ข่าว

22 ต.ค. 2522สิ้นตำนานครูโพล้ง 1 ใน 5 เสือศิษย์สำนักท่าเสา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน ปิดตำนานมวยคาดเชือกผู้โด่งดังระบือไกล

 

 

***********************

 

วันนี้มาว่ากันที่เรื่องราวของหมัดๆ มวยๆ กันบ้าง

 

คนไทยยุคหนึ่งน่าจะจำ "โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ" ได้ดีว่า เขาคือยอดมวยคาดเชือกที่มือชื่อเสียงมากยุคหนึ่ง ถึงขนาดได้ฉายาว่า "มวยตีนลิง" 

 

หากแต่วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 22 ตุลาคม 2522 ครูโพล้งได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 78 ปี เหลือไว้แต่ตำนานมวยคาดเลือกศิษย์สำนักท่าเสา แห่งจ.อุตรดิตถ์ ซึ่งวันนี้เราจะมาย้อนตำนานนั้นอีกครั้ง

 

 

22 ต.ค. 2522สิ้นตำนานครูโพล้ง 1 ใน 5 เสือศิษย์สำนักท่าเสา

ครูโพล้ง

 

 

 

 

คนบ้านท่าเสา

 

 

ครูโพล้ง เลี้ยงประเสริฐ เกิดเมื่อประมาณปี 2444 ที่บ้านท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ เป็นบุตรของนายสอน-นางขำ เลี้ยงประเสริฐ มีพี่น้อง 7 คน โดยเป็นชาย 6 คน หญิง 1 คน คือ แก้ว, โต๊ะ, โพล้ง, แพ, ฤทธิ์ และพลอย เลี้ยงประเสริฐ ทั้งนี้เดิมทีบ้านนี้นามสกุล "เลี้ยงเชื้อ" หากต่อมาด้วยชื่อเสียงเลื่องลือเชิงมวย กรมหลวงชุมพรฯ ได้เปลี่ยนให้เป็น "เลี้ยงประเสริฐ"

 

ใครที่ติดตามสายมวยจะรู้ว่า คนบ้านนี้มีลูกชายที่มีชื่อเสียงทางหมัดมวยถึง 5 คน จนได้ฉายาว่า 5 เสือ โดยทั้งหมดคือ โต๊ะ โพล้ง ฤทธิ์ แพร พลอย

 

 

22 ต.ค. 2522สิ้นตำนานครูโพล้ง 1 ใน 5 เสือศิษย์สำนักท่าเสา

พี่น้องเลี้ยงประเสริฐ แห่งบ้านคุ้งตะเภา คนนั่งหน้าคือ สอน เลี้ยงประเสริฐ บิดา

แถวยืนจากซ้ายไปขวา- พลอย, แพ, ฤทธิ์, โพล้ง, โต๊ะ และแก้ว

 

 

 

ทั้งหมด ฝึกมวยจาก “ครูเอม บ้านท่าเสา” ซึ่งเป็นลูกศิษย์ในสายของ “ครูเมฆ บ้านท่าเสา” ที่เป็นครูของพระยาพิชัยดาบหักอีกที

 

ตามประวัติหลายแหล่งระบุตรงกันว่า ขึ้นชื่อว่าสำนักท่าเสานั้น ศิษย์ของที่นี่นั้นเรียกได้ว่ามีลีลาการชก ชั้นเชิงที่สวยงาม และเห็นผล ไม่ว่าจะ เตะ ถีบ และศอก ทุกท่าเมื่องัดออกมาใช้จะต้องล้มคู่ต่อกรได้เสมอ

 

อย่าง “ครูเมฆ” ที่ว่าเป็นครูของพระยาพิชัยดาบหักอีกที นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นครูมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง สร้างศิษย์มากมาย เช่น นายทองดี ผู้ที่ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองพิชัย

 

ต่อมา ครูเมฆได้ถ่ายทอดวิชามวยให้ “ครูเอี่ยม” ครูเอี่ยมท่านก็ส่งต่อไปยัง “ครูเอม” ซึ่งก็คืออาจารย์ของ 5 เสือ แห่งบ้านเลี้ยงประเสริฐนั่นเอง 

 

มีการบรรยายถึงลีลาของ 5 เสือนี้ว่า เป็นยอดมวยเชิงเตะ มีกลเม็ดเด็ดพรายแพรวพราว ตามเสียงเลื่องลือที่ว่าเป็นศิษย์สำนักท่าเสาของครูเมฆนั่นแหละ

 

 

 

5 เสือมวยคาดเชือก

 

พูดถึงมวยคาดเชือก หรือเรียกกันว่า มวยโบราณ เป็นการชกมวยไทยในสมัยโบราณที่ใช้เชือกพันที่หมัดทั้ง 2 ข้างแทนการใช้นวมเหมือนมวยไทยปัจจุบัน โดยพันหมัดด้วยเชือกจนแข็ง

 

ทั้งยังต้องผูกเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับการตกลงกันก่อนชก ก่อนชกกันนักมวยต้องมาซ้อมให้นายสนามดูก่อน ถ้ามีฝีมือใกล้เคียงกัน และทั้งคู่พอใจจะชกกันจึงถือว่าได้คู่

 

การต่อสู้จะชกกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้หรือลุกไม่ขึ้น มิฉะนั้นถือว่าเสมอกัน ซึ่งอาจจะชกกันใหม่ในคราวต่อไปถ้ายังไม่หายข้องใจ การชกมวยแบบนี้จะเน้นชั้นเชิงมากกว่าพละกำลัง

 

สนามแข่งขันเป็นสนามหญ้าหรือลานวัด มีเชือกกั้น 1 เส้น มีกรรมการห้ามเพื่อจับผู้ล้มขึ้นมาชกใหม่ และห้ามไม่ให้ซ้ำเติมคนล้ม ในงานเผาศพผู้มีฐานะในสมัยก่อน นิยมให้มีมวยชกด้วย 7 - 8 คู่

 

แต่ภายหลังได้ยกเลิกไปใช้นวม เพราะมีการชักกันถึงตาย และผู้ที่ชกในเหตุการณ์นั้นก็คือ 1 ใน 5 เสือ เลี้ยงประเสริฐนี่เอง

 

ก่อนจะไปว่ากันที่เรื่องนั้น มาทำความรู้จักนักชกทั้ง 5 กับลีลาเชิงมวยของเขากันก่อน 1.ครูโต๊ะ เกิดราวปี 2440 เป็นบุตรคนที่ 2 เป็นนักมวยที่มีอาวุธหนักหน่วงและเชิงเตะ เข่า และหมัดที่รวดเร็ว

 

 

22 ต.ค. 2522สิ้นตำนานครูโพล้ง 1 ใน 5 เสือศิษย์สำนักท่าเสา

ครูโต๊ะ ภายหลังเป็น พระอธิการโต๊ะ เลี้ยงประเสริฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ภาพจาก สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (11). กันยายน 2527. หน้า 44 - 53

 

 

2. ครูโพล้งมีอาวุธรอบตัวโดยเฉพาะลูกเตะที่ว่องไวและรุนแรงจนได้รับฉายาว่า “มวยตีนลิง” และยังมีความสามารถในการถีบอย่างยอดเยี่ยม พูดตรงกันว่า ในจำนวนพี่น้องทั้ง 5 คน ครูโพล้งมีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด

 

3. ครูฤทธิ์ เกิดราวปี 2446 มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนกว่าพี่น้องทั้งหลาย เคยชกชนะหลายครั้งที่กรุงเทพฯ และเคยชกเสมอบังสะเล็บ ครูมวยคณะศรไขว้ (ลูกศิษย์ครูแสง อุตรดิตถ์ ผู้สืบทอดมวยสายพระยาพิชัยดาบหัก)

 

4. ครูแพ เกิดราวปี 2447 เป็นนักมวยเลื่องชื่อระดับครูโพล้ง เคยปราบบังสะเล็บ ศรไขว้ ชนิดที่คู่ต่อสู้บอบช้ำมากที่สุด และครูแพนี่เองที่ ชกนายเจียร์ พระตะบอง นักมวยแขกครัวเขมรถึงแก่ความตายทางราชการจึงกำหนดให้มีการสวมนวมแทนการคาดเชือกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

 

22 ต.ค. 2522สิ้นตำนานครูโพล้ง 1 ใน 5 เสือศิษย์สำนักท่าเสา

ครูแพ 

 

 

ส่วน 5. ครูพลอย เกิดราวปี 2450 เป็นมวยที่คล่องแคล่วว่องไวในเชิงเตะ ถีบ และหมัด เนื่องจากครูโพล้งเป็นผู้สอนเชิงชกให้จึงถอดมาเป๊ะ ครูพลอยเคยมาชกชนะในกรุงเทพฯหลายครั้ง แต่ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่อมีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

 

 

 

ตำนานครูโพล้ง

 

 

กล่าวสำหรับครูโพล้ง เมื่อฝึกฝนจนช่ำชองเชิงมวย เรียกได้ว่ามีฝีมือพอ จึงตระเวนออกชกมวยตามเวทีต่างๆ จนได้พบกับ หลวงพินิจฯ ข้าราชการศาลเมืองสุพรรณ จึงชักชวนโพล้งและแพเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ

 

ต่อมา สองพี่น้องกลับบ้านไปชวนพี่น้องของตนอีก 3 คนเข้ามาชกในกรุงเทพฯ ด้วยกัน โดยอยู่ในสังกัดของ “นาวาเอก พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์” ร.น. ผลงานการชกในกรุงเทพฯ ของโพล้ง เรียกได้ว่ายอดเยี่ยม เขาเคยชนะ “สร่าง” จากลพบุรี ชนะ “บัว วัดอิ่ม” และเคยแพ้ “สุวรรณ นิวาศวัต” ที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เพราะโดนจับขาแล้วเอาศอกถองโคนขาจนกล้ามเนื้อพลิก

 

หากชีวิตของ 5 เสือพี่น้อง เคยประสบพบชะตากรรม เมื่อ “แพ” ชก “เจียร์” นักมวยชาวเขมรถึงแก่ความตาย เรื่องนี้มีบันทึกที่เล่าไว้ในเว็บ Thaiyuth ว่า

 

"เขมรเจียร์ย่างมวยเหมือนคิงคองในหนังเพราะต้องการจะจับทุ่มท่าเดียว"

 

"ส่วนครูแพก็ถีบ ต่อย และฉากหลบเป็นพัลวัน พอมาในยกที่ 3 เขมรเจียร์กระโดดจับเอวครูแพไว้ได้ แล้วก็ยกขึ้นสุดแขน หมายจะทุ่มลงจากเวทีให้ตาย"

 

"เขมรเจียร์ร้องตะโกนถามคนดูว่าจะเอาเป็นหรือเอาตาย ครูโต๊ะและครูโพล้งซึ่งเป็นพี่เลี้ยงกลัวน้องจะเป็นอันตราย ต่างร้องตะโกนให้ครูแพถีบกระเพาะปัสสาวะ ครูแพได้ยินพี่เลี้ยงตะโกนบอกจึงถีบขวาสุดแรงเกิดที่ท้องเจียร์ 2-3 ที จนมือเจียร์ที่จับเอวครูแพหลุดออกมาและเขมรเจียร์เซไปพิงเชือก"

 

"ครูโต๊ะและครูโพล้งเห็นดังนั้นก็ตะโกนบอกรหัสท่ามวย ให้ครูแพใช้ไม้มวยชุดหนุมานถวายแหวน ครูแพจึงยกมือที่คาดเชือกทั้งสองขึ้นระดับอก ก้าวเท้าซ้ายออกไปข้างหน้าและย่อตัวลงกระทุ้งหมัดทั้งสองเข้าที่ลูกกระเดือกของเจียร์อย่างสุดแรงเกิด"

 

"พร้อมด้วยท่าตามในชุดมวยท่าแม่ไม้ของสำนัก เขมรเจียร์ล้มคว่ำหน้ากลางเวทีและอาเจียรออกมาเป็นแกงกะหรี่และเลือด ขาดใจตายต่อหน้ากรรมการ"

 

"ต่อมาตำรวจได้จับกุมครูแพข้อหาฆ่าคนตายและถูกคุมขังอยู่ 2-3 วัน แต่นายสนามมวย (พระยาเทพหัสดินทร์) ได้ดำเนินการให้พ้นคดี เพราะการบาดเจ็บหรือตายอันเนื่องจากการชกมวยไม่ถือเป็นความผิดแต่ประการใด"

 

"เมื่อครูแพได้รับการปล่อยตัว นักมวยจากท่าเสาทั้ง 5 รีบเดินทางกลับอุตรดิตถ์และไม่ยอมเดินทางมาชกในกรุงเทพฯ อีกเลย" (คำบรรยายทั้งหมดมาจาก เว็บ Thaiyuth)

 

 

 

เส้นทางสุดท้ายที่บ้านเกิด

 

แน่นอนหลังจากนั้นสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อเลี้ยงชีพ ร่วมกันสอนมวยแก่ลูกศิษย์หลายคนที่มีชื่อเสียง โดยนอกจากครูพลอยแล้ว ยังมีศิษย์สำนักท่าเสายุคนั้นอีกคือ ประพันธ์ เลี้ยงประเสริฐ, เต่า คำฮ่อ (เชียงใหม่) และ ศรี ชัยมงคล รายนี้ว่ากันว่า มีอาวุธหนักหน่วง รวดเร็ว

 

อย่างไรก็ดี ครูทั้ง 5 ยังคงชกตามจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือและโคราช  และย้ายจากท่าเสาข้ามแม่น้ำไปอยู่ที่บ้านป่าขนุน ตำบลคุ้งตะเภา และทำการฝึกสอนมวยแก่ลูกศิษย์และลูกหลานต่อไปอีก

 

สำหรับ ครูโพล้งนั้น หลังขากคงฟอร์มสด สามารถชกชนะ “สิงห์วัน ประตูเชียงใหม่” ผู้เป็นยอดมวยเมืองเชียงใหม่ และชกสมอกับ “จีนไก่ คณะทวีสิทธิ์” ยอดมวยเมืองลำปาง แบบค้านสายตาคนดูพอสมควร

 

ต่อมาด้วยที่ฝีมือเก่งเกินนักมวยรุ่นเดียวกัน ในที่สุดจึงไม่มีใครขึ้นเปรียบมวยด้วยจนต้องเลิกมวยโดยปริยาย

 

แต่หลังเลิกมวยแล้ว ครูโพล้งยังได้รับเชิญให้ไปชกโชว์ตามที่ต่างๆ เช่น ช่วงอายุ 44 ปี ได้ชกโชว์กับครูชา จุฑาเพชร ครูมวยจากลำปาง เมื่อปี 2488 และได้รับเชิญให้ไปแสดงไหว้ครูมวยไทยในงานพระยาพิชัยดาบหักเป็นประจำ

 

กาลเวลาผ่านไป 5 เสือจากสำนักครูเมฆแห่งท่าเสา ทยอยจากไป ทิ้งไว้เพียงตำนาน โดยครูพลอยถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มอยู่ หลังจากนั้นก็ตามด้วยครูฤทธิ์ และครูโต๊ะซึ่งก่อนถึงแก่กรรมได้บวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ต่อมาครูแพถึงแก่กรรมเมื่อปี 2520 และครูโพล้งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2522 มีอายุได้ 78 ปี

 

ว่ากันว่าหลังจากสิ้นครูโพล้ง มวยไทยสายท่าเสา ก็ลดบทบาทลงไปเป็นอย่างมาก และมวยไทยสายครูเมฆแห่งท่าเสาก็ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป เหลือไว้เพียงชื่อชั้นของครูโพล้ง และ 5 เสือท่าเสา มาจนทุกวันนี้

 

****************************

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

-วิกิพีเดีย 

-สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (11). กันยายน 2527. หน้า 44 - 53

-ข้อมูลจากเว็บ Thaiyuth

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-WBC มวยไทยดูฟรี มีของแจก เวทีมาตรฐานลุมพินี
-'แสงจันทร์'ปะทะ'แสงเทียนน้อย'คู่เอกมวยไทยแบทเทิ้ล
-"มวยแม็กซ์" โดดซบช่องอัมรินทร์
-'หนุ่มสตึก' ปะทะ 'กิตติศักดิ์' คู่เอกมวยไทยแบทเทิ้ล

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ