วันนี้ในอดีต

27 พ.ย.2438 พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 124 ปีก่อน ลายเซ็นต์บนพินัยกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนบนโลกนี้

 

 

****************************

 

 

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่า “โนเบล” ก็จะรู้ดีว่านี่คือรางวัลระดับโลกที่มอบแก่ผู้ที่ทำบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าแก่มวลมนุษยชาติ

 

เจาะจงเข้าไปอีก “รางวัลโนเบล” คือรางวัลประจำปีระดับนานาชาติพิจารณาผลงานวิจัย หรือความอัจฉริยะ และความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

เหรียญรางวัลโนเบล

 

 

เจาะจงเข้าไปอีก รางวัลนี้จัดโดยคณะกรรมการสแกนดิเนเวีย ตามเจตจำนงของ “อัลเฟรด โนเบล” หรือ "อัลเฟร็ด เบิร์นฮาร์ท โนเบล" นักเคมีชาวสวีเดนผู้โด่งดัง และรวยระดับอภิมหาเศรษฐี จากการผลิตไดนาไมท์ ระเบิดทรงอานุภาพร้ายแรง

 

แต่ใครจะรู้บ้างว่า รางวัลนี้ถูกเรียกว่ารางวัลที่กลายร่างมาจาก “เงินบาป” เมื่อก่อนตาย อัลเฟรด โนเบล ตัดสินใจนำเงินทั้งหมดของเขาจำนวนมหาศาลจากการขายอาวุธร้ายแรงนั้น มาตั้งเป็น “มูลนิธโนเบล” เพื่อมอบรางวัลโนเบลให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานสร้างสรรค์และรางวัลด้านอื่นๆ อีก 5 สาขา คือ สาขาฟิสิกส์ เคมี แพทยศาสตร์ วรรณกรรม สันติภาพ และเศรษฐศาสตร์

 

และเจตจำนงทั้งหมดของเขาก็อยู่ในพินัยกรรมฉบับสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

 

 

 

ลูกช่างประดิษฐ์

 

ใครเลยจะนึกว่า ที่จริงแล้ว ไดนาไมท์ไม่ใช่ต้นคิดของโนเบลเองเสียทั้งหมด เพราะที่จริงแล้วบิดาของเขาต่างหาก หรือ "อิมมานูเอล โนเบล" ที่เป็นต้นเรื่อง

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

อิมมานูเอล โนเบล

 

 

 

โนเบล นั้นเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2376 ที่เมืองสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน บิดาเป็นนักธุรกิจ แต่ก็เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลาน จนมองเห็นหนทางจึงย้ายไปทำธุรกิจที่ประเทศรัสเซีย

 

และที่แดนหมีขาว ปรากฏว่าบิดาของโนเบล จังหวะดีได้สัมปทานธุรกิจเหมืองแร่ และยังเริ่มทำธุรกิจทำโรงงานระเบิด และอาวุธสงครามที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

 

และจากธุรกิจอาวุธสงครามและการทำระเบิดนี่เอง ที่เป็นที่มาของความมั่งคั่งร่ำรวยชนิดอะไรก็หยุดไม่อยู่ พ่อของเขาจึงกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อรับครอบครัวทั้งหมดย้ายมาอยู่ด้วยกันที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี 2385 ขณะที่โนเบลมีอายุ 9 ขวบเท่านั้น

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

ภาพที่ว่ากันว่าเป็น อัลเฟรด โนเบล ในวัยเด็ก (จาก pinterest)

 

 

 

มีข้อมูลว่า ระเบิดที่บิดาของโนเบลผลิตนั้น ผลิตจากไนโตรกลีเซอรีน ซึ่งระเบิดง่าย และมีแต่โรงงานของบ้านโนเบลเท่านั้นที่ผูกขาดการผลิตรายเดียว

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อระเบิดไนโตรกลีเซอรีน ระเบิดขึ้นที่ไหน ก็เหมือนเป็นลายเซ็นต์ของบ้านโนเบล และแน่นอนพ่อของเขาก็กลายเป็นวายร้ายในสายตาชาวโลก

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

โนเบลในวัย 17

 

 

 

อย่างว่า เมื่อธุรกิจโตเพราะสงคราม เมื่อสงครามจบธุรกิจก็จบด้วย (จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสงครามในโลกนี้ถึงไม่เคยจบในหลายพื้นที่)

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

ภาพวาดสงครามไครเมีย ที่กินเวลาเพียง 3 ปี ในมุมของคนค้าอาวุธ แต่ชั่วกัปชั่วกัลป์ของประชาชนในสมรภูมิ

 

 

 

ที่สุดบ้านโนเบลหลังสงครามไครเมียสงบ รัสเซียแพ้สงคราม อาวุธก็ขายไม่ออกเป็นธรรมดา พ่อของโนเบลก็กลายเป็นบุคคลล้มละลาย ครอบครัวจึงอพยพกลับมายังบ้านเกิดกรุงสต็อคโฮล์มอีกครั้ง

 

แต่แม้ว่าในที่สุดครอบครัวของโนเบลจะสามารถตั้งตัวได้ใหม่ แต่พ่อของโนเบลก็ได้ลาโลกไปเสียก่อนในปี 2415 ด้วยวัย 71 ปี

 

 

 

 

มรดกพ่อ

 

ไม่เพียงมรดกทั้งหมดของครอบครัว ที่จะตกไปยังโนเบล ลูกชายของบ้านแล้ว แต่เหมือนว่าเลือดเนื้อและวิญญาณของ “นักสร้าง-นักทำลาย” จะอยู่ในเลือดของโนเบลทุกหยดด้วย

 

หลังจากตั้งหลักได้ โนเบลในวัย 39 ก็เดินหน้าสานต่อกิจการของพ่อแบบเต็มสูบ แต่รุ่นลูกทั้งที ความอัพเกรดจะต้องมี และโนเบลเองก็เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแก้บัคของพ่อ

 

เขาตั้งบริษัท โบโฟรส์ (Bofors) และพยายามแสวงหาวิธีการป้องกันไม่ให้ระเบิดไนโตรกลีเซอรีนระเบิด่ได้ง่ายๆ อีกต่อไป เขาเพียรค้นคว้าทดลองจนกระทั่งวันแห่งความสำเร็จก็มาถึง

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

 

 

 

แต่ข่าวดีในข่าวร้าย (หรือจะข่าวร้ายทั้งก้อน) ปรากฏว่าระเบิดของโนเบลระเบิดได้ยากขึ้นจริง แต่กลับทรงอานุภาพร้ายแรงกว่าเดิมหลายเท่า โนเบลเรียกมันว่า “ระเบิดไดนาไมท์"

 

และเหมือนกับหนังม้วนเดิม เพราะ "ระเบิดไดนาไมท์" ได้ทำให้โนเบลผู้ลูก ร่ำรวย มีชื่อเสียง แถมได้รับเอาความเกลียดชังใส่พกใส่ห่อกลับบ้านมาด้วย เหมือนบิดาเป๊ะ!

 

ว่ากันว่า โนเบลโดนบอยคอตถึงขนาดโรงแรมหลายแห่งไม่ยอมให้เขาพัก ประเทศอังกฤษไม่อนุญาตให้สินค้าจากโรงงานของโนเบลเข้าประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม เราไม่กล้าฟันธงหรอกว่าโนเบลทำยังไง บ้างก็ว่าด้วยวิธีการเจรจาประสาคนเก่ง หรือ นักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ ทำให้ที่สุดหลายประเทศที่เคยต่อต้านสินค้าของเขาก็อนุญาตให้เขาเข้าไปตั้งโรงงานผลิตระเบิดขายอย่างเปิดเผยเฉย!!

 

ทั้ง  โปรตุเกส สเปน ฟินแลนด์ อิตาลี ออสเตรีย เยอรมันนี ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น แม้แต่อังกฤษ ยังต้องกระแอมดังๆ ทำเป็นขวยเขินแล้วก็เปิดประตูรับ

 

เวลานั้น อะไรก็หยุดโนเบลไว้ไม่ได้อีกแล้ว ความยิ่งใหญ่ของเขามาแรงยิ่งกว่ารุนพ่อเสียอีก

 

 

 

 

มรดกลูก

 

แต่ที่สุดในช่วงบั้นปลายของชีวิต โนเบลเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรค

 

ทางโลกอาจบอกว่าเพราะความเครียด การทุ่มเททำงานหนัก ทางธรรมบอกเพราะกรรม และที่ป่วยเพราะรู้สึกผิด อย่างที่รู้ว่าผลงานของเขานั้นคือสิ่งทำลายล้างผู้คนไปจำนวนมากมายมหาศาลไม่ต้องนับ

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

 

 

ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่ง แม้แต่คนในครอบครัวของโนเบลก็โดนมาแล้ว โดยขณะที่โนเบลพยายามคิดค้นวิธีแก้ปัญหาการระเบิดง่ายของสูตรที่พ่อคิดขึ้น ปรากฏว่าได้มีการระเบิดขึ้นในโรงงานของครัวของโนเบลอยู่บ่อยครั้ง

 

และครั้งที่รุนแรงถึงชีวิต คือในปี 2407 ระเบิดได้คร่าชีวิตของน้องชายของโนเบลพร้อมคนงานอีกหลายคน

 

ที่สุด เมื่อโนเบลมาถึงปลายทาง ว่ากันว่า เมื่อร่างกายโนเบลเริ่มอ่อนแอ แต่ใจเขากลับแข็งแกร่งขึ้น เพราะเกิดตระหนักรู้ขึ้นมาว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อชดใช้ให้กับสิ่งที่เขาทำลงไป

 

แต่บ้างก็ว่า ที่โนเบลเปลี่ยนไป เพราะมีหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ซึ่งประณามการคิดค้นไดนาไมท์ ได้ตีพิมพ์คำไว้อาลัยการเสียชีวิตของโนเบลล่วงหน้าในปี 2431 ทั้งที่จริงโนเบลตายในปี 2439

 

โดยในคำไว้อาลัยของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเขียนถากถางไว้ว่า “พ่อค้าความตายได้ตายไปแล้ว”, “ดร. อัลเฟร็ต โนเบลผู้ซึ่งร่ำรวยมหาศาลด้วยการคิดค้นวิธีฆ่าคนให้ได้จำนวนมากขึ้น เร็วขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนได้ตายเสียแล้วเมื่อวานนี้”

 

ผู้คนเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โนเบลตัดสินใจใช้มรดกของเขาในทางที่เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ หากแต่เรื่องนี้ยังได้รับการปฏิเสธว่ามิได้เกิดขึ้นจริง!

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

หน้าข่าวสารต้นเรื่องในโลกออนไลน์ ที่หลายคนเชื่อว่ามันคือ "ข่าวลวง - fake news"

 

 

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2438 หรือวันนี้เมื่อ 124 ปีก่อน โนเบลได้ลงนามใน “พินัยกรรมฉบับสุดท้าย” ของเขา พร้อมคำสัญญายกที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเพื่อใช้จัดตั้งรางวัลโนเบลสำหรับมอบแก่ผู้ทำประโยชน์ดีเด่นแก่โลกโดยไม่เลือกสัญชาติ

 

เกิดเป็น “มูลนิธิโนเบล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลโนเบลให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานสร้างสรรค์และรางวัลด้านอื่นๆ อีก 5 สาขา คือ สาขาฟิสิกส์ เคมี แพทยศาสตร์ วรรณกรรม สันติภาพ และเศรษฐศาสตร์

 

 

 

ลาก่อนและสวัสดี

 

ที่สุดเขาก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2439 ที่เมืองซานรีโม ประเทศอิตาลี ด้วยวัย 63 ปี

 

ว่ากันว่าจำนวนทรัพย์สินที่มอบให้แก่กองทุนรางวัลโนเบลมีมูลค่าในขณะนั้นเป็นจำนวน 31 ล้านโครนหรือ 4,233,500.00 ดอลลาร์สหรัฐ

 

3 รางวัลแรกมอบให้แก่วิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ เคมีและวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ สรีรวิทยา รางวัลที่ 4 มอบให้แก่งานด้านวรรณคดี รางวัลที่ 5 มอบให้บุคคลหรือสถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่สร้างความปรองดองในระดับนานาชาติ ลดการกดขี่หรือลดจำนวนกองกำลังรบ หรือสร้างสันติภาพ

 

 

 

27 พ.ย.2438  พินัยกรรม ฉบับสุดท้าย  ของ 'อัลเฟรด โนเบล'

โนเบลในช่วงชรา ซึ่งดูชราภาพมากกว่าอายุจริงของเขาที่ 63

 

 

วันนี้รางวัลโนเบล กลายเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ทำให้ผู้ได้รับรางวัลกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกขึ้นมามากมาย เช่น แมรี คูรี่, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, รพินทรนาถ ฐากูล, เออร์เนส เฮมิงเวย์, องค์ดาไล ลามะ, อองซาน ซูจี, อัลกอร์, ฯลฯ 

 

แอบหยอดเกร็ดที่เล่าปากต่อปากว่า การที่ไม่มีรางวัลโนเบลใน “สาขาคณิตศาสตร์” อยู่ด้วยนั้น มีข่าวลือกันในขณะนั้นว่าเพราะโนเบลอกหักจากสาวที่หนีไปอยู่กับนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งนั่นเอง...จริงเท็จยังไงค้นกันเอาเอง

 

แต่ที่แน่ๆ แม้ว่า "โนเบล" ผู้เป็น "นักบุญคนบาป" ได้จากโลกนี้ไปนานแล้ว หาก "โนเบล" ที่เป็นรางวัลทรงเกียรติ สัญลักษณ์ของ "ยอดคน" ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกค้อมศีรษะให้เสมอมา

 

***************************

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ