วันนี้ในอดีต

11 พ.ย. 2547 คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า อิทธิ พลางกูร 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน โรคร้ายคร่าชีวิต อิทธิ พลางกูร

 

 

 

***********************************

 

 

"เก็บตะวัน ที่เคยส่องฟ้า เก็บเอามา ใส่ไว้ในใจ

เก็บพลัง เก็บแรงแห่งแสง ยิ่งใหญ่ รวมกันไว้ ให้เป็น 1 เดียว"

 

นี่เป็นเพียงท่อนแรกๆ ของเพลง “เก็บตะวัน” แต่เชื่อว่าคนไทยจะยังมีเพลงนี้ทุ้มอยู่ในใจมาจนถึงวันนี้ และน้อยคนจะร้องตามไม่ได้

 

เพลงนี้ไม่เพียงโด่งดังได้รับความนิยมเป็นอันมากขณะนั้น แต่เพลงนี้ ยังอมตะตราตรึงใจพวกเรามาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญ เพลงนี้คือเพลงที่ขับร้องโดยอดีตนักร้องที่คนไทยชื่นชอบ และชื่นชมในความสามารถ เขาคือ “อิทธิ พลางกูร”

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

 

 

หากแต่น่าเสียดายยิ่งที่เขาได้จากพวกเราไปนานแล้วจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ ตั้งแต่วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 วันนี้เรามาย้อนคิดถึงนักร้องเคราเฟิ้มเสียงมีเอกลักษณ์คนนี้กัน

 

เส้นทางคนดนตรี

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดียเล่าไว้ละเอียดว่า อิทธิ พลางกูร มีชื่อจริงว่า "เอกชัยวัฒน์ พลางกูร" เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2498 เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส และ แพทย์หญิงสุมาลย์ พลางกูร

 

อิทธิ พลางกูร จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จบ ม.ปลายที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอนุปริญญาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

ภาพจาก http://topicstock.pantip.com/chalermkrung/topicstock/2012/02/C11684357/C11684357-vote0.jpg

 

 

ในทางดนตรี เขาเล่นเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ “กลอง” ก่อนจะหันมาเล่นกีตาร์ ซึ่งเพลงแรกที่หัดเล่นกีตาร์คือเพลง500 Miles ของวง The Journeymen โดยได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากพี่ชาย “อุกฤษฏ์ พลางกูร”

 

อิทธิฉายแววนักดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก และสามารถเล่นเพลงของ “จิมมี เฮนดริกซ์” และ “วง ครีม” ซึ่งถือว่าเล่นยากมากได้ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.ต้น

 

ต่อมาเมื่อเรียนม.ปลาย ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ตั้งวงดนตรีเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่าวง “เดอะ สตรีม” โดยได้ขึ้นแสดงเพลง Old Turkey Buzzard ของ Jose Faliciano ในงานของโรงเรียน ซึ่งเพลงดังกล่าวเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง McKenna's Gold หรือขุมทองแม็คเคนน่าที่โด่งดังมากในเมืองไทย นอกจากนี้ยังเล่นเพลงของเดอะ บีทเทิลส์และวงครีมอีกด้วย

 

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย อิทธิย้ายกลับกรุงเทพ เพื่อเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้เข้าร่วมกับวง “ดิ ออร์กาไนซ์เซชั่น” เล่นเพลงแนวฮาร์ดร็อกของวงดีพ เพอร์เพิล,ยูไรอาห์ฮีป,แกรนด์ฟังก์เรลโรด

 

 

 

ก้าวเข้าสู่วงการเพลง

 

อิทธิเข้าสู่วงการเพลงด้วยการเป็นสมาชิกวง “เดอะ เบลสส์” ซึ่งเป็นการออดิชั่นเพื่อหางานดนตรีเล่นประจำตามไนท์ คลับ มีสมาชิกยุคเริ่มแรกคือ สุรสีห์ อิทธิกุล ในตำแหน่งมือกีตาร์, สมชาย กฤษณะเศรณี ตำแหน่งมือเบส, โชด นานา มือกลอง และ ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว(ปั่น) เป็นนักร้องนำ

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

เดอะ เบลสส์ ภาพจาก https://pantip.com/topic/32834409

 

 

ตอนนั้น อิทธิ พลางกูร รับหน้าที่เล่นกีตาร์ พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่นให้เบาลงเพื่อให้สามารถเล่นกับโรงแรมหรูๆ ได้

 

ต่อมาเมื่อ สุรสีห์, ไพบูลย์เกียรติ และ สมชาย ได้แยกตัวออกไป จึงเปลี่ยนสมาชิกในวงเป็น ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล ในตำแหน่งมือกลองและร้องนำ, วิวัฒน์ ไชยเจริญ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกวงแกรนด์เอ็กซ์ในยุคแรก มาเป็นสมาชิกในตำแหน่งเปียโน และนพดล กมลวรรณ อดีตสมาชิกวง เดอะ ฟ็อกซ์ มาเล่นในตำแหน่งคีย์บอร์ด และซินธิไซเซอร์ นอกจากนี้ยังได้จารึก วิริยะกิจ หนึ่งในนักร้องที่ได้รับฉายาว่า “เอลวิส” เมืองไทย มาเป็นนักร้องหลักให้กับวง

 

วงเดอะ เบลสส์ ออกผลงานเพลงไทยชุดแรก เป็นอัลบั้มพิเศษ โดยเป็นการนำบทเพลงแนวโฟล์คซองคำเมืองจากอัลบั้ม "โฟล์กซองคำเมือง" อมตะ 1 และ 2 ของจรัล มโนเพ็ชร และเพลงคำวิงวอน โดยต้นฉบับของ สมบูรณ์ บุญโรจน์ มาทำดนตรีใหม่ในแนวเพลงดิสโก้ ชื่ออัลบั้ม คำเมืองดิสโก้ สังกัดค่ายชัวร์ออดิโอ

 

ต่อมาในปี  2526 ซึ่งเป็นยุคที่เพลงไทยกำลังเฟื่องฟู เดอะ เบลสส์ ได้ออกสตูดิโออัลบั้มที่เป็นผลงานของตัวเองชุดแรกในชื่อ "หัวใจขายขาด" สังกัดห้องอัดเสียงทอง ซึ่งมี “อุกฤษฏ์ พลางกูร” พี่ชายของอิทธิ เป็นผู้บริหารและควบคุมการบันทึกเสียงในขณะนั้น

 

อัลบั้มนี้ มีเพลงฮิตอย่างหัวใจขายขาด ซึ่งเป็นเพลงเก่าของสุเทพคอรัส แนวร็อค แอนด์ โรล ร้องโดย ธนิต และเพลง "เมื่อใดฉันไร้รัก" เพลงช้าที่โดดเด่นมาก จากการร้องของอิทธิ โดยอัลบั้มนี้ได้ “สุรพล โทณะวณิก” มาเขียนคำร้อง

 

ปีต่อมาตามมาด้วย อัลบั้ม "คืนเหงาใจ" ซึ่งมีเพลงฮิตคือ "อเมริกา" โดย อิทธิ พลางกูร ได้ร้องนำในอัลบั้มนี้ 4 เพลง ได้แก่ คืนเหงาใจ, ลวง, เธอกับฉัน และคืนแสงจันทร์

 

แต่น่าเสียดายที่อัลบั้มนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายมากนัก จากนั้นทางวงประสบปัญหาไม่มีที่เล่นดนตรีประจำ และสมาชิกเกิดความเบื่อหน่าย จึงยุบวงหลังโลดแล่นเป็ยวงร่วมกันมาถึง 8 ปี

 

อย่างไรก็ดี หลังจากยุบวง อิทธิไปเป็นหุ้นส่วนทำห้องอัด “แจม สตูดิโอ” กับพี่ชาย พร้อมกับทำงานเป็น ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์ และโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินต่างๆ มากมาย

 

 

 

บินเดี่ยว

 

ต่อมา อิทธิ ได้รับการชักชวนจาก "สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" หรือ "เฮียฮ้อ" ให้ออกอัลบั้มชุดแรกในปี 2531 ชื่อชุด “ให้มันแล้วไป” กับสังกัด อาร์.เอส.โปรโมชั่น กรุ๊ป 

 

คราวนี้ปรากฏว่าเพียงแค่อัลบั้มแรกก็ประสบความสำเร็จสุดขีดด้วยยอดขายกว่า 700,000 ตลับ เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ "ให้มันแล้วไป" และ "เก็บตะวัน" ซึ่งแต่งโดย “ธนพล อินทฤทธิ์”

 

2 เพลงที่ว่ามา ฮิตติดชาร์ตอันดับหนึ่งเกือบทุกสำนัก นอกจากจะประสบความสำเร็จทางยอดขายแล้ว มิวสิกวิดีโอเพลง "เก็บตะวัน" ก็ยังได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำชนะเลิศ สาขามิวสิกวิดีโอดีเด่น อีกด้วย โดยการกำกับของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

 

 

นอกจากนี้ยังมีเพลงฮิตอื่นๆ เช่น ยังจำไว้ ซึ่งแต่งทำนองโดย ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล อดีตสมาชิก วงเดอะ เบลสส์ ที่มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์ร่วม

 

หลังจากนั้น อิทธิก็ยังมีผลงานเรื่อยมา ดังนี้ ปี 2532 อัลบั้มชุดที่ 2 กับทางอาร์.เอส. คือ อัลบั้มชื่อว่า "ไปต่อไป" โดยมีเพลง ไปต่อไป,กายช้ำ และอย่าเอ่ยคำว่ารัก เป็นเพลงฮิตประจำคลื่นวิทยุ

 

ปี 2533 ออกอัลบั้ม "อิทธิ 3 เวลา" งานนี้ยังสร้างความฮือฮาด้วยการนำ "เทียรี่ เมฆวัฒนา" จากวงคาราบาวมาร่วมงานด้วยในเพลง "กาลเวลา" และเพลง "เราสามคน" ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องข้ามปี

 

มิวสิกวิดีโอเพลงนี้โด่งดังอย่างมาก เพราะได้ดาราดังในยุคนั้นมาร่วมแสดงถึง 3 คน ได้แก่ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย, วินิจ เลิศรัตนชัย และ เปิ้ล ปาริกา เทพสุขดี (วงมะลิลา บราซิลเลี่ยน)

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

 

 

ปี 2535 อิทธิออกอัลบั้มชุดที่ 4 ชื่อชุดว่า "ป้ายแดง" เขายังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม และอัลบั้มนี้มีเพลงฮิตคือ ฟ้า...ดอกไม้และเธอ, อย่าทนอีกเลย ซึ่งได้ “ริสา หงษ์หิรัญ” และ “อรรถชัย อนันตเมฆ” มาแสดงมิวสิกวิดีโอร่วมกัน

 

และยังมีเพลง เข้าใจหน่อย (โอ๊ย) ที่ได้ “อุดม แต้พานิช” มาเล่นเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอ และเพลงรอยร้าว ซึ่งเป็นเพลงฮิตที่ยังได้ยินอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายที่ทำการบันทึกเสียงที่ แจม สตูดิโอ เพราะทางต้นสังกัดอาร์เอสได้เปิดห้องอัดเสียงเองแล้ว

 

ปี 2536 อิทธิ พลางกูร อัดเสียงกับอาร์เอส อออกอัลบั้มที่ 5 ชื่อว่า "อิทธิ 5 กำลัง D" โดยมีเพลง "ทรมาน" เป็นเพลงที่ใช้โปรโมตอัลบั้ม และทำเป็นมิวสิกวิดีโอแสดงโดย “พีท ทองเจือ” และ “จริยา แอนโฟเน่”

 

ปี 2538 อิทธิ มีอัลบั้มรวมฮิตรวมฮิต “เก็บตะวัน” โดยมีการเพิ่มเพลงใหม่ คือ รู้นะ..คิดอะไรอยู่ โดยได้ “จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์” เล่นเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอ

 

ปีต่อมาได้ออกอัลบั้ม "อิทธิ 6 ปกขาว" มีเพลงที่ได้รับความนิยมคือปกขาว, น้ำในตา ที่ได้ “ฉัตรชัย เปล่งพานิช” มาเล่นเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอร่วมกับ “กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา” และ “กรรชัย กำเนิดพลอย” นอกจากนี้ยังได้ “สร่างศัลย์ เรืองศรี” หรือ “หนู มิเตอร์” มาช่วยเล่นกีตาร์

 

อย่างไรก็ดี ช่วนั้น อิทธิยังยังทำงานเบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์ควบคุมการผลิตผลงานของศิลปินในสังกัดเดียวกันอีกหลายคน เช่น อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, เรนโบว์ (พีระพงษ์ พลชนะ) เป็นต้น

 

ปี 2540 อิทธิได้ออกอัลบั้มรวมฮิตชื่อว่า "Heart Hits" โดยเพิ่มเพลงใหม่เข้ามา 2 เพลงคือเพลง ฝันร้าย และเพลง ไม่ต้องขอบใจ

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

 

 

ต่อมาในปีเดียวกันอิทธิได้ลาออกจากอาร์เอส มาตั้งค่ายเพลงของตัวเองชื่อ "มิวสิก ออน เอิร์ธ" โดยมีเอ็มจีเอดูแลด้านการตลาด พร้อมกับได้ออกอัลบั้มของตัวเองคู่กับเทียรี่ เมฆวัฒนาในชื่อชุด "ฮาร์ท แอนด์ โซล" มีเพลงที่ได้รับความนิยม คือ ในกำมือ, ผัดฟัก...ฟักผัด, ฆ่าไม่ตาย, คนดีในชีวิต เป็นต้น

 

และได้ออกอัลบั้มชุด อันปลั๊ก เชดส์ ออฟ เลิฟ โดยนำเพลงในอัลบั้มชุดก่อนๆ ของตนเองและเพลงสากลในอดีตเช่น Reflection Of My Life ของ Marmalade, Still In Love With You ของ Sherbet และ Angelina ของ Rosetta Stone มาขับร้องและทำดนตรีใหม่ในแนวอคูสติกซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จพอควร

 

ปีต่อมาทางค่ายได้ออกอัลบั้มรวมเพลงที่ร้องโดยศิลปินในค่ายออกมาในชื่อชุด แค่บอกลา/ใต้แสงจันทร์ โดยอิทธิ พลางกูร ร้องเพลงใหม่ 1 เพลง คือเพลง แค่บอกลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

จากนั้นผลงานของศิลปินคนอื่นในค่ายที่ออกตามหลังมาก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องปิดค่ายไปในระยะเวลาต่อมาไม่นาน

 

 

 

ช่วงบั้นปลายชีวิต

 

กลางปี 2545 อิทธิ พลางกูร ปรากฏเป็นข่าวใหญ่เมื่อพบว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ขั้นรุนแรงแล้ว โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวมาก่อน จนเขาได้เข้ารับการรักษา โดยหลังจากผ่าตัดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 อิทธิก็มีร่างกายซูบผอมอย่างเห็นได้ชัด

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

ภาพจากวิกิพีเดีย

 

 

ต่อมาทางอาร์.เอส.โปรโมชั่น ต้นสังกัดเก่าก็ได้ให้ความช่วยเหลือกับอิทธิและครอบครัว โดยการให้ออกอัลบั้มอีกชุด ในชื่อชุดว่า "เวลาที่เหลือ" โดยมีเพลงที่ใช้โปรโมตคือเพลงสะดวกโยธิน และ เพลงเจ็บจะตาย และทำอัลบั้มชุดพิเศษที่รวมเอานักร้อง ศิลปินในค่ายมาร้องเพลงของอิทธิขึ้นมาใหม่ ในชื่อชุด “A Tribute To อิทธิ พลางกูร”

 

ทั้งนี้มีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ขึ้นมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2547 ที่ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ซึ่งอิทธิ ได้ขึ้นแสดงและร้อง 3 เพลง คือ เพลงกาลเวลา ร่วมกับเทียรี่ เมฆวัฒนา เพลงไม่ธรรมดา ร่วมกับอุกฤษฎ์ พลางกูร พี่ชายของเขาเอง และเพลงสุดท้ายคือ "ยังจำไว้" วันนั้นเขาร้องเดี่ยวและสะกดผู้ชมทั้งงาน 

 

 

11 พ.ย. 2547  คิดถึงตะวันดวงนี้ที่ปลายฟ้า  อิทธิ พลางกูร 

อิทธิและครอบครัวกับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้าย (ภาพจากไทยรัฐ)

 

 

ในวันนั้นยังมีภาพของครอบครัว ทั้งภรรยาพร้อมลูกๆ  คือ นางชาญดา ลียะวณิช และลูก คือ ญาดา, เขมิกาวราลี และ ภริชญา พลางกูร ก็ได้ขึ้นเวทีแสดงด้วย โดยเพลงยังจำไว้ ถือเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่อิทธิ พลางกูร ที่ร้องเดี่ยวต่อหน้าผู้ชม

 

ก่อนที่ต่อมาไม่นาน 9 พฤศจิกายน 2547 อิทธิ ได้เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลบางโพ โดยมีอาการไข้สูง และอ่อนเพลีย

 

แพทย์ระบุ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้กระจายไปตามกระแสเลือด และพิษจากแบคทีเรียทำให้การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว จากนั้นแพทย์ได้นำอิทธิเข้าห้องไอซียู แต่อิทธิก็ยังมีไข้ต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่วันที่ 9-10 พฤศจิกายน

 

จนกระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 เวลา 9.00 น. ก็มีอาการทรุดหนัก หายใจไม่สะดวกจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งแพทย์ได้ช่วยปั๊มหัวใจจนชีพจรเต้นขึ้นมาอีกครั้ง

 

ต่อมาเวลา 14.50 น. หัวใจก็ล้มเหลวและหยุดเต้นอีกซึ่งแพทย์ได้พบว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปในอวัยวะทุกส่วนแล้ว รวมถึงสมองด้วย

 

จากนั้นแพทย์ก็ได้ช่วยปั๊มหัวใจอีกและใส่เครื่องหายใจช่วย แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ โดยอิทธิได้สิ้นลมหายใจเมื่อเวลา 16.00 น. งานศพของอิทธิทำการบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขนมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน

 

และเช่นเคย ขอรำลึกถึงเขาด้วยผลงานเก่าๆ ของเขา ด้วยเพลง "เราสามคน" กัน

 

จาก rsfriends

 

 

*******************************************

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ