วันนี้ในอดีต

3 ก.ย.2544 คนไทยช็อค "ราชาโฟล์คซองคำเมือง" ลาโลกกะทันหัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก่อนที่จะพาจรัลไปโรงพยาบาล เขาก็ได้สิ้นใจในอาการอย่างคนหลับสนิท ศีรษะทับอยู่บนแขนข้างซ้าย แขนขวาของเขาแนบไปกับลำตัว ร่างทั้งร่างทอดกายนิ่งสงบ

 

***********************

 

เชื่อว่าหลายคนยังรู้สึกว่า เขาไม่เคยหายไปไหน สำหรับ จรัล มโนเพ็ชร “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” ศิลปินชาวไทยที่เราชื่นชอบและยอมรับในฝีมือ

 

นั่นเพราะไม่เพียงงานของเขายังคงปรากฏอยู่มากมายในหลากหลายสื่อ ทั้งเพลง ดนตรี ละคร แต่บทเพลงของเขาหลายคนก็ยังคงเปิดฟังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

 

 

แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงอยู่ดีว่าวันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 3 กันยายน 2544 คือวันที่ นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักแสดงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ได้จากพวกเราไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นการจากไปอย่างกะทันหันชนิดที่ไม่เคยมีใครเตรียมใจมาก่อน

 

วันนี้ในอดีต จึงขอนำเสนอปประวัติและผลงานเพื่อเป็นการรำลึกถึงศิลปินล้านนาผู้นี้อีกครั้ง

 

 

กำเนิดศิลปิน

 

 จรัล มโนเพ็ชร เกิดที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในย่านที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ บิดาเป็นข้าราชการอยู่ที่แขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อ สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร ส่วนแม่ชื่อ เจ้าต่อมคำ (ณ เชียงใหม่) มโนเพ็ชร สืบเชื้อสายมาจากราชตระกูลณ เชียงใหม่

 

จรัลเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 เป็นลูกคนที่สองในจำนวนพี่น้องชายหญิงรวม 7 คน ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตเรียบง่ายสมถะตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือทั่วไป

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก http://สถานีเพลง จรัล มโนเพ็ชร

 

 

แต่จริงๆ แล้ว พ่อหน้อยสิงห์แก้วเคยเล่าไว้ว่า ท่านมัวตื่นเต้นกับลูกชายคนแรก เลยลืมไปแจ้งการเกิดของลูกชายที่อำเภอ กว่าจะนึกได้ก็นานเกินเดือนหลังจากนั้น เมื่อไปที่อำเภอ เขาเลยแก้ปัญหาให้ง่ายๆ 1 มกราคม

 

ด้วยครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อของจรัลจึงต้องหารายได้พิเศษ ด้วยการใช้พรสวรรค์ในด้านงานศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นที่สืบทอดตกมาจากบรรพบุรุษ ทั้งการเขียนรูป และการแกะสลักไม้ จรัลเองก็เรียนรู้่งานและสามารถช่วยบิดาทำงนได้ตั้งแต่วัยเด็ก

 

ชีวิตวัยเรียน จรัล เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนพุทธิโสภณ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมตตาศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ จรัลเป็นนักเรียนที่มีประวัติการเรียนดีมากสอบได้ที่ 1 มาตลอด สอบได้ที่ 2 เพียงครั้งเดียว เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

 

ทั้งนี้ ด้วยใจที่รักในเสียงดนตรี จรัลเริ่มหัดเล่นเปียโนเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 2 เล่นซึงเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 ตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 จรัลได้รับความสนับสนุนทั้งจากทางบ้าน

 

และช่วงวัยโจ๋นี่เอง ที่เขาสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการทำงานหารายได้พิเศษ ด้วยการรับจ้างร้องเพลง และเล่นกีตาร์ตามร้านอาหาร หรือตามคลับตามบาร์ในเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง

 

แน่นอน แนวดนตรีที่เขาชอบเป็นพิเศษคือ ดนตรีโฟล์คคันทรี และบลูส์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา

 

จนเมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัย จรัลเข้าทำงานรับราชการเป็นงานแรกที่แขวงการทางอำเภอพะเยา (เวลานั้นพะเยายังไม่ได้รับการยกให้เป็นจังหวัดเหมือนในปัจจุบัน)

 

ต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่บริษัทไทยฟาร์มมิ่ง และที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และแน่นอนเช่นกันที่เขายังไม่ทิ้งสิ่งที่รัก นั่นคือการร้องเพลง เล่นดนตรี จรัลยังคงไปเล่นตามร้านอาหาร ตามโรงแรมและคลับบาร์ในเชียงใหม่เช่นเคย และเริ่มมีชื่อเสียง

 

 

เส้นทางแห่งความสำเร็จ

 

ช่วงนั้นราวๆ ปี 2520 ที่งานดนตรีของจรัล เริ่มได้รับการยอมรับ และติดตามถามไถ่จากผู้คน เพราะเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ สร้างสรรค์ภาษาถิ่นเหนือคำเมือง ไม่เหมือนใคร โดยเรียกกันว่า “โฟล์คซองคำเมือง” มากไปกว่านั้นคือสิ่งนี้ได้กลายเป็นแบบอย่างบนแนวทางดนตรีท้องถิ่นร่วมสมัยในปัจจุบัน

 

ผลงานเพลงของจรัลที่โด่งดังและได้รับความนิยมมาก คือ

  • "อมตะ 1" เพลงเอกได้แก่ อุ๊ยคำ, ของกิ๋นคนเมือง
  • "อมตะ 2" เพลงเอกได้แก่ ก้ายง่าว, แอ่วสาว
  • "เสียงซึง ที่สันทราย" เพลงเอกได้แก่ เมืองเหนือ, กลิ่นเอื้องเสียงซึง
  • "จากยอดดอย" เพลงเอกได้แก่ จากยอดดอย, มิดะ
  • "ลูกข้าวนึ่ง" เพลงเอกได้แก่ ตากับหลาน, มะเมียะ
  • "แตกหนุ่ม" เพลงเอกได้แก่ ดอกฝ้าย, บ้าน
  • "อื่อ...จ่า..จ่า" เพลงเอกได้แก่ อื่อ...จ่า..จ่า.
  • "บ้านบนดอย" เพลงเอกได้แก่ ลุงต๋าคำ, ม่อฮ่อม
  • "เอื้องผึ้ง จันผา" เพลงเอกได้แก่ เอื้องผึ้ง จันผา, แม่ค้าปลาจ่อม

 

โฟล์คซองคำเมืองของจรัลไม่เพียงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวเหนือหรือชาวล้านนา ซึ่งเข้าใจภาษาคำเมืองภาษาท้องถิ่นของตน แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยภาคอื่นๆ ไปจนถึงชาวต่างชาติ จนจรัลได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก http://สถานีเพลง จรัล มโนเพ็ชร

 

 

จรัลแต่งเพลงไว้กว่า 200 กว่าเพลงในช่วงเวลาราว 25 ปีของชีวิตศิลปินของเขา แต่บรรดาครูเพลงในล้านนาที่จรัลมักเรียกว่า “ฤๅษีทางดนตรี” เพราะเพลงของเขาแปลกแตกต่างไปจากดนตรีล้านนาที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา

 

ทั้งนี้ เพราะจรัลใช้กีตาร์และแมนโดลินมาแทนเสียงซึง ใช้ขลุ่ยฝรั่งแทนขลุ่ยไทย และยังใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่อีกมากมาย มาบรรเลงบทเพลงเก่าแก่ของล้านนา ตามแบบฉบับโฟล์คซองคำเมืองของเขา

 

จรัลพูดว่า “บทเพลงแบบเก่าๆ นั้นมีคนทำอยู่มากแล้ว และก็ไม่สนุกสำหรับผมที่จะไปเลียนแบบของเก่าเสียทุกอย่าง”

 

และยังได้เคยพูดถึงการแต่งเพลงเองร้องเพลงเองของตนเองด้วยว่า

 

“มันเป็นงานที่เป็นตัวตนจริงๆแท้ๆจากใจ ในเมื่อผมเป็นนักร้องแต่ไม่อยากร้องเพลงของคนอื่น ผมจึงต้องเขียนเพลงของตัวเอง เป็นเพลงที่ผมอยากร้อง มันทำให้ได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ ไม่ต้องอาศัยให้ใครมาสร้างภาพลักษณ์”

 

ถ้าใครสงสัยว่าเหตุใด ผลงานของจรัลจึงเป็นอมตะ ลองไปอ่านบทความนี้ดู

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

https://www.komchadluek.net/news/ent/373714

 

 

ในยุคแรกๆ จรัลทำงานดนตรีร่วมกับพี่น้อง และญาติๆ ของเขาในตระกูลมโนเพ็ชร คือน้องชายสามคนที่ชื่อ กิจจา–คันถ์ชิด และเกษม รวมทั้งมักจะมีนักร้องหญิงชื่อ “สุนทรี เวชานนท์” ร่วมร้องเพลงด้วย

 

แต่ต่อมาทั้งหมดก็แยกทางกันไปตามวิถีของแต่ละคน น้องชายทั้งสามของเขาต่างก็ยังคงเล่นดนตรีและร้องเพลง โดยที่ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

 

 

ส่วนสุนทรี เวชานนท์ แต่งงานกับชายชาวออสเตรเลีย จึงโยกย้ายไปอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่ง แต่ภายหลังเธอก็กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้กลับไปร่วมงานกับจรัลอีกต่อไป

 

 

 

บินเดี่ยว

 

ยุคหลังๆ เราจึงเห็นจรัล ทำงานแบบบินเดี่ยว และก็มิได้เป็นอุปสรรคใดๆ เพราะด้วยความสามารถอันสูงส่ง งานดนตรีของจรัลกลับพัฒนายิ่งขึ้น

 

จรัลทั้ง แต่งเพลงเอง ร้องเอง เล่นดนตรีเอง และยังเรียบเรียงเสียงดนตรีเองอีกด้วย ปี 2537 เขาได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเมื่อปี ในฐานะ “บุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา”

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

 

 

ต่อมาปี 2538 เขาได้รับรางวัลดนตรีสีสันอวอร์ด และยังเป็นศิลปินชายเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลถึงสามรางวัลในครั้งนั้น ทั้ง นักร้องชายยอดเยี่ยม จากเพลงศิลปินป่า อัลบั้มยอดเยี่ยม จากอัลบั้มชุดศิลปินป่า และบทเพลงยอดเยี่ยมจากงานชุดศิลปินป่า

 

ที่สุดช่วงหลังๆ จรัลโยกย้ายจากเชียงใหม่มาปักหลักที่กรุงเทพฯ และยังมีงานในแวดวงบันเทิง ทั้งรับแสดงหนังและละคร อีกทั้งยังแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และละครเหล่านั้นด้วย

 

แน่นอนเราคนไทยได้เห็นบทบาทการแสดงของ จรัลมโนเพ็ชรแล้ว ก็ต้องยอมว่าเขาคือศิลปินโดยเนื้อแท้ ความสามารถในด้านนี้ทำให้จรัลได้รับรางวัลทางด้านการแสดงอีกหลายรางวัล

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ภาพจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/472163

 

 

เช่น ปี 2539 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการจัดทำดนตรีเรียกว่าดนตรีจตุรภาค โดยรวบรวมนักดนตรีฝีมือเยี่ยมจากทั่วทุกภาคในประเทศมาแต่งเพลงเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสนี้

 

จรัลเองขณะนั้นมีอายุเพียง 45 สิบห้าปีเท่านั้น แต่ก็ได้รับเชิญในฐานะครูเพลงภาคเหนือ เขาแต่งเพลงชื่อว่า "ฮ่มฟ้าปารมี" เป็นเพลงที่ไพเราะมาก จนทำให้ต่อมาแพร่หลายในวงกว้าง

 

ในที่สุดสถาบันการศึกษาด้านศิลปะการดนตรีจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเพลงนี้ไปใช้ประกอบการสอนในสาขานาฏศิลป์ด้วย และปัจจุบันนี้ได้มีผู้คิดท่าฟ้อนรำสำหรับบทเพลงนี้เช่นกัน เรียกว่า ฟ้อนฮ่มฟ้าปารมี

 

 

บั้นปลาย

 

ที่สุดช่วงชีวิตการทำงานศิลปะการดนตรีของจรัลเริ่มในปี 2520 และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2544 มีข้อมูลเล่าว่า ก่อนจะเสียชีวิต จรัลกำลังตั้งใจที่จะทำงานเพลงในโอกาสที่โฟล์คซองคำเมืองของเขายืนยาวมาถึง 25 ปีแห่งการทำงานเพลง เขาตั้งใจใช้ชื่อว่า "25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร"

 

โดยเป็นงานเพลงคำเมืองล้วน ๆ ทั้ง 10 เพลง ซึ่งได้กำหนดไว้ให้แสดงที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม 2544

 

ทั้งนี้ ในคืนวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 จรัลขึ้นเวทีร้องเพลง ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้เป็นคืนสุดท้าย ก่อนที่เขาจะกลับบ้านหม้อคำตวงที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมงานคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ของเขา

 

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2544 จรัลต้องออกไปประชุมเพื่อฝึกซ้อมนักแสดงแต่เช้า เขากลับมาถึงในเวลาเที่ยงคืน และเดินเข้าไปในห้องครัวเพื่อหาอาหารกิน ซึ่งบุคคลใกล้ชิด บอกว่าปกติแล้วจรัลไม่มีนิสัยกินอาหารตอนดึก

 

 

3 ก.ย.2544  คนไทยช็อค  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ภาพจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/472163

 

 

ก่อนเข้านอนคืนนั้นเขาได้บอกกับคนใกล้ชิดว่ารู้สึกปวดที่แขนข้างซ้าย ในเวลาประมาณตี 3 ของเช้าวันที่ 3 กันยายน 2544 จรัลได้เรียกคนใกล้ชิดและพูดอย่าง อ่อนแรงว่า "มันไม่บอกก่อนเลยนะ" "มันไม่เตือนก่อนเลยนะ"

 

และก่อนที่จะพาจรัลไปโรงพยาบาล เขาก็ได้สิ้นใจในอาการอย่างคนหลับสนิท ศีรษะทับอยู่บนแขนข้างซ้าย แขนขวาของเขาแนบไปกับลำตัว ร่างทั้งร่างทอดกายนิ่งสงบ (ข้อมูลจาก https://www.lib.ru.ac.th/journal/chalun.html)

 

หลังทุกคนได้รับทราบข่าวร้าย คนไทยทั่วประเทศทั้งตกใจและโสกเศร้า ผู้คนจำนวนมากจากทุกวงการเดินทางไปคารวะศพของเขา ซึ่งตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

 

หลังการเสียชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร นอกจากการขนานนามที่เขาได้รับมาตลอดว่าเป็น ราชาโฟล์คซองคำเมือง แล้ว ผู้คนได้ยกย่องและเรียกเขาด้วยชื่อต่าง ๆ กัน

 

เป็นต้นว่า ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัย ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ มหาคีตกวีล้านนา ราชันย์แห่งดุริยะศิลป์ นักวิชาการและนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมยกย่องให้ จรัล มโนเพ็ชร เป็นนักรบวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

 

อนึ่ง ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า จรัล มโนเพ็ชร  เกิดปี 2494 และเสียชีวิต ขณะมีอายุ อายุ 50 ปี หากข้อมูลทั่วไประบุว่าเขาเกิดปี 2498 และเสียชีวิตขณะมีอายุ 46 ปี ซึ่งหากวันนี้ถ้าจรัล มโนเพ็ชร ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุ 64 ปี (หรืออาจจะ68 ปี)

 

 และเช่นเคย มาฟังบทเพลงเหล่านี้ของเขากันดีกว่า

 

*************************

 

ขอบคุณผู้ใช้ยูทูบ Thee 88
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ