วันนี้ในอดีต

27 ก.พ.2514 รำลึกวันเสด็จในพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

****************************

 

 

วันนี้เมื่อ 49 ปีก่อน เป็นวันที่หัวใจของพี่น้องชาวอุตรดิตถ์ชุ่มฉ่ำไปด้วยความสุข เพราะเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2514

 

ในการนี้จึงขอนำเรื่องราวและประวัติของเขื่อสิริกิติ์มาเผยแพร่อีกครั้ง

 

 

27 ก.พ.2514  รำลึกวันเสด็จในพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์

 

 

 

ประวัติความเป็นมา

 

 

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก่อสร้างขึ้น ตามโครงการพัฒนา ลุ่ม น้ำน่าน เดิมชื่อ “เขื่อนผาซ่อม” ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511

 

ก่อสร้างขึ้น ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ณ บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 58 กิโลเมตร

 

 

 

27 ก.พ.2514  รำลึกวันเสด็จในพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์

 

 

 

แม่น้ำน่านนับเป็นลำน้ำสาขาสำคัญสายหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากดอยภูแว ในเทือกเขา หลวงพระบาง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนกับประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว ในเขตท้องที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ลำน้ำน่านตอนต้นไหลไปทางทิศเหนือ คดเคี้ยวไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลผ่านอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

 

ในช่วงนี้จะมีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ติดต่อกันจนถึง อำเภอสา จังหวัดน่าน แต่ก็เป็นที่ราบแคบ ๆ จากนั้น แม่น้ำน่านจะไหลผ่านหุบเขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เข้าเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วไหล ไปทางทิศใต้ ผ่านจังหวัด อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำยม ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลรวมกับแม่น้ำปิง ที่ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปโดยมีความยาวตลอดลำน้ำถึง 615 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุด ในบรรดาแควต้นน้ำเจ้าพระยาด้วยกัน และมีพื้นที่ลุ่มน้ำถึง 33,130 ตารางกิโลเมตร

 

ที่ราบสองฝั่ง แม่น้ำน่าน ตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงมาจำนวน 1,800,000 ไร่ ในเขตชลประทานพิษณุโลก นับว่าเป็นทุ่งราบที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ และเหมาะแก่การเกษตรกรรมอย่างยิ่ง ซึ่งแต่ก่อน มักถูกน้ำท่วม เป็นประจำเพราะไม่มีระบบควบคุมน้ำ รัฐบาลจึงได้มีการวางแผนพัฒนา ลุ่มน้ำน่านขึ้นมา 3 ระยะ คือ

 

ระยะที่ 1 ก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่างสำหรับประโยชน์ ทางด้านการชลประทาน และการผลิตกระแสไฟฟ้า

 

ระยะที่ 2 ก่อสร้างเขื่อนนเรศวรขึ้นที่บ้านหาดใหญ่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นเขื่อนทดน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำสำหรับพื้นที่สองฝั่งในอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก กับอำเภอสามง่าม อำเภอเมือง และอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ประมาณ 678,000 ไร่ โครงการระยะที่ 2 นี้ ได้เริ่มงานก่อสร้างเบื้องต้น เมื่อ พ.ศ.2512 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2527

 

 

 

27 ก.พ.2514  รำลึกวันเสด็จในพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์

 

 

ระยะที่ 3 ก่อสร้างเขื่อนอุตรดิตถ์ที่บ้านผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทดน้ำ และมีระบบส่งน้ำ สำหรับพื้นที่สองฝั่งอำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอตรอน และ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ กับอำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมือง อำเภอวังทอง และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก รวมพื้นที่ประมาณ 873,000 ไร่

 

โครงการระยะที่ 3 นี้ ยังไม่ได้ดำเนินการ แผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านนี้ เป็นการวางแผนที่จะนำน้ำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างเต็มที่ จึงได้วางแผนให้เกี่ยวโยงกันทั่วลุ่มน้ำคือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กำหนดระบบวิธีจัดเก็บ และการใช้น้ำ ให้เกิดประโยชน์หลายๆอย่าง รวมทั้งได้กำหนดขั้นตอนของการพัฒนา ให้เหมาะสมกับภาวะท้องที่เป็นระยะๆไป

 

โดยท้องที่ส่วนใหญ่ของทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน มักถูกน้ำท่วมเป็นประจำ การพัฒนา จึงต้องสร้างเขื่อนเก็บน้ำขึ้น ก่อนที่จะสร้างเขื่อนทดน้ำ และระบบส่งน้ำ เพราะหากก่อสร้างเขื่อนทดน้ำและระบบส่งน้ำก่อน น้ำที่ท่วมนองนอกจาก จะยังความเสียหายให้แก่การเพาะปลูกเช่นเดิมแล้ว ยังทำความเสียหายให้แก่งานก่อสร้างเขื่อน ทดน้ำและระบบส่งน้ำ อีกด้วย ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างเขื่อนสิริกติ์ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำ ขึ้นก่อนเขื่อนอื่นๆ

 

 

 

27 ก.พ.2514  รำลึกวันเสด็จในพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์

 

 

 

การดำเนินการก่อสร้าง

 

 

 

การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ได้แบ่ง งานออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนตัวเขื่อนและองค์ประกอบกับส่วนโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบ การก่อสร้างตัวเขื่อน และองค์ประกอบ ดำเนินการ โดยกรมชลประทาน

 

งานด้านนี้เป็นการก่อสร้างถนน เข้าหัวงาน ท่าเทียบเรือ งานเปิดหน้าดิน งานก่อสร้าง ตัวเขื่อน อุโมงค์ผันน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำลงแม่น้ำ อุโมงค์ส่งน้ำเข้าเครื่องกังหันน้ำ อาคารรับน้ำอุโมงค์ระบายน้ำล้น งานขุดดินและหินบริเวณฐานราก ของโรงไฟฟ้า

 

งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2514 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี 2515

 

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบ ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย งานด้านนี้ ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2511 โดยดำเนินการก่อสร้างสายส่งแรงสูง 115 กิโลโวลต์ ระหว่างอุตรดิตถ์กับเขื่อนสิริกิติ์ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้างานวางท่อเหล็ก นำน้ำเข้าโรงไฟฟ้า

 

 

 

27 ก.พ.2514  รำลึกวันเสด็จในพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์

 

 

 

และงานก่อสร้างสายส่งแรงสูง 230 กิโลโวลต์ ช่วงเขื่อนสิริกิติ์-พิษณุโลก พร้อมกันนี้ ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์ รวม 3 ชุด กำลังผลิตชุดละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 375,000 กิโลวัตต์

 

โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี 2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนสิริกิติ์ และโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2520

 

หลังจากงานก่อสร้างตัวเขื่อน และโรงไฟฟ้า เสร็จเรียบร้อยแล้วกรมชลประทาน ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับผิดชอบในการควบคุมดูแลรักษาเขื่อน

 

 

**********************************

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sirikitdam.egat.com/

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

และเฟซบุ๊ก อุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ