วันนี้ในอดีต

ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน นายกฯ ไทยคนที่ 8 ถึงแก่อสัญกรรม

 

**************************

 

เอ่ยถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทยในช่วงปี 2489-2490 ผู้มีฉายาว่า นายกฯ ลิ้นทอง บุคคลผู้นั้นก็คือ “ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

 

และวันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 3 ธันวาคม 2531 ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 87 ปี ทิ้งไว้เพียงตำนานเสรีไทยผู้ตัดสินใจเข้าร่วมเอาเมื่อวันสุดท้าย และกลายเป็นนายกฯ ไทยคนเดียวที่มาจากทหารเรือ

 

ต่อไปนี้มารำลึกถึงท่านผู้นี้ด้วยประวัติ และเส้นทางการเมือง

 

 

ประวัติช่วงต้น

 

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์มีนามเดิมว่า “ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์” เกิดที่ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุง (ปัจจุบันคืออำเภอพระนครศรีอยุธยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

เป็นบุตรคนที่ 3 จากทั้งหมด 5 คนของ อู๋ กับ เงิน ธารีสวัสดิ์ มีพี่น้องคือ โต๊ะ คล่องการเขียน, ละเอียด แจ้งยุบล, เชวง ธารีสวัสดิ์ ผถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์) และ ประเสริฐ ธารีสวัสดิ์

 

 

 ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

 

พล.ร.ต.ถวัลย์เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2453จากนั้นเดินทางเข้ามาศึกษาที่พระนครที่โรงเรียนมัธยม วัดเทพศิรินทร์ และศึกษาในแผนกครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในปี 2461

 

ต่อมาได้ฝึกหัดครูเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2461 แต่พบว่านี่ไม่ใช่เส้นทาง จึงเปลี่ยนไปสอบเข้าศึกษาโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2463

 

ร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ เป็นนักเรียนทำการนายเรือ มีอักษรย่อว่า น.ท.ร. ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์ ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2467 สอบไล่ได้ชั้นตรี (แผนกพรรคนาวิน) และในระหว่างเป็นทหารเรือท่านได้ใช้เวลานอกราชการเรียนกวดวิชาที่สำนักงาน ผดุงธรรม จนกระทั่งสำเร็จและได้เป็นเนติบัณฑิตไทย ในปี 2473 ทำให้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างรอบด้านทั้งในด้านการทหารและด้านกฎหมายเป็นอย่างดี

 

สำหรับเส้นทางราชการหลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ ท่านเข้ารับราชการที่กรมเสนาธิการทหารเรือ จนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2464 ได้รับยศเป็นนักเรียนนายเรือ

 

ต่อมาปี 2466 ติดยศสัญญาบัตรเป็นนายเรือตรี ก่อนจะเลื่อนเป็นนายเรือโท จนกระทั่งเป็นนายเรือเอก เมื่อปี 2472 ซึ่งในระหว่างเป็นนายเรือเอก ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงตอร์ปิโด 2ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์”

 

ทั้งนี้ ในส่วนของชีวิตส่วนตัว ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีภรรยาสามคน และมีบุตรทั้งหมดแปดคน ได้แก่

 

นางธำรงนาวาสวัสดิ์ นามเดิม แฉล้ม ธารีสวัสดิ์ (เสียชีวิต 12 กรกฎาคม 2480) มีบุตรสามคน คือ 1 ฉวีวรรณ อรรถกระวีสุนทร สมรสกับเหมาะโชค อรรถกระวีสุนทร มีบุตรห้าคน 2.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมรสกับนวลนาถ (สกุลเดิม อัชราชทรงสิริ) มีบุตรสามคน และ3. ธรรมนูญ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมรสกับวนิดา (สกุลเดิม ศรีวงศ์มูล) มีบุตรสามคน

 

 

 

 ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ภาพจาก http://www.thebookbun.com

 

 

ภรรยาคนต่อมาคือ คุณหญิงระเบียบ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (สกุลเดิม สุมาวงศ์; เสียชีวิต 28 ตุลาคม 2534) มีบุตรสามคน คือ 1.ระวีวรรณ ศักดิ์สุนทร สมรสกับนาวาเอก ศรีรัตน์ ศักดิ์สุนทร มีบุตรสามคน 2.ธำรงศักดิ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 3.เถกิงศักดิ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมรสกับปริยนุช (สกุลเดิม สุวรรณศิริ) มีบุตรสามคน

 

และภรรยาคนที่สาม คือ บรรจง ธำรงนาวาสวัสดิ์ (สกุลเดิม สุมาวงศ์) มีบุตรสองคน คือ 1.นันทวัน อัศวนนท์ สมรสกับธัญญลักษณ์ อัศวนนท์ มีบุตรหนึ่งคน 2.วันวิสาข์ วัณโณ สมรสกับวิโชติ วัณโณ มีบุตรสองคน

 

 

 

ชีวิตการเมือง

 

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 โดยตัดสินใจเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพียง 1 วันเท่านั้นก่อนการปฏิวัติ

 

 

จากการชักชวนของหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เพื่อนนายทหารเรือด้วยกัน ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือในคณะราษฎร หลังจากที่ได้ทาบทามมาก่อนหน้านั้น โดยมาชักชวนถึงที่บ้านพักในตรอกวัดสามพระยาวรวิหาร บางขุนพรหม ในเวลาเย็นจึงตัดสินใจเข้าร่วมด้วยในขณะนั้น

 

 

 

 ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

หลวงสินธุสงครามชัย ในปี พ.ศ. 2475 (ขณะนั้นมียศเป็นนายนาวาตรี)

 

 

 

ย่อนไปในเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันปฏิวัติ พล.ร.ต.ถวัลย์ ขณะนั้นอยู่ในยศเรือโท (ร.ท.) ได้ออกจากบ้านพักมาคนเดียวด้วยรถลาก มาที่ท่าราชวรดิฐซึ่งเป็นจุดนัดพบตามแผน 

 

จากนั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว ได้เริ่มบทบาททางการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ส.ส.ประเภทที่ 2) และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อปี 2476 โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2476 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้วย

 

จากนั้นได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478

 

ต่อมาเมื่อพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาอำลาจากตำแหน่ง หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นครองยศนาวาเอก ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481

 

 

 

 ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ซ้าย) ขณะเดินสนทนากับ พ.ต.ควง อภัยวงศ์

 ในงานเปิดสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2484

 

 

 

และยังร่วมรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปจนถึงปี 2487 และหลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีเช่นกัน

 

จากนั้น พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็มาจัดตั้งพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญโดยท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และในปี 2489 ท่านก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้งหนึ่งในรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ก่อนที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

 

 

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2489 ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งนั้น ประเทศอยู่ในภาวะหลังสงคราม เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดหนัก

 

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้งองค์การสรรพาหารขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง และเรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่ายจากประชาชนด้วยการออกธนบัตรใหม่ให้แลก

 

รวมทั้งนำเอาทองคำ ซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน และจากเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลและรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวออกขายนอกประเทศ โดยนำข้าวชั้นดีไปขายเหลือแต่เพียงข้าวหักสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนบริโภคเองในประเทศ รวมถึงการคอร์รัปชั่นประการต่างๆ ในรัฐบาล

 

ทำให้ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการอภิปรายครั้งแรกด้วยที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แม้จะได้รับเสียงส่วนมากไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทำให้ท่านต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น และได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันที

 

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น มีความแตกแยกกันเองในหมู่นักการเมือง และประชาชนค่อนข้างมาก หลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเหตุอื่นๆ

 

บทบาทของท่านในช่วงนี้ คือ การเจรจาทำความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่ายเพื่อประสานรอยร้าว จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “นายกฯลิ้นทอง” ทั้งนี้เพราะท่านเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ มีสำนวนอันเฉียบคม

 

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถอภิปรายในสภาในประเด็นและปัญหาต่างๆ ที่สมาชิกสภากลุ่มใดไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจถ่องแท้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนซึ่งนอกจากฉายา นายกฯ ลิ้นทองแล้ว ยังมี "นักการเมืองลิ้นทอง” “รัฐมนตรีลิ้นทอง” อีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี ด้วยความผันผวนทางการเมือง ที่สุดก็เกิดรัฐประหารโดยคณะทหาร นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ส่งผลให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปลี้ภัยอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบต่อมา

 

 

 

 ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร

 

 

 

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ารวมอายุได้ 87 ปี นับเป็นทหารเรือคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบันที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

 

 ปิดตำนาน นายกฯ ลิ้นทอง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขณะแถลงในรัฐสภา พ.ศ. 2490

 

 

สำหรับยศทหาร มีดังนี้

 

ปี 2481 นาวาเอก, ปี 2486 พันเอก, ปี 2486 พลตรี, พลเรือตรี และ นาวาอากาศเอกส่วนตำแหน่งทางวิชาการช่วงปี2482 ท่นเป็นศาสตราจารย์วิสามัญแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

****************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ