Lifestyle

กลับหลังหัน ไปพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ / การันต์ Facebook : หมุนโลกด้วยสองล้อ

ในนิยามความเป็นเมืองเราอาจปฏิเสธไม่ได้ถึงการพัฒนาและความก้าวล้ำทันสมัย แต่อย่างไรก็ตามรากฐานของเมืองซึ่งเป็นแหล่งรวมวิถีชีวิตก็ไม่ควรถูกเบียดบังจนแทบจะไม่มีที่ยืนให้คนรุ่นหลังได้กลับมาเรียนรู้ว่าแต่ก่อนพวกเราเป็นใคร?

พิพิธภัณฑ์คือเครื่องมือชิ้นหนึ่งสำหรับการ ‘กลับหลังหัน’ ในทุกๆ บริบท เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติ, พิพิธภัณฑ์การ์ตูนก็รวบรวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับการ์ตูน หรืออย่างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกก็เป็นสิ่งสะท้อนความเป็นมาเป็นไปของชาวกรุงเทพตั้งแต่ครั้งยังเรียกนามว่าบางกอก

แต่เดิมพิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้รับความสนใจมากนักแม้จะตั้งอยู่ในย่านบางรักที่เป็นชุมชนเมืองมีระบบสาธารณูปโภคครบครันและมีระบบขนส่งมวลชนครบถ้วนก็ตามที จนกระทั่งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้โด่งดังในสื่อกระแสหลักกระแสรองและในโซเชียลมีเดียทำนองว่า “เกิดการระดมทุนคนละ 100 ให้ครบ 30 ล้านบาทเพื่อซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ ที่จะสร้างคอนโด 8 ชั้นซึ่งอาจจะบดบังทัศนียภาพ แล้วนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว”

จากกระแสที่ว่า นอกจากเงินทองหลั่งไหลเข้าบัญชี การปั่นจักรยานไปเยือนพิพิธภัณฑ์ฯในคราวนี้ก็ทำให้ต้องประหลาดใจ เพราะผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวชมกันอย่างหนาตาทั้งที่ไม่ใช่วันหยุด

นี่อาจเป็นกระแสชั่วครู่ยาม แต่ก็เป็นโอกาสดีที่หลายคนซึ่งเคยมองข้ามจะได้เหลียวหลังมาเห็นรากเหง้าของชาวบางกอกแท้และดั้งเดิม

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเกิดขึ้นจากความตั้งใจของ รศ.วราพร สุรวดี ซึ่งนำบ้านและทรัพย์สินที่ได้รับมรดกจากมารดาคือ สอาง (ตันบุญเต็ก) สุรวดี มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

หลังจากจัดวางทุกอย่างเสร็จสรรพ อาจารย์วราพรได้ทำเรื่องยกบ้านหลังนี้ให้เป็นสมบัติของกรุงเทพมหานคร และใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก

ที่นี่เข้าชมฟรี แต่ต้องลงทะเบียนก่อนเข้าชม เมื่อเข้ามาแล้วจะได้เจอกับอาคารหลังที่ 1 ตั้งตระหง่านท่ามกลางเงาของไม้ใหญ่ อาคารหลังนี้เดิมเป็นที่อาศัยของครอบครัวสุรวดี สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2480 ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกซึ่งนิยมในยุคนั้น คือ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวสีแดง ผนังอาคารสร้างด้วยไม้ทาสีเลียนแบบผนังก่ออิฐถือปูน ฝีมือช่างชาวจีน เรียกกันว่าทรงปั้นหยารุ่นปลาย คือลดทอนลวดลายฉลุที่ชายคาให้น้อยกว่าเรือนปั้นหยารุ่นก่อน เรือนหลังนี้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ระหว่าง พ.ศ.2480-2500

อาคารหลังนี้นับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากและยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมได้ดีเยี่ยม เมื่อปี 2551 จึงได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศลิปสถาปัตยกรรมดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อาคารแบ่งเป็นห้องหับหลายห้อง แต่ละห้องยังมีเครื่องใช้เก่าแก่ในสภาพสมบูรณ์ คล้ายว่ายังมีคนอาศัยอยู่เป็นปกติ เช่น ห้องรับแขกที่มีเปียโนหลังงามคู่ใจของคุณแม่ของอาจารย์วราพรที่ได้เป็นของขวัญจากคุณตาเมื่อครั้งเป็นนักเรียนคอนแวนต์ มีตู้ใส่เครื่องแก้วเจียระไนแบบต่างๆ เช่น แก้วไวน์ แก้วมาตินี่ และขวดไวน์วางเรียงโชว์ในตู้สวยงาม

ส่วนอาคารหลังที่ 2 ที่อยู่ถัดเข้าไปด้านใน แม้จะกลมกลืนอย่างกับเริ่มตอกเสาเอกที่นี่ตั้งแต่แรก แต่อันที่จริงเรือนไม้สักหลังนี้เดิมอยู่ที่ซอยงามดูพลี เขตทุ่งมหาเมฆ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2472 เพื่อใช้ชั้นล่างเป็นคลินิกของนายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย สามีคนแรกของมารดาของอาจารย์วราพร แต่ครั้งที่บ้านหลังนี้สร้างเสร็จก็ไม่ทันได้เข้าอยู่ นายแพทย์ฟรานซิสก็ล้มป่วยและเสียชีวิตก่อน เมื่อคราวที่อาจารย์วราพรประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ฯ จึงขายที่ดินผืนนั้น ทว่ารื้อบ้านมาสร้งใหม่ที่นี่โดยย่อขนาดลงตามพื้นที่

พื้นที่ด้านล่างเป็นโถง ปัจจุบันแสดงภาพเขียนสี นอกจากนี้ทุกภาพยังจำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจ รายได้ไปสมทบทุนเพื่อรักษาความงดงามของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ต่อไปด้วย ส่วนชั้นบนมีห้องนอนและห้องจัดแสดงสิ่งของเครื่องของนายแพทย์ฟรานซิส เช่นเครื่องมือแพทย์เก่าที่หาชมยากมาก และมีรูปหล่อของนายแพทย์ฟรานซิส ผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บรมครูศิลปกรรมร่วมสมัยของประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณชานหน้าบันไดชั้นบนด้วย

ส่วนอาคารข้างๆ คือ อาคารหลังที่ 3 ส่วนตัวผมยกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ ‘แน่น’ แต่รู้สึกได้ว่าใกล้ตัวคนกรุงอย่างมาก เพราะตรงชั้นล่างก็ต้อนรับด้วยส่วนแสดงเอกสารแสดงสิทธิหน้าที่ของประชาชน เช่น โฉนด สำมะโนครัว รวมถึงแผนที่กรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ.2489 ถัดเข้าไปมีสิ่งของเต็มห้อง ตั้งแต่เครื่องครัวของคุณย่ายันของใช้ในชีวิตประจำวันคนสมัยก่อน หลายคน (รวมทั้งผม) อาจเคยเห็นเคยใช้ในอดีต แล้วมันเลือนหายไปตามวันเวลา นี่จะเป็นการนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในวันวานอีกครั้ง

เดินขึ้นไปชั้นบน จะเจอส่วนห้องสมุดโปร่งสบาย มีโต๊ะเก้าอี้ มีหนังสือ เกี่ยวกับกรุงเทพมหานครให้ได้นั่งพักผ่อนพร้อมกับเรียนรู้เรื่องมหานครแห่งนี้ ขยับไปด้านในคือส่วนแสดงนิทรรศการภาพรวมของกรุงเทพมหานคร เช่น ลักษณะทางกายภาพที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของชื่อบางกอก และที่แน่นอนคือประวัติความเป็นมาของเขตบางรัก เพราะที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก

สุดท้ายคืออาคารหลังที่ 4 ที่ตอนนี้เป็นสำนักงานพิพิธภัณฑ์ฯ แต่ในอดีตก็มีหลายชีวิตวนเวียนและเป็นอยู่ ไม่แตกต่างจากทุกอาคารที่เล่าเรื่องราวเก่าๆ ไปพร้อมๆ กับย้ำเตือนว่าอดีตไม่ได้มีไว้รับรู้เพื่อรอวันลบเลือน แต่อดีตที่งดงามต้องถูกเก็บรักษาให้ดีด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ