วันนี้ในอดีต

น้อมรำลึก 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้อมรำลึก 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช' #วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

****************************

 

 

เนื่องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2456 หรือวันนี้เมื่อ 107 ปีก่อน คือวันสิ้นพระชนม์ของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช”

 

วันนี้ในอดีตจึงขออันเชิญพระราชประวัติของพระองค์เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงมา ณ ที่นี้

 

 

 

 

 

น้อมรำลึก  'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

 

 

 

จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

 

 

และยังทรงเป็นหนึ่งในพระราชโอรสกลุ่มแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อกลับมาประเทศไทยทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมในตำแหน่งต่าง ๆ และทรงเป็นจอมพลพระองค์ที่ 2 ของกองทัพบกสยาม

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทับทิม (ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)) เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน 2419 ในพระบรมมหาราชวัง

 

พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยเป็นพระราชโอรสกลุ่มแรก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 พร้อมกัน 4 พระองค์ คือ

 

กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์)

 

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์)

 

กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม)

 

กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช)

 

 

 

น้อมรำลึก  'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

จากซ้าย พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

 

 

 

พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงศึกษาวิชาทหาร ที่ประเทศเดนมาร์ก ช่วงปี 2424-2437 ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยตรีแห่งกองทัพบกประเทศเดนมาร์ก

 

จากนั้นทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นสูงสำหรับนายทหารทั่วไป เมื่อทรงสอบวิชาทหารปืนใหญ่ได้แล้ว ในปี 2439 จึงออกไปฝึกราชการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่สนามของประเทศเดนมาร์ก

 

จากนั้นเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปี 2440 และทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ, ปลัดกองทัพบก, เสนาธิการทหารบก และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงเป็นจอมพลพระองค์แรกของ กองทัพบกสยาม

 

 

00000000000000000

 

 

ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้ทรงปรึกษากับ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสนาธิการทหารบก ถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีเครื่องบินไว้ใช้ป้องกันประเทศ เหมือนอย่างอารยประเทศ และริเริ่มจัดตั้งกองบินทหารบก ซึ่งในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็น กองทัพอากาศไทย

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงได้รับพระราชทานวังมหานาคจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้เป็นที่ประทับของพระองค์และเจ้าจอมมารดาทับทิมสืบมา

 

นอกจากนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงเป็นต้นราชสกุล “จิรประวัติ” อีกด้วย

 

 

น้อมรำลึก  'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

ตราประจำราชสกุล จิรประวัติ

 

 

 

ทั้งมีข้อมูลว่า หม่อมหลวงรจนาธร ณ สงขลา (จิรประวัติ) พระปนัดดาของพระองค์ได้เล่าเรื่องในหนังสือ ๑๐๑ จุลจักรี ๑๐๑ ปี จุลจอมเกล้า ดังนี้

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งไปประเทศอังกฤษตั้งแต่ยังพระเยาว์ ทรงศึกษาได้ไม่นานนัก สมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระสหาย ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ไปอุปการะ โดยให้ศึกษาหลักสูตรทหาร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ทรงรักพระโอรสบุญธรรมพระองค์นี้มาก สมัยนั้นคนไทยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าเดนมาร์ค เพราะถือว่าหนึ่งในพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 นั้นเป็นคนไทย

 

 

น้อมรำลึก  'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

 

 

พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงงานสนองพระราชดำริด้านการทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญในขณะนั้น โดยงานในตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เป็นงานที่หนักมาก พระองค์ได้ทรงงานโดยไม่คำนึงถึงพระวรกาย แม้จะทรงประชวรก็ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ จนพระบิดาต้องทรงตักเตือน เพราะทรงห่วงใยในเรื่องพระพลานามัย

 

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้รับพระราชทานยศทางทหารขั้นสูงสุดเป็นจอมพลพระองค์แรกของทหารบก ทรงมีผลงานจากการวางรากฐานเรื่องการศึกษาของทหาร และร่างพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงรักและโปรดการสะสมงานศิลปะทุกชนิด ของทุกอย่างที่วังมหานาค ทั้งงานเพนท์ งานปั้น แม้กระทั่งจานข้าว ก็มีลายเซ็นพระนาม และมีการออกแบบอย่างสวยงาม

 

 

 

00000000000000000000000

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดี จิรประวัติ (ราชสกุลเดิม: โสณกุล) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2441 มีพระโอรสธิดา คือ

 

 

 

น้อมรำลึก  'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

หม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดี จิรประวัติ 

 

 

 

หม่อมเจ้าหญิงวิมลปัทมราช จิรประวัติ (17 พฤษภาคม 2442-3 กุมภาพันธ์ 2508) 

 

หม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดี จิรประวัติ (16 กรกฎาคม 2443-28 มีนาคม 2519)

 

หม่อมเจ้าประสบศรีจิรประวัติ จิรประวัติ (8 พฤศจิกายน 2444-19 พฤศจิกายน 2483)

 

หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม

 

และหลังจากที่ชายาพระองค์แรกได้สิ้นชีพตักษัยลง จึงทรงเสกสมรสใหม่กับ หม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ จิรประวัติ (ราชสกุลเดิม: โสณกุล) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2447 ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ เป็นพระขนิษฐาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันกับหม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดี โดยเสด็จในกรมหลวงนครไชยศรีและหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ทรงมีพระโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ

 

หม่อมเจ้านิทัศนาธร จิรประวัติ (9 มกราคม 2449-3 มีนาคม พ.ศ. 2506)

 

หม่อมเจ้าขจรจิรพันธ์ จิรประวัติ (16 ตุลาคม 2455-15 สิงหาคม 2514) 

 

 

 

น้อมรำลึก  'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช'

 

 

 

จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2456 สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย”

 

สำหรับ พระอิสริยยศ มีดังนี้

 

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (7 พฤศจิกายน 2419–25 พฤศจิกายน 2443)

 

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช (25 พฤศจิกายน 2443–23 ตุลาคม 2453)

 

พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช (23 ตุลาคม 2453–11 พฤศจิกายน2454)

 

พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (11 พฤศจิกายน 2454 – 10 กรกฎาคม 2478)

 

ภายหลังการสิ้นพระชนม์

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (10 กรกฎาคม 2478–ปัจจุบัน)

 

 

******************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ