หากใครเคยไปสัมผัสความงดงามของธรรมชาติ ภูเขา สายน้ำ ผู้คน และ ประเพณีของอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แล้ว นอกจากความงดงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ยังมีอีกหนึ่งความงดงามที่สุดเย้ายวนชวนหลงใหล ให้ต้องกลับไปเยือนอีก นั่นคือ ... “อิสตรีชาวมอญ”
ในอดีตกาล หนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งในคาบสมุทรอินโดจีน คงไม่พ้น หงสาวดี ราชธานีแห่งรามัญ หรือ มอญ อย่างไรก็ดีด้วยสาเหตุทางการเมืองทำให้พวกเขาไม่มีแผ่นดินหรือประเทศเป็นของตนเอง แต่ถึงกระนั้นชาวมอญกลับสามารถดำรองรักษาจารีต ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้ ซึ่ง ผู้หญิงมอญ คือหนึ่งในกลุ่มผู้มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์แห่งชนชาติมอญจวบจนปัจจุบัน
สาวมอญนั้นมีการดำเนินชีวิตที่ผูกพันกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อใดก็ตามที่สาวมอญจะต้องไปทำบุญที่วัด พวกเขาจะสำรวจเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า หน้าผม ให้มิดชิดและเรียบร้อยอยู่เสมอ โดยจะนุ่งผ้าถุงยาวเสมอตาตุ่มและเสื้อสีสันสดใส จะคนละสี หรือสีเดียวกับผ้าถุงสุดแท้แต่แฟชั่น แต่ต้องมีแขน ไม่แขนกุด ขาสั้น เพราะตามวัฒนธรรมของคนมอญนั้น วัดถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การแต่งกายให้เหมาะสมถือเป็นการให้ความเคารพสถานที่ จนกลายเป็นจิตสำนึกที่ฝังลึกรุ่นต่อรุ่น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ผู้หญิงสูงวัยจะแต่งกายในชุดสีขาว ผ้าถุงน้ำตาล เข้าวัดจำศีล ใส่บาตร มากกว่าผู้ชาย ยิ่งเป็นงานบุญใหญ่แล้ว แต่ละคนตะแต่งกายประชันโฉมสุดอลังการ
นอกจากเครื่องแต่งกายแล้ว การปะแป้งทานาคา (Thanaka) บนแก้มและหน้าผาก ถือเป็นเครื่องสำอางค์สุดฮิตของสาวมอญที่นี่ ซึ่งทุกคนทาเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรือนอกบ้าน โดยลวดลายและการปาด การลงน้ำหนักของแป้งให้งดงามนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิกส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้, ใบไม้, ดาวแฉก ฯลฯ ซึ่งทานาคาเป็นแป้งที่สกัดจากไม้เนื้อแข็งซึ่งมีในพม่า มีกลิ่นเย็นอ่อนๆ ช่วยป้องกันแสงแดด ต่อต้านริ้วรอย รักษาสิว ฆ่าเชื้อรา ไม่แปลกใจเลยที่สาวมอญจะมีผิวเนียนนุ่ม ดูอ่อนเยาว์เกือบทุกคน
อีกสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของสาวมอญคือ “การเทิน” เวลาไปทำบุญ ตักบาตร เดินจ่ายตลาด พวกเธอจะ “เทิน” ทุกสิ่งไว้บนหัวเป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะเป็น หม้อ, ถาด, กระจาด, กะละมัง, ถังผ้าป่า, ขันสรงน้ำพระ ฯลฯ ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนเพราะต้องใช้สมดุลของสรีระ บางคนจะมีผ้าพันรองก่อนเทิน บางคนสามารถเทินได้เลย แถมยังฟ้อนไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย เวลานำสำรับอาหารไปถวายพระที่วัดจะต้องเทินเท่านั้น เพราะการใส่ปิ่นโตแล้วหิ้วไปนั้นจะทำให้ข้าวกรายชายผ้าถุงซึ่งเป็นของต่ำ ควรทูนศีรษะไปจึงจะเหมาะสม
นอกจากการแต่งกาย วิถีชีวิต และ การดำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนาแล้ว สาวมอญยังมีบทบาทสำคัญในด้านแรงงาน การทำงาน ประกอบอาชีพ และการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญให้คงอยู่สืบต่อไป
เรื่องภาพ ชาลินี ถิระศุภะ / Nation Photo