วันนี้ในอดีต

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

8 ปีช่างเร็วนัก

 

***********************

 

ถ้าพูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของคนไทย ที่ดูจะเป็นที่ติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คงหนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย และยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 46 ของโลก ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ!!

 

เธอคือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”  และวันนี้เมื่อ 8  ปีก่อน ตรงกับวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นวันที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก  โดยเป็นนายกฯ คนที่ 28 ของประเทศต่อจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

ขณะที่วันนี้เมื่อปีที่แล้ว หรือตรงกับวันที่ 8 สิงหาคม 2561 อดีตนายกฯ หญิงยังได้ โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าความทรงจำอันงดงามของเธออีกด้วยว่า

 

"เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2554 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย เพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนค่ะ"

 

"แม้เวลาจะผ่านไป 5 ปีก็เป็นเวลาของความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพราะถือว่าได้รับฉันทามติที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และดิฉันก็ดีใจทุกครั้งถึงแม้เวลาจะผ่านมานานทุกคนยังรักและหวังดีกับดิฉันเสมอมา ในทุกๆ ที่ ที่ไปก็ได้รับกำลังใจที่อบอุ่นกลับมาทุกครั้ง นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้วค่ะ"

 

"ดิฉันต้องขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและไว้วางใจในช่วงเวลาอันมีค่านั้น ทุกอย่างจะยังจารึกและบันทึกไว้ในหัวใจดิฉันตลอดไปไม่ลืมเลือนและจะคอยเป็นกำลังใจพี่น้องประชาชนในทุกๆสถานการณ์ค่ะ"

 

พร้อมภาพอันสวยงามดังนี้

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

ย้อนรอยกลับไปในอดีต ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า  เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร  เล่าว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สังกัด ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 265 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งและเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในเวลาเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 159 ที่นั่ง

 

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมิได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพราะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในตอนนั้น คือนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้สมัครหมายเลข 1 ในประเภทบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และเป็นน้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

 

ยิ่งลักษณ์ เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีเสียงของพรรคเพื่อไทยเองมากเกินกว่าครึ่งสภาผู้แทนราษฎร หากแต่ต้องการเอาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ พรรคนี้มีเสียงอยู่ 19 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

พรรคต่อมาที่เข้าร่วมรัฐบาล คือ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่มีเสียงอยู่ 7 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร พรรคนี้มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ พรรคที่สามที่เข้าร่วมรัฐบาลได้แก่พรรคพลังชน ที่มีนายสนธยา คุณปลื้ม มีบทบาทสำคัญ พรรคนี้ก็มีเสียงในสภาผู้แทนฯ จำนวนเท่ากัน 7 คน เหมือนพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

 

สำหรับพรรคสุดท้ายที่เข้าร่วมรัฐบาลโดยไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะมีเสียงในสภาผู้แทนฯ เพียงเสียงเดียว ได้แก่ พรรคมหาชน ดังนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติ 296 ต่อ 3 เสียงเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้งดออกเสียงจำนวน 197 คน

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

 

คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับเป็นคณะรัฐมนตรี คณะที่ 60 ของไทย รัฐมนตรีสำคัญ ๆ ของทางรัฐบาลนั้นมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 

 

นายธีระ วงศ์สมุทร จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุกุมล คุณปลื้ม จากพรรคพลังชนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่น ๆ ที่สำคัญนั้นล้วนเป็นของพรรคเพื่อไทย ร่วมทั้งกระทรวงการต่างประเทศที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการ

 

ครั้นรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ ก็มีทั้งผู้คนที่ให้กำลังใจเพราะเป็นสตรีคนแรกที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดด้วย แต่ก็มีผู้ที่ตามดูด้วยความสงสัยในฝีมือ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการเมืองในระยะเวลาอันสั้น และก็ลงเลือกตั้งทั่วไปที่ทำหน้าที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงอย่างเต็มที่ แม้จะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคตามกฎหมายก็ตาม

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

ปรากฏว่างานของรัฐบาลที่หนักและทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนั้นก็คือการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยที่ร้ายแรงมากใน พ.ศ. 2554 เพราะในช่วงเวลาที่เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลนั้นก็มีน้ำท่วมมากทางภาคเหนือของประเทศ และเขื่อนต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือของประเทศก็กักน้ำไว้สูง จึงต้องปล่อยน้ำลงสู่ภาคกลาง ทำให้น้ำท่วมทางภาคกลางหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่จังหวัดปทุมธานี น้ำท่วมมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและของเอกชน

 

และที่รุนแรงเกินความคาดหมายคือน้ำได้บ่าเข้าท่วมกรุงเทพมหานครทางตอนเหนือ ถึงขนาดท่วมสนามบินดอนเมืองสูงกว่าหนึ่งเมตรในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 และน้ำได้ท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครทางตอนเหนือลงไปจนถึงบริเวณใกล้กับพื้นที่ลาดพร้าว อันเป็นการท่วมที่ยาวนานเกือบ 2 เดือน และการป้องกันแก้ไขของรัฐบาลไม่เป็นที่ถูกใจประชาชนที่เดือดร้อน

 

 

อย่างไรก็ดี เราคนไทยเห็นแล้วว่า เส้นทางการเป็นนายกฯ ของหญิงไม่ง่ายเหมือนตอนเลือกตั้งได้เข้ามา เพราะในส่วนของคนไทย ยังมีการพยายามจับผิดการพูดจาของหญิงปู ชนิดเป็นข่าวแทบรายวัน

 

เช่น กรณีออกเสียงผิด หรือสคริปต์ผิดกันแน่ จาก "หญ้าแฝก" เป็น"หญ้าแพรก" กลางรายการนายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชาชน ที่ออกอากาศเป็นครั้งแรก หรือจะเป็นกรณี "พฤศจิกาคม" ก็เรียกเสียงต่อว่าต่อขานได้ไม่น้อย รวมไปถึงการแถลงต่อสภา จากตัวเลข 53,918 ล้านบาท (ห้าหมื่นสามพันเก้าร้อยสิบเเปดล้านบาท) เเต่ท่านนายกฯ กลับอ่านเป็น "ห้าหมื่น สามแสน เก้าร้อยสิบแปดล้านบาท"

 

 

8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก

 

เด็ดสุดคือ วลี "เอาอยู่" ช่วงที่รัฐบาลหญิงปูกำลังแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 2554 ซึ่งเป็นมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 50 ปี (ขอบคุณข้อมูลจาก : dek-d)

 

อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องราวหลังจากนั้นอีกมากมาย จนในที่สุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

และมีเหตุให้ต้องหนีออกนอกประเทศไปเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว

////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

สถาบันพระปกเกล้า

และ www.dek-d.com

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ