วันนี้ในอดีต

รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'  พระมารดาเจ้าน้อยฯ ตำนานรักมะเมียะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 90 ปีก่อน

 

**************************

 

เรื่องราวตำนานรักโศก ‘มะเมียะ’ แม้จะยังคงถกเถียงว่ามีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร แต่สำหรับคนที่ติดตามและแอบเชื่อว่ามีจริง ก็คงจะรู้สึกเศร้าสะเทือนใจไม่น้อยเลยกับชะตากรรของสาวพม่านามว่า “มะเมียะ” ที่ต้องรักคุดเพราะถูกกีดกันจนตัวตาย และยังสงสาร “ชายคนรัก” ที่ต้องตรอมใจตายตามไปด้วยผลแห่งคำสาบาน

 

อย่างไรก็ดี นอกจาก 2 บุคคลข้างต้นที่มีชื่อปรากฏในตำนานรักดังกล่าว ซึ่งผู้คนเชื่อว่าหมายถึงความรักของ "เจ้าอุตรการโกศล“ (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือ ”เจ้าน้อยศุขเกษม" กับหญิงสาวชาวพม่าคนหนึ่งที่ผู้เชื่อว่าเป็น “มะเมีย” แล้ว

 

ยังมีอีกหนึ่งบุคคลหนึ่งที่นับว่าเป็นตัวละครสำคัญที่ตำนานได้กล่าวไว้ นั่นคือพระมารดาของ เจ้าน้อยศุขเกษม หรือ เจ้าจามรีวงศ์ ณ เชียงใหม่ ที่ตำนานเล่าว่ามีส่วนสำคัญในการชี้ชะตาเส้นทางความรักของคนทั้งคู่

 

และวันนี้เมื่อ 90 ปีก่อนตรงกับวันที่ 25 กันยายน 2472 คือวันที่ เจ้าจามรีวงศ์ (บ้างสะกดว่า เจ้าจามรีวงษ์) ได้ถึงแก่อนิจกรรม ณ คุ้มเจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) สิริอายุได้ 68 ปี

 

วันนี้มาทำความรู้จักกับท่านผู้นี้อีกครั้ง

 

 

ภรรยาเจ้านคร

 

เจ้าจามรีวงศ์ ณ เชียงใหม่ เป็นภริยาเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ "ทิพย์จักร"

 

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

เจ้าจามรีวงศ์ ณ เชียงใหม่

 

 

ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2403 เป็นเจ้าธิดาองค์ที่ 5 ในเจ้าราชภาคินัย (แผ่นฟ้า ณ เชียงใหม่) กับเจ้าเรือนคำ สิโรรส

 

เจ้าบิดาเป็นโอรสในเจ้าราชบุตร (สุริยฆาต ณ เชียงใหม่) ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1

 

เจ้าจามรีวงศ์สมรสกับเจ้าราชวงศ์ (แก้ว ณ เชียงใหม่) ซึ่งต่อมาเป็น เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้านครเชียงใหม่ มีราชโอรสและราชธิดา 3 องค์ คือ

 

นายร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เสกสมรสกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ไม่มีพระทายาท

 

เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ เสกสมรสกับนายร้อยตรี เจ้ากุย สิโรรส และเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) มีธิดาจากการสมรสครั้งแรกหนึ่งคน

 

เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) เสกสมรสกับเจ้าจันทร ณ เชียงใหม่, เจ้าภัทรา ณ ลำพูน และศรีนวล นันทขว้าง มีเจ้าธิดาสามคน

 

 

มาดาของเจ้าน้อยฯ

 

ทางหนึ่ง เจ้าจามรีวงศ์ดำรงตนในฐานะภริยาเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อย่างไร้ที่ติ ไม่ทรงถือตัว และยังทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ

 

แต่อีกทาง ยังมีความน่าสนใจที่ผู้คนพากันติดตามตำนานเรื่องเล่าคือ ด้วยความที่ท่านเป็นมารดาในเจ้าศุขเกษม ซึ่งถูกกล่าวถึงในบทเพลง “มะเมียะ” ของจรัล มโนเพ็ชร ท่อนหนึ่งที่ว่า

 

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

เจ้าศุขเกษม

 

 

 “มะเมียะ เป๋นสาวแม่ก้า คนพม่า เมืองมะละแมง งามล้ำ เหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่ง หลงฮักสาวมะเมี๊ยะ บ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า. เป๋นลูก อุปราชท้าว เจียงใหม่”

 

แต่ที่หลายคนติดตามคือ การถูกกล่าวถึงในตำนาน “มะเมียะ” ซึ่งเป็นตำนานรักต้องห้ามระหว่างเจ้าชายเมืองเหนือกับมะเมียะสาวชาวพม่า แห่งเมืองมะละแหม่งที่จบลงด้วยความเศร้า

 

ทั้งๆ ที่ในมุมหนึ่งที่คือเรื่องราวของมารดาที่รักบุตรชายมากจนเกินบรรยายออกมาเป็นคำพูด อาจเพราะเจ้าน้อยฯ นั้นเป็นบุตรคนโตของบ้าน ความหวังทั้งหมดของบิดามารดาย่อมวางไว้ตรงนี้

 

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

ภาพวาดมะเมียะในจินตนาการ จากวิกิพีเดีย

 

 

หรือหากความจริงแล้ว ความรักของทั้งคู่ต้องห้ามในแง่การเมืองระหว่างประเทศกันเลยทีเดียว 

 

ย้อนกลับไปในปี 2423 ซึ่งเจ้าน้อยศุขเกษมถือกำเนิดขึ้นมา เวลานั้น เจ้าจามรีวงศ์มีอายุ 20 ปีเท่านั้น ต่อมาเมื่อเจ้าน้อยฯ มีอายุ 15 ปี ก็ถูกส่งตัวไปศึกษายังโรงเรียนเซนต์แพทริคในเมืองมะละแหม่งของพม่า

 

และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “เรื่องเล่า” ความรักสุดโรแมนติกและโศกนาฏกรรมในตอนจบ เมื่อเจ้าน้อยฯ ได้พบรักกับมะเมียะแม่ค้าสาวชาวพม่าในปี 2445

 

จนกระทั่งได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา

 

 

รักไม่ลงเอย

 

ในตำนานเล่าไว้หลากหลายแง่มุม แต่โดยรวมสรุปตรงกันว่า แม้ว่าทางบ้านของฝ่ายหญิงจะรับรู้ และอวยพรรักแก่หนุ่มสาว (อ่าน https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/317110)

 

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

 

 

แต่หลังจากเรื่องเจ้าน้อนศุขเกษมไปคบหากับสาวพม่าได้ยินมาถึงคุ้มเชียงใหม่ เจ้าศุขเกษมก็ถูกเรียกกลับเชียงใหม่ในปีถัดมาทันที ขณะที่บางแหล่งระบุว่าเป็นไปตามกำหนดที่เจ้าน้อยฯ อายุครบ 20 ปี มีกำหนดต้องเดินทางกลับเชียงใหม่

 

แต่ด้วยความรักจึงให้หญิงคนรักปลอมตัวเป็นผู้ชายติดตามขบวนมาด้วย โดยกำชับคนสนิทมิให้ปริปาก

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

ภาพที่เชื่อกันว่าเป็นมะเมียะตัวจริงในวัย 20 ปี 

 

 

แต่ความลับดำรงอยู่ไม่นาน เรื่องก็แดง มะเมี๊ยะซึ่งเป็นคนพม่าและมีฐานะยากจน ก็ถูกคุ้มเชียงใหม่บีบบังคับให้แยกทางจากเจ้าศุขเกษมอย่างเด็ดขาด ที่สำคัญเดิมทีทางบ้านเจ้าน้อยได้เตรียมคู่หมั้นไว้ให้เจ้าน้อยแล้ว

 

ในวิกิพีเดียได้อ้างเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ว่าเคยให้สัมภาษณ์ต่อตำนานดังกล่าว ซึ่งเจ้าดวงเดือนรับฟังมาจากเจ้าแก้วนวรัฐ ความว่า:

 

“ได้ข่าวจากเชียงตุงว่า…ไปเฮียนหนังสือมันก็บ่เฮียน ไปเมาสาวเหีย ถ้ามีลูกมีเต้าจะเยี๊ยะจะได เพราะว่าเขาต้องมาสืบความเป็นเจ้าหลวงต่อนะ มันบ่เฮียนหนังสือ เอามันกลับมาเหีย ก็เลยเอากลับมา มาก็มากันสองคน คนหนึ่งปลอมเป็นผู้ชายมาคือมะเมี๊ยะ มาแล้วก็บอกว่ามันอยู่กันบ่ได้เลย ก็เลยบอกว่าให้เอาอีมะเมี๊ยะไปส่งเหีย” — เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

 

ที่สุด วันส่งมะเมียะกลับมะละแหม่งได้จัดขบวนช้างไปส่ง มะเมียะได้สยายผมลงเช็ดพระบาทของเจ้าน้อยเพื่อเป็นการแสดงความรักตามธรรมเนียมล้านนา

 

และทางเจ้าน้อยก็ได้ระบุว่า ตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพุทธรูปวัดใจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ภายในเดือนจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้

 

แต่แล้วก็ไม่มีวันนั้น มะเมียะตัดใจเดินเข้าสู่ร่มเงาของวัด โดยบวชชีเพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อเจ้าน้อยฯ

 

 

จริงหรือคำสาบาน

 

ที่สุด เจ้าศุขเกษมได้เข้าพิธีสมรสกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ และว่ากันว่าเมื่อแม่ชีมะเมียะทราบข่าว เธอจึงเดินทางมาหา และขอเข้าพบเจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อมาถอนคำสาบานไม่ให้เจ้าน้อยฯ ต้องมีอันเป็นไป

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

เจ้าศุขเกษม และ เจ้าบัวชุม 

 

 

แต่เจ้าน้อยไม่ยอมมาพบด้วยไม่กล้าเผชิญหน้า นอกจากให้คนนำเงิน 800 บาทไปทำบุญกับแม่ชีมะเมียะ และมอบแหวนทับทิมประจำกายวงหนึ่งเป็นตัวแทน

 

หลังจากนั้นเจ้าศุขเกษม ก็มีอาการติดสุรา ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเพียง “เจ้าอุตรการโกศล” ที่ไม่มีสิทธิขึ้นครองนครต่อ เนื่องจากไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าขันห้าใบ

 

กระทั่งเจ้าศุขเกษม ต้องมาถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2456 ด้วยวัยเพียง 33 ปีเท่านั้น โดยมีพิธีปลงศพ ในวันที่ 31 สิงหาคมของปีเดียวกัน

 

 

 รู้จัก 'เจ้าจามรีวงศ์'   พระมารดาเจ้าน้อยฯ  ตำนานรักมะเมียะ

มะเมียะเวอร์ชั่นละคร โทรทัศน์ ชุด "ละครสั้น ปากกาทอง" 3 ตอนจบ ทางช่อง 7 เมื่อหลายปีก่อน

 

 

หลายคนเชื่อกันว่า นี่คือผลแห่งคำสาบาน ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าที่เจ้าน้อยศุขเกษม ต้องยึดสุราเป็นที่พึ่ง ก็เพื่อดับความกลัดกลุ้มอันเกิดจากความรักอาลัยในตัวมะเมียะ

 

ทั้งนี้ แม้ว่าภายหลังมีความพยายามสืบค้นว่าเรื่องนี้มีความจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยขนาดไหนในอีกหลายแง่มุมด้วยกัน แต่เรื่องเล่าขานความรักท่ามกลางคำสาบานศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ ยังติดตรึงในใจคนไทยทุกครั้งที่ได้ยิน

 

เจ้าน้อยจากไปในปี 2456 หรือขณะที่ เจ้าจามรีวงศ์อยูในวัย 53 จนกระทั่ง 16 ปีต่อมา ท่านได้ป่วยเป็นวัณโรคภายใน และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2472 ณ คุ้มเจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) สิริอายุได้ 68 ปี โดยได้ถึงแก่อนิจจกรรมก่อนพระสวามีถึง 10 ปี

 

 อัฐิของเจ้าจามรีวงศ์บรรจุที่กู่ของราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

 

************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ