วันนี้ในอดีต

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

********************************

 

 

การเมืองไทยยุคเกินสามสิบปีมาแล้ว ยังมีเรื่องให้กล่าวถึงมากมาย อย่างเหตุการณ์ของวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน ที่ได้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่พรรคเก่าแก่ของคนไทยที่ชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์”

 

นั่นคือการเกิดขึ้นของกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า กลุ่ม 10 มกรา” ในวันที่ 10 มกราคม 2530

 

ถามว่ากลุ่มนี้สำคัญอย่างไร บอกเลยนอกจากแสดงถึงความไม่แน่นอนที่เป็นธรรมชาติของ “มนุษย์นักการเมือง” แล้ว กลุ่มนี้ยังนับเป็นตำนานความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในพรรคสีฟ้า

 

และยังมีส่วนสำคัญทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศยุบสภาอีกด้วย

 

วันนี้มาย้อนรอยกลุ่ม 10 มกรากัน

 

 

 

 

แนวคิดสวนทาง

 

 

กลุ่ม 10 มกรานั้น ก่อตั้งโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ที่เคยดำรงตำแหน่งช่วงปี 2522) กับ วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น

 

 

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์

 

 

 

ที่มาของชื่อกลุ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2530 ณ โรงแรมเอเชีย ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค

 

โดยกลุ่มแรกได้เสนอชื่อ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” กับอีกกลุ่มที่เสนอชื่อ “พิชัย รัตตกุล” หัวหน้าพรรคในขณะนั้น เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป

 

ทั้งสองกลุ่มนี้มีแกนนำ กลุ่มแรกเป็น วีระ มุสิกพงศ์ กลุ่มหลังเป็น “ชวน หลีกภัย” ทั้งนี้ส่วนตัววีระเองก็ได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค แข่งกับ “พันโทสนั่น ขจรประศาสน์” (ยศขณะนั้น) ในครั้งนั้นด้วย

 

 

 

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

วีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ในปัจจุบัน

 

 

 

แต่แล้วปรากฏว่าทั้งเฉลิมพันธ์และวีระพ่ายแพ้ต่อ พิชัย รัตตกุล ส่งผลให้เสธจากแดนชาละวันได้เป็นเลขาธิการพรรค โดยการเมืองไทยเวลานั้น อยู่ในยุคสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งทาง พิชัย รัตตกุลเอง ก็ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้วในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 44 เช่นเดียวกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอยู่เช่นกัน

 

 

 

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

พิชัย รัตตกุล

 

 

 

ที่สุดกลุ่มก้อนในพรรคที่สนับสนุนฝ่ายเฉลิมพันธ์ ก็ได้แยกย้ายออกจากพรรคไป ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีความไม่พอใจการบริหารงานของพิชัย หัวหน้าพรรค มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วในหลายประการ

 

เช่น ไม่เห็นด้วยที่พิชัยสนับสนุน พิจิตต รัตตกุล ลูกชายของตนเองที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งซ่อมเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร (แทนที่ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ด้วยเห็นด้วยพรรษาทางการเมืองของพิจิตตนั้นยังน้อย หรือการที่เสนอรายชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรีอีกหลายคนที่่ทางกลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสม เป็นต้น

 

แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเมื่อไปด้วยกันไม่ได้ จะทำยังไงก็ไปไม่ได้!

 

 

 

 

แตก-ย้าย

 

 

ช่วงเวลานั้น พรรคประชาธิปัตย์ นับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเปรม นอกเหนือจาก พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร

 

แต่ดูเหมือนว่า “กลุ่ม 10 มกรา” จะไม่สามารถไปในทิศทางเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ได้อีกแล้ว ที่สุด ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 เพื่อลงมติโหวตกฎหมายสำคัญพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลหมายมั่นผลักดัน

 

ปรากฏว่ากลุ่ม 10 มกรา ได้ใช้พลังที่มี หรือ ส.ส.ในกลุ่มถึง 32 คน ยกมือสวนมติพรรค สวนมติรัฐบาล ไปรวมพลังกับฝ่ายค้าน

 

คนไทยอ่านถึงตรงนี้ อาจนึกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์งูเห่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์ในวันนั้น ส่งผลต่างกว่าปัจจุบันอยู่

 

กล่าวคือ แม้ผลการลงมติฝ่ายค้านจะพ่ายแพ้ด้วยคะแนน 183-134 เสียง และกฎหมายดังกล่าวเดินหน้าไปได้ แต่รมต.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ก็แสดงสปิริตด้วยการลาออกต่อ พล.อ.เปรม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531

 

มากไปกว่านั้น คือ  นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ประกาศยุบสภาในวันเดียวกันนั้นเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมือง ยังไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็น หรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก”

 

ระหว่างนั้นเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในวันที้ 24 กรกฎาคม 2531

 

ผลคือพรรคชาติไทย โดย พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือพรรคกิจสังคม 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียง “เกินครึ่ง” ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งหมด 357 เสียง 

 

ยังผลให้ แกนนำของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งลำดับแรก 5 พรรค คือ พรรคชาติไทย, พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมไทย และ พรรคประชากรไทย ได้หารือกันถึงการจัดตั้งรัฐบาล

 

การหารือนี้สรุปว่าไปเชิญพล.อ.เปรม กลับมานั่งนายกฯ ต่อ แต่นายกฯ 5 สมัย 8 ปี 5 เดือนของคนไทย ตอบมาว่า “ผมพอแล้ว” ปิดฉากเปรมาธิปไตย คนไทยได้นายกฯ เป็น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ

 

 

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

อ่าน การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ แต่...“ผมพอแล้ว!” https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/335921

 

 

 

กลายร่าง

 

หันมาข้างกลุ่ม 10 มกรา อย่างที่กล่าวไปว่า ยังไงก็ไปต่อกันไม่ได้อีก สมาชิก 40 ชีวิต ก็ได้ตัดสินได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับ กลุ่มวาดะห์” ที่ก่อตั้งโดย “เด่น โต๊ะมีนา” และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา”

 

ทั้งนี้กลุ่ม 10 มกราบางส่วน และทางกลุ่มวาดะห์ ได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน” เพื่อลงเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเอง

 

 

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

 

พรรคนี้กลายร่างมาจาก “พรรครักไทย” และมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร โดยเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค, วีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์, ไกรสร ตันติพงศ์, เลิศ หงษ์ภักดี, อนันต์ ฉายแสง, สุรใจ ศิรินุพงศ์, ถวิล ไพรสณฑ์, พีรพันธุ์ พาลุสุข, สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์, กริช กงเพชร

 

 

10 ม.ค.2530 รู้จักกลุ่ม '10 มกรา'เฟี้ยวกว่า 'งูเห่า' ก็เราไง

 

 

ที่สุด ในการเลือกตั้งวันที่ 24 กรกฏาคม 2531 พรรคประชาชนได้ ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 19 คน  แต่ในเวลาต่อมาพรรคประชาชนได้ยุบรวมเข้ากับ พรรคเอกภาพ”

 

รอยต่อตรงนั้นมีว่า เดิมที “พรรคประชาไทย” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2526 และมี ทวี ไกรคุปต์ เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรครวมไทย” (มีณรงค์ วงษ์วรรณเป็นหัวหน้าพรรค) และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “พรรคเอกภาพ” เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2532

 

ซึ่งในการกลายเป็นพรรคเอกภาพนั้น เกิดจากการที่พรรครวมไทย ได้ยุบรวมกับ 3 พรรคเล็ก คือ พรรคกิจประชาคม ของ บุญชู โรจนเสถียร, พรรคก้าวหน้า ของ อุทัย พิมพ์ใจชน และ พรรคประชาชน ของเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ (จากกลุ่ม 10 มกรา)

 

ทั้งหมดเมื่อมารวมกันทำให้มี ส.ส.ถึง 61 คน ถือเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น เป็นรองแค่พรรคชาติไทย (ด้านวีระ มุสิกพงศ์ ก็ได้แยกตัวไปสังกัดพรรคความหวังใหม่ พร้อมกับกลุ่มวาดะห์)

 

แต่ภายหลังสมาชิกพรรคเอกภาพบางส่วนซึ่งรวมถึงกลุ่ม 10 มกราบางคน (รวมเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์) ได้ย้ายเข้าไปสังกัด “พรรคสามัคคีธรรม” ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี 2535

 

ที่สุดกลุ่ม 10 มกรา จึงหมดบทบาทลงภายหลังการวางมือทางการเมืองของเฉลิมพันธ์หัวหน้ากลุ่ม หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

 

แต่ดูเหมือนว่า กลุ่ม 10 มกรา จะเป็นอีกกลุ่มการเมืองไทยที่ยังคงเป็นตำนานเล่าขานมาจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องนับว่าเป็นแหล่งกำเนิดนักการเมืองระดับพระกาฬมากมาย

 

หลายคนก็ยังคงโลดแล่นในสนามการเมืองไทยต่างพรรค ต่างค่ายกันไปในตอนนี้

 

 

***********************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ