Lifestyle

ส่งนํ้าช่วยสวนมะม่วงส่งออก ผลงานเด่นจัดการนํ้า จ.อ่างทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลอง 3 ขวา - 1 ขวา เป็นคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการคลองส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร พื้นที่คาบเกี่ยว 3 อำเภอ ใน 4 ตำบล ของจังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตร ทั้งนาข้าว รวมถึงสวนมะม่วง ที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกสำคัญของจังหวัด แต่จากลักษณะของคลอง 3 ขวา - 1 ขวา ที่รับน้ำต่อมาจากคลองสายใหญ่ 1 ขวา ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย จึงทำให้ไม่สามารถส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงทางธรรมชาติได้

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ให้มีน้ำเพียงพอใช้ทางการเกษตร ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตรจึงได้เข้าไปช่วยบริหารจัดการ โดยได้มีการประชุมและทำประชาคมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน และได้จัดทำบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ไม้ผล และไม้ยืนต้นในพื้นที่ คลอง 3 ขวา - 1 ขวา เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ส่งนํ้าช่วยสวนมะม่วงส่งออก ผลงานเด่นจัดการนํ้า จ.อ่างทอง

นายชิษณุพงศ์  นิลวดีพุฒิพัชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร สำนักงานชลประทานที่ 12  กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำต้นทุนของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณที่น้อยสำหรับการเกษตร กรมชลประทานโดยนายทองเปลว  กองจันทร์(อดีตอธิบดีกรมชลประทาน) ได้มีนโยบายให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา และโครงการชลประทานที่อยู่ในพื้นที่ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรังปี 2562/2563

โดยพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดอยู่ในจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 4 ตำบลที่ประสบปัญหาภัยแล้งขั้นวิกฤติ ทางกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเข้ามาที่ปากคลอง 3 ขวา - 1ขวา จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งจะสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ในลักษณะสูบ 2 เครื่อง พัก 1 เครื่อง

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการสูบน้ำ ทางโครงการได้มีการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการในการกำจัดวัชพืช เพื่อเวลาสูบน้ำแล้ว น้ำจะได้ไหลได้เร็ว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนราชการที่อยู่ในเขตของทั้ง 3 อำเภอของจังหวัดอ่างทองในการกำจัดวัชพืชเป็นอย่างดี

ส่งนํ้าช่วยสวนมะม่วงส่งออก ผลงานเด่นจัดการนํ้า จ.อ่างทอง

หลังจากนั้นจะสู่ขั้นตอนการดำเนินการสูบน้ำเข้าคลอง โดยจะมีการควบคุมไม่ให้มีผู้ใดสูบน้ำเข้าพื้นที่ของตัวเองเลยตั้งแต่ต้นคลองไปถึงปลายคลองเป็นระยะเวลาประมาณ 5-6 วัน เพื่อให้น้ำไปถึงปลายคลองระยะทาง 18 กิโลเมตร ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี และเมื่อมีน้ำต้นทุนเต็มคลองแล้ว ก็จะให้ทางปลายคลองสูบน้ำเข้าพื้นที่ไปก่อน ตามที่ได้จัดทำ MOU กันไว้ว่าสูบได้กี่วัน พอครบกำหนดก็จะมาที่ช่วงกลางคลองให้สูบได้ตามจำนวนวันที่ได้จัดทำ MOU กันไว้เช่นกัน  พอครบแล้วก็จะมาที่ต้นคลองเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยที่ทางโครงการยังคงเดินเครื่องสูบน้ำเข้าคลองเพื่อสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเกษตรกรได้น้ำเต็มที่แล้ว จึงจะหยุดการสนับสนุนการสูบน้ำ ทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรมีน้ำใช้ทางการเกษตรอย่างเพียงพอ

ส่งนํ้าช่วยสวนมะม่วงส่งออก ผลงานเด่นจัดการนํ้า จ.อ่างทอง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ