Lifestyle

การประชุม AMM ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคุยอะไรกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52  และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (AMM/PMC) ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2562 ในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ภูมิภาคอาเซียนและทั้งโลกกำลังเผชิญ และทุกประเทศต้องร่วมกันหาทางรับมือ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์  ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การแพร่ขยายแนวคิดชาตินิยมและการปกป้องทางการค้ามากขึ้น และความท้าทายจากการเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ตหรือ Internet of Things (IOT)

สิ่งที่รัฐมนตรีทั้งหลายหารือกันจึงไม่พ้นไปจากเรื่องเหล่านี้ และผลสรุปจากการประชุมจึงทำให้สามารถ ‘จับชีพจร’ ของอาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้ว่า มีมุมมองอย่างไรในการแปรวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้านให้เป็นโอกาส โดยคำตอบของอาเซียนต่อโจทย์ที่แสนท้าทายดังกล่าว คือ เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติหรือ Sustainability of Things (SOT) การค้าพหุภาคีที่เสรี และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

อาเซียนเพิ่งรับรอง AOIP ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และได้รับการตอบรับเชิงบวกจากประเทศต่าง ๆ เห็นได้จากในช่วงแถลงข่าว มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า AOIP แตกต่างจากมุมมองต่ออินโด-แปซิฟิกของมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างไร ซึ่งท่านรัฐมนตรีได้อุปมาว่า แนวคิดอินโด-แปซิฟิกเป็นเสมือนปลาซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ในท้องทะเล และปลาของอาเซียนเป็นปลาที่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร ไม่มีความคิดที่จะครอบงำหรือท้าทายใคร แต่มุ่งที่จะร่วมมือเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

การประชุม AMM ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคุยอะไรกัน

คำอธิบายข้างต้นเป็นการยืนยันว่า อาเซียนไม่ได้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่พร้อมเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งหลาย และประสานประโยชน์ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยใช้กลไกของอาเซียนที่มีอยู่

ในทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศยืนยันว่าการค้าเสรีและระบบพหุภาคียังเป็นทางเลือกที่พึงประสงค์และต้องสนับสนุน หลายประเทศสนับสนุนให้เร่งเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจหรือปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโลก อาทิ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สรุปได้ภายในปีนี้ การปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์  และการเตรียมพร้อมที่จะเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป

ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาเซียนได้หารือกับประเทศคู่เจรจาที่จะร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนและ  ขยะทะเล เพื่อฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืนพร้อมส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะร่วมกันยกระดับคุณภาพชึวิตของประชาชนให้มีความมั่นคง ปราศจากโรคภัย และปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ

การประชุม AMM ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคุยอะไรกัน

การประชุม AMM ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคุยอะไรกัน

สิทธิของผู้พิการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม อาเซียนจึงให้ความสำคัญกับ  การทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ไทยได้เชิญ “โครงการพักจิตพักใจ” ไปจัดแสดงผลงานของผู้พิการทางสายตาในการถักร้อยกระเป๋าและของใช้อื่น ๆ บริเวณโถงทางเดินหน้าห้องประชุม ใกล้ ๆ กับซุ้มของศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Development Centre on Disability (APCD) ที่นำช็อคโกแลตฝีมือผู้พิการมาให้ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้ชิม โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ APCD กับบริษัทช็อคโกแลต MarkRin ซึ่งล้วนเป็นแบบอย่างของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทางสังคมและช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนอีกหลายกลุ่มที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือกัน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการเงินหรือฟินเทค ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นสตรี เยาวชน สตาร์ทอัพ และหมู่บ้านห่างไกล เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผ่านการทำธุรกรรมทางหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอต่อที่ประชุม G20 ที่โอซากา เพื่อเชิญชวนประเทศ G20 ร่วมมือกับอาเซียนด้วย

อย่างไรก็ดี ยิ่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจพึ่งพาความเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ตมากเท่าใด ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีความมั่นคงทางไซเบอร์มากขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้เกิดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวที่เก็บรักษาอยู่ในระบบออนไลน์ต่าง ๆ  ดังนั้น อาเซียนจึงได้หยิบยกเรื่องนี้หาความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาแทบทุกประเทศ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา อินเดีย และญี่ปุ่น รวมทั้งได้รับรองแถลงการณ์ร่วมกับสหภาพยุโรปว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ นอกจากนี้ ไทยยังเตรียมจะเปิดตัวศูนย์ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre (AJCCBC) อย่างเป็นทางการในปีนี้ด้วย

การประชุม AMM ครั้งที่ 52 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเป็นการประชุมครั้งสำคัญของอาเซียนในรอบปี เพราะเป็นโอกาสที่จะได้หารือกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 10 ประเทศ[1] และประเทศคู่เจรจารายสาขาทั้ง 3 ประเทศ[2] ด้วย

แม้ที่ประชุมจะได้หารือประเด็นต่าง ๆ มากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ อาเซียนพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกคืบเข้ามา ทั้งในด้านดุลอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การปกป้องทางการค้า และความท้าทายจากการเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ต อาเซียนตระหนักดีว่าในสภาพการณ์เช่นนี้ การไม่เตรียมพร้อมย่อมสร้างความเสียหายใหญ่หลวง จึงวางแผนอย่างดีเพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้พลิกเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาคอย่างยั่งยืนผ่านกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลก และประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม

 

[1] จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย และสหภาพยุโรป

[2]  สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และตุรกี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ