

 

กรณี ไม่มีใครตรวจสอบทุจริตในกรมราชทัณฑ์นั้น ดร.มานะ กล่าวว่า กรณีนักโทษแบรนด์เนมตกเป็นข่าวทางสื่อมวลชนและองค์กรฯ ได้รับร้องเรียนตลอดเวลา มีข้อมูล มีภาพถ่าย  แต่ไม่เคยเห็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจไปพิสูจน์ ตรวจสอบ เราได้ยินแต่คำปฏิเสธจากราชทัณฑ์และ รพ.ราชทัณฑ์ ว่า ไม่มีอะไร  ซึ่งควรไปพิสูจน์กันดีกว่า หรือเปิดเรื่องย้อนหลังกันดีไหมว่ามีนักโทษแบรนเนมมีชื่ออะไรบ้าง ใครบ้าง ใช้เวลาอยู่นานแค่ไหนในรพ. ทำให้ชัดเจน  เพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อระบบราชการ ต่อนักการเมืองของไทยด้วย 

 

ภายหลังนายกฯลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ   ดร.มานะ  ให้ข้อแนะนำว่า  การตั้งคณะกรรมการฯชุดนี้หรือชุดใดขึ้นมาก็แล้วแต่ อย่าให้ซ้ำร้อยกรณีตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดี "บอส กระทิงแดง"  ที่มี นายวิชา  มหาคุณ  อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นประธาน  เพราะตอนเริ่มต้นฝ่ายรัฐบอกว่าทุกอย่างโปร่งใสได้รับความร่วมมือเต็มที่ ทำให้อาจารย์วิชามีความมั่นใจมากเมื่อการสอบสวนใกล้เสร็จ ท่านยังบอกว่า ทุกอย่างเปิดเผยให้ประชาชนรู้  แต่สุดท้ายการสอบสวนชุดนั้นถูกเก็บเงียบ ปิดบัง เป็นความลับเสียเป็นส่วนใหญ่ 

 

"การสอบสวนครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน คนเกี่ยวข้องมีไม่กี่คนหรอก ถ้าสอบสวนแล้วเก็บเป็นความลับกลัวว่าจะกระทบคนนั้นกระทบคนนี้ อย่าตั้ง ถ้าจะตั้งแน่จริงต้องเปิดเผย สัญญาประชาชนวันนี้เลยก่อนเรื่องเงียบ ว่าทุกอย่างเมื่อสอบสวนแล้วต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ใครที่เป็นนักโทษ ข้าราชการ นักการเมือง เห็นใจไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ทำร้ายจิตใจประชาชน" ดร.มานะ กล่าว 

 

ส่วนกรณีที่กรรมการตรวจสอบฯ จะมีการเสนอแก้กฎหมาย ภายในหนึ่งเดือน ก็สามารถทำได้  แต่ทุกอย่างต้องพูดออกมาให้ชัดเจนถ้าจะแก้อะไร ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง  ไม่ใช่ถึงเวลาบอกว่า รมว.ยุติธรรม บอกว่า ผมออกจากตำแหน่งแล้ว ไม่เกี่ยว ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ หรือ นายกฯ พอถึงสมัยหน้าถ้าไม่เล่นการเมืองข้างหน้า คนอื่นมาเป็นแล้วมาบอกว่า ผมไม่ทราบ เป็นเรื่องรัฐบาลเก่า อย่างนี้ เป็นการโกหกทรยศกัน  ฉะนั้นป้องกันไว้ก่อน บอกกับประชาชนให้ชัดเจน จะต้องแก้ปัญหาการลดโทษคดีทุจริตให้สำเร็จอย่างไร 

 

ท้าราชทัณฑ์พิสูจน์ มากกว่า"ลดโทษคดีโกง" จริงหรือไม่ ดูแล"นักโทษแบรนด์เนม"

 

จุดยืนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น  ดร.มานะ  ยืนยันว่า  ที่ผ่านมา ได้เคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน แก้พ.ร.บ.ป.ป.ช.  รวมถึงผลักดันเรื่องศาลคอร์รัปชัน  เราพูดเรื่องคดีคอร์รัปชันต้องไม่หมดอายุความง่ายๆ  เราบอกว่า ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ อย่างรวดเร็วและรุนแรง เพราะฉะนั้นเมื่อลงโทษแล้ว การอภัยโทษถ้ามีได้ ก็ต้องจำคุกในระยะเวลาที่มากพอสมควรก่อน  ไม่ใช่ระยะเวลาจำคุกสั้นๆขนาดนี้  ลงโทษยังไม่ถึง10-20 เปอร์เซนต์ ก็ได้รับการลดโทษแล้วอย่างนี้ ไม่เป็นธรรม รับไม่ได้   

 

"สมควรได้รับการลงโทษอย่างสาสม มีระยะเวลาจำคุกที่มากพอกับสิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติถึงจะได้รับการลดโทษ กระทรวงยุติธรรมไม่ใช่ไปทุ่มงบเพื่อจัดหาเทคโนโลยีมากมายแก้ปัญหานักโทษล้นคุก  แต่สุดท้ายปล่อยกันเร็ว ทั้งที่ ป.ป.ช.อุตสาห์ทำคดี  อัยการ ผู้พิพากษาอดหลับอดนอน ท่านเหล่านี้อาจหมดกำลังใจ เสียกำลังใจ ที่แน่นอนประชาชนไม่พอใจ และยิ่งไม่ไว้วางใจ" ดร.มานะ ย้ำทิ้งท้าย 
 

logoline