วันนี้ในอดีต

17 ม.ค.2376 ร.4 ทรงพบศิลาจารึก พ่อขุนรามฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร.4 ทรงพบศิลาจารึก #วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

******************************

 

 

วันนี้ 17 มกราคม เรารู้ว่าเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่เรารู้หรือไม่ว่าความสำคัญของวันนี้มาจากการที่ล้นเกล้ารัฐกาลที่ 4 ขณะทรงผนวช ได้ค้นพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงขึ้นมา  โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  17 มกราคม 2376 หรือวันนี้เมื่อ 187 ปีก่อนนั่นเอง

 

แน่นอนเหตุการณ์นี้ นับเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ได้รู้ว่าไทยเรานั้นมีอารยธรรมในด้านอักขระมาช้านานแล้ว สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรือง พระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชโดยแท้

 

วันนี้ในอดีตมาย้อนความทรงจำนั้นกันอีกครั้ง

 

 

เหตุการณ์สำคัญ

 

บันทึกทางประวัติศาสตร์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนี้เมื่อ 187 ปีก่อนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี สมัยที่ยังดำรงพระอิสริยยศ เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ” ขณะทรงผนวชอยู่ในปีพุทธศักราช 2376 ได้เสด็จจาริกธุดงค์ ไปยังหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือของประเทศไทย

 

 

 

17 ม.ค.2376  ร.4 ทรงพบศิลาจารึก  พ่อขุนรามฯ

 

 

 

กระทั่งเมื่อทรงเสด็จถึงเมืองสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึก 2 หลัก คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ภาษาไทย และศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พร้อมด้วยพระแท่นศิลาบาตร ที่บริเวณเนินปราสาท ในวัดมหาธาตุ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นโบราณวัตถุสำคัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำลงมาที่กรุงเทพฯ และทรงเป็นพระองค์แรก ที่ทำให้คนไทยเห็นคุณประโยชน์ของจารึก และทรงเป็นนักอ่านจารึกพระองค์แรก ของประเทศไทยอีกด้วย

 

 

 

ความเล่าเรื่อง

 

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเริ่มที่จะอ่านหลักศิลาจารึกดังกล่าว จนได้ความตลอดสำเร็จในปีพุทธศักราช 2379 โดยเนื้อหาของเรื่องในศิลาจารึกกล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง แบ่งได้เป็นสามตอน

 

ตอนที่หนึ่ง บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า “กู” เป็นหลัก

 

 

17 ม.ค.2376  ร.4 ทรงพบศิลาจารึก  พ่อขุนรามฯ

 

 

 

ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า “กู” แต่ใช้ว่า “พ่อขุนรามคำแหง” เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่สาม ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

 

โดยช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นแม่กองควบคุมคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตคัดลอกอักษร จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

 

หรือในปี 2398 เซอร์ จอห์น บาวริง ราชทูตอังกฤษ ได้เดินทางเข้ามาในสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสำเนาคัดอักษรพิมพ์หิน พร้อมด้วยลายหัตถ์คำแปล เป็นภาษาอังกฤษบางคำให้

 

ต่อมาเซอร์ จอห์น บาวริง ก็ได้นำตัวอย่างสำเนาจารึกที่ได้รับพระราชทาน พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในหนังสือ The Kingdom and people of Siam นอกจากนี้ยังได้พระราชทานสำเนาจารึก ให้แก่ราชทูตฝรั่งเศสอีกชุดหนึ่งด้วย

 

 

 

 

ทรงคุณค่าระดับโลก

 

ต่อมาหลักสิลาจารึกดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี 2546

 

โดยยูเนสโกบรรยายว่า “จารึกนี้นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”

 

อย่างไรก็ดี ตลอดมามีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจารึกดังกล่าว บ้างว่าศิลาจารึกนี้ถูกใครบางคนแต่งขึ้นมาในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น

 

 

 

17 ม.ค.2376  ร.4 ทรงพบศิลาจารึก  พ่อขุนรามฯ

 

 

 

บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น

 

แม้แต่บรรดานักวิชาการต่างชาติก็ยังตัง้ข้อสังเกตว่า ศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ขณะที่ "จิราภรณ์ อรัณยะนาค" ผู้เชี่ยวชาญด้านงานอนุรักษ์ เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แน่นอน

 

 

****************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ