คอลัมนิสต์

นับถอยหลัง วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ประยุทธ์ ตีความได้ 3 แนวทาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตีความ วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ สามทางเลือก ล้วนมีปัญหา นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจ อย่างไร ที่ไม่สร้างเงื่อนไขทางการเมือง

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยมีการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งนายกฯไว้ไม่ให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน เกิน 8 ปีซึ่งมีช่องโหว่ ใช้เทคนิคทางการเมืองกลับมาดำรงตำแหน่งได้ต่อเนื่องยาวนาน นี่จึงเป็นที่มาให้มีการกำหนด ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมกันไม่เกิน 8 ปีไว้ในรัฐธรรมนูญ2560

การตีความทางกฎหมายเงื่อนไขการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอยู่สามนัยยะ

นัยยะแรก เป็นการตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือการเอารัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ผนวกกับมาตรา 264 ทางแรกนี้ เริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 นั่นหมายความว่า 23 สิงหาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งครบแปดปีตามที่ระบุไว้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการตีความอย่างเคร่งครัด



นับถอยหลัง วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ประยุทธ์ ตีความได้  3 แนวทาง

นัยยะที่สอง ดูเหมือนเป็นทางออกที่ประนีประนอมที่สุด มาตรา158 บทเฉพาะกาลมาตรา264 เขียนขึ้นในรัฐธรรมนูญ2560 มีความมุ่งหมายจะให้ใช้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  แต่ทั้งสองมาตรานี้ จะใช้บังคับก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไม่ได้ นั่นหมายความว่า การนับระยะเวลา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560  การนับเช่นนี้  ทำให้มีคำถามว่า แล้วที่ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับโปรดเกล้าฯมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 – 5 เมษายน 2560 พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี
แบบไหน

นัยยะที่สาม  คือเป็นนายกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่หลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 158 มาตรา 159  มาตรา 88 มาพิจารณาร่วมกันเป็น ก่อนลงมติร่วมกันตามมาตรา 272  ตามนัยยะนี้ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติมาตรา 158 เรื่องการเข้าดำรงตำแหน่ง ไม่เกี่ยวกับมาตรา 264 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบริหาร บัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน  หมายความว่านับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2562  ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาซ้อนกับการตีความตามนัยยะที่1และนัยยะที่2

คำร้องให้วินิจฉัย วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว  ฝ่ายที่ตีความตามนัยยะแรก มีนัดหมายชุมนุมการเมืองอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าการตีความทั้งสามนัยยะข้างต้น ไม่มีแบบไหนที่จะไม่ก่อให้เกิดเรื่องตามมา  มีคนแนะนำวิธียุติปัญหา แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า  พลเอกประยุทธ์ จะพิจารณาหรือไม่  1คือการหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ เป็นบรรทัดฐาน  2 คือการลาออก แล้วเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีกันใหม่ ตามกลไกรัฐสภา และ 3 คือการยุบสภา ซึ่งถือเป็นไพ่ตาย ก่อนที่ภัยจะถึงตัว

การพิจารณาร่างฯงบประมาณ 2566 ผ่านวาระสามไป เมื่อคืนที่ผ่านมา หลัง พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร ลงมาบัญชาการก่อนประชุม หมดปัญหาไม่มีงบประมาณใช้  ในทางการเมืองโล่งไปหนึ่งเปราะ รอก็แต่ท่าที ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ จะออกมาอย่างไร  ขณะที่ยุทธพร อิสระขัย จากสุโขทัย ธรรมาธิราช มั่นใจว่าในสัปดาห์นี้ ยังไม่มีอะไร รวมถึงการตัดสินใจศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาด้วย หรือไม่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ