อุโบสถเงิน แห่ง วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ ธรรมเนียมล้านนาแต่โบราณ ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปภายในโบสถ์ บางแห่งที่เคร่งครัดจะห้ามแม้กระทั่งผู้ชายที่ยังไม่ผ่านการบวชพระ โดยโบสถ์จะแยกออกไปและขนาดจะไม่ใหญ่นัก แต่จะใช้ วิหาร ในการประกอบศาสนกิจต่างๆ ร่วมกับศาสนิกชน อุโบสถเงิน แห่ง วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในอาณาจักรล้านนาจึงยึดถือปฏิบัติมาด้วยเช่นกัน เมื่อ พ.ศ.2043 “พระเมืองแก้ว” กษัตริย์องค์ที่ 11 ของราชวงศ์มังราย และมหาเทวีเจ้า พระราชมารดา ได้สร้างมหาวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ แล้วตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ก่อนจะผูกพัธสีมาพระอุโบสถในปี พ.ศ.2052 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาฏิหารย์ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) กระทั่งอุโบสถทรุดโทรมลง ชาวบ้านละแวกวัด ย่านวัวลาย ซึ่งเป็นชุมชนช่างเครื่องเงิน จึงเริ่มปฏิสังขรณ์พระอุโบสถในปี 2547 ให้เป็น “อุโบสถเงิน” หลังแรกของโลก โดยยังยึดถือตามสถาปัตยกรรมล้านนาแต่ดั้งเดิม ประดับด้วยเครื่องเงินทั้งหลังด้วยงานศิลปะที่แสดงถึงการสักการะพระรัตนตรัย การเวียนว่ายตายเกิด ภายนอกแสดงสัญลักษณ์ของ ชาติ ศาสน กษัตริย์ เปรียบพื้นที่ภายนอกพระอุโบสถเป็นทะเลสีทันดรในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ที่เราต้องใช้ความเพียรแหวกว่ายข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่ความสงบสุข ก่อนจะถึงแนวบันไดซึ่งเปรียบเป็นป่าหิมพานต์ ประดับด้วย พญาครุฑ พญาหงส์ นกหัสดีลิงค์ รวมถึง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ป้านลม ด้านบน ก่อนจะไปสูงสุดที่ โพชฌงค์ 7 ซึ่งคือ ฉัตรเงิน 7 หลัง บนยอดอุโบสถนั่งเอง
การก่อสร้างต้องใช้เวลากว่า 1 รอบ ทั้งนี้เพราะเป็นงานปราณีต ใช้ฝีมือเชิงช่างสูง อีกทั้งยังเป็นอุโบสถที่ทำจาก เครื่องเงิน เป็นหลังแรก จึงมีปัญหาระหว่างการก่อสร้างให้คอยแก้ไขมากมาย เช่น ความหมองดำของโลหะ ปัญหาฟ้าฝ่า ปัญหาระบบกระแสไฟฟ้า ปัญหาความร้อนภายในอาคาร และที่สำคัญที่สุดคือ อารมณ์สุนทรีย์ของเหล่าศิลปินช่าง สุดท้ายก็ผ่านอุปสรรคต่างๆ กระทั่งเป็น “อุโบสถเงิน” หลังแรกของโลก อย่างในปัจจุบัน
ภาพ กอบภัค พรหมเรขา (Korbphuk Phromrekha)
#NationPhoto #อุโบสถเงิน #วัดศรีสุพรรณ #เชียงใหม่