Lifestyle

Stroke.. เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาการอ่อนแรงหรือชาที่แขนขาหรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง เดินเซ พูดติดๆ ขัดๆ มองเห็นภาพซ้อน เป็นอาการที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถหาสาเหตุที่เกิดจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตกจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตถาวร

นพ.ภัทรวุฒิ เรืองวานิช  อายุรแพทย์ประสาทวิทยา อนุสาขาโรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง และทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย เสียหาย และการทำงานของสมองหยุดชะงัก เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต  ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ที่พบได้ทั่วโลก โดยเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคหัวใจบางประเภท และพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม เป็นต้น

สัญญาณเตือนอันตรายหรืออาการสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Acute Ischemic Stroke) มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

B - Balance   :  เสียการทรงตัว เดินเซ

E - Eye   :  การมองภาพผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็น

F - Face  : อาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ทำให้มีอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว หรือรู้สึกหนาๆ บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง

A - Arm :  อาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนขา ซีกใดซีกหนึ่ง

S - Speech    :  การพูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ออก พูดติดๆ ขัดๆ นึกคำพูดไม่ออก

T - Time :  หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วภายใน 6 ชั่วโมง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นประเภทตีบ อุดตัน หรือแตก โดยแพทย์อาจใช้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในกรณีหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน หรือแพทย์อาจทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันความเสียหายของสมองที่อาจเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาความเสี่ยง หากพบว่ามีอาการหรือสัญญาณเตือนอันตราย (BEFAST) ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ปัจจุบัน ศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหัวเฉียว เปิดให้บริการดูแลรักษาและฟื้นฟูกลไกหลักของร่างกายอย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน เน้นการรักษาตรงจุด เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางระบบประสาทและสมอง พร้อมให้การดูแลโดยพยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย

Stroke.. เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

นพ.ภัทรวุฒิ เรืองวานิช

อายุรแพทย์ประสาทวิทยา อนุสาขาโรคหลอดเลือดสมอง

ศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหัวเฉียว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ