คอลัมนิสต์

โหวตทิ้งเพื่อน ‘ทักษิณ’ เลือกพรรคเดียว จังหวะ ‘พิธา’ ติดหล่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โหมโรงโหวตอย่างมียุทธศาสตร์ ‘ทักษิณ’ เลือกพรรคเดียว 310+ ทิ้งก้าวไกล จังหวะที่ ‘พิธา เพลี่ยงพล้ำ ตกอยู่ในหล่มสงครามความคิดพวกเดียวกัน

 

ชิงเปิดเกมรุก ทักษิณ งัดโหวตอย่างมียุทธศาสตร์ เลือกพรรคเดียว 310+ จังหวะที่ พิธา เพลี่ยงพล้ำ ตกอยู่ในสงครามความคิดพวกเดียวกัน

ในมุมเปิด ทักษิณ จัดให้พรรคก้าวไกลเป็นแนวร่วม แต่ในเชิงกลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้ง พิธา และพลพรรคสีส้มคือ คู่แข่งที่น่ากลัวกว่า 3 ป.

ทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ วู้ดซัม เปิดประเด็นการเมืองในรายการ CareTalk เมื่อค่ำวันอังคารที่ 21 ก.พ.2566 เสนอเข็มมุ่งโค่นเผด็จการ “ถ้าประชาชนคิดจะสู้กับ ส.ว. ต้องเลือกแบบมียุทธศาสตร์”

จริงๆแล้ว ความหมายในคำพูดข้างต้นก็คือ การปิดสวิทช์ ส.ว. ด้วยการโหวตในคูหาเลือกตั้ง ที่พรรคก้าวไกล เคยชูคำขวัญในการหาเสียงมาก่อน

 

 

ช่วงที่ผ่านมา ทักษิณพูดในแคร์ทอล์คหลายหน ก็ย้ำว่า ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมือกันตั้งรัฐบาล แต่หนล่าสุด ทักษิณกลับบอกว่า “ประชาชนต้องเลือกอย่างมียุทธศาสตร์คือ เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งที่มีโอกาสชนะมากที่สุด มีคะแนนสูงให้เป็นพรรคหลักของฝ่ายประชาธิปไตย”

สอดรับกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแคมเปญ “ต้องเลือกเพื่อไทยให้ได้ 310+” เพื่อเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเพื่อแก้วิกฤติประเทศ

ภูมิธรรม ชี้ว่า “อย่าให้คะแนนตกน้ำศูนย์เปล่า ถ้าคะแนนเลือกตั้ง กระจัดกระจาย จะได้ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะมีคะแนน ส.ว. เป็นต้นทุน 250 เสียง”

พูดง่ายๆ โหวตอย่างมียุทธศาสตร์ หมายถึงการเลือกเพื่อไทย พรรคเดียว ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้อง ไปเลือกพรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทย

 

 

ตามรอยไทยรักไทย

 

ทักษิณ ฝันถึงชัยชนะในอดีตของพรรคไทยรักไทย ที่กวาดพรรคเดียว 377 เสียง แต่วันนั้น ยังไม่มีพรรคก้าวไกล และผู้นำชื่อ พิธา

ปลายปี 2564 พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้ “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540

ตรงกันข้ามกับพรรคก้าวไกล ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เพราะเห็นชัดว่าการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ประโยชน์จากบัตรใบเดียวเต็มๆ

 

สำหรับทักษิณ ชินวัตร ปลื้มปริ่มกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งถึงกับกล่าวว่า 

"ผมเองเป็นผลผลิตของปี 2540" คือกติกาบัตร 2 ใบ เขตเดียวเบอร์เดียว “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”

ไม่มีใครปฏิเสธว่า พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งปี 2548 ได้ ส.ส.ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อ รวมแล้ว 377 เสียง แต่ปีนั้น ทักษิณเป็นนายกฯรักษาการ มีอำนาจเต็มมือ 

เหนืออื่นใด พรรคไทยรักไทย มีคู่ปรปักษ์พรรคเดียวคือ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างจากปีนี้ ที่มีพรรคก้าวไกลมาเป็นคู่แข่งในปีกเดียวกันกับเพื่อไทย

 

สงครามอัตตา

 

จะว่าไปแล้ว ปมขัดแย้งในพรรคก้าวไกล ระหว่าง พิธา กับคนนอกพรรค ปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นเรื่องของอัตตาประสาปัญญาชน

 

สมัยพรรคอนาคตใหม่ ก็มีสมาชิกบางกลุ่มวิจารณ์ว่า พรรคถูกครอบงำโดยกลุ่มโปลิตบูโร ประกอบด้วยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ,ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน และติ่ง- ศรายุทธ ใจหลัก

 

สามสหาย “เอก-ต๋อม-ติ่ง” เป็นเพื่อนนักกิจกรรมปีกก้าวหน้ารุ่นเดียวกัน จึงพูดคุยกันรู้เรื่อง ต่างจากป๊อก-ปิยบุตร ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพวกฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสพอสมควร เขาจึงมีอุดมคติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน

ส่วน ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลานชายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตคนสนิททักษิณ ฉะนั้น ทิมจึงเข้าไปเป็นทีมงานหน้าห้องสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ปี 2546

ทิม พิธา ได้เรียนรู้การเมืองมาจากประสบการณ์ตรงสมัยที่ไปช่วยงานรัฐบาลทักษิณ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เอก-ต๋อม-ติ่ง ยังอยู่ฝ่ายเอ็นจีโอ จับประเด็นร้อนเรื่องท่อก๊าซจะนะ และเผชิญหน้ากับรัฐบาลทักษิณ

 

แกนนำพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ต่างมีที่มาและประสบการณ์การเมืองต่างกัน โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันทางความคิดในพรรค จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

 

เหนืออื่นใด ปมขัดแย้งดังกล่าว ก็ทำให้พรรคก้าวไกลมีอาการเป๋นิดๆ แต่ไม่ถึงกับล้มคว่ำ แต่จังหวะนี้ ดูจะเข้าทางเพื่อไทย ที่ประกาศเลือกให้ขาด เลือกพรรคเดียวพอดิบพอดี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ