วันนี้ในอดีต

7 ส.ค.2112 สมเด็จพระมหินทราธิราช สวรรคตในเมืองข้าศึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 450 ปีก่อน

 

********************

 

ประเทศไทยกว่าจะมีทุกวันนี้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงกอบบ้านกู้เมืองมาได้

 

วันนี้มีเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ที่ในวันนี้เมื่อ 450 ปีก่อน ช่างน่าเศร้าสลดที่พระองค์ต้องมาสวรรคตไปในขณะที่มีพระชนม์ชีพเพียง 34 พรรษาไม่พอ ยังสวรรคตในอุ้งมือข้าศึกอีกด้วย

 

พระองค์คือ "สมเด็จพระมหินทราธิราช" ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 16 แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์(ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2106-2111 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2111-2112 ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และก่อนที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จะทรงขึ้นครองราชย์แทน

 

 

7 ส.ค.2112  สมเด็จพระมหินทราธิราช  สวรรคตในเมืองข้าศึก

 

 

“สมเด็จพระมหินทราธิราช” แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีพระราชบิดา คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชมารดาคือสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

 

และยังทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง มีพระเชษฐา คือ "พระราเมศวร" ผู้เป็นพระมหาอุปราช และมีพระขนิษฐา คือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระบรมดิลก พระเทพกษัตรีย์ และยังมีพระอนุชา และพระขนิษฐาต่างพระชนนี คือพระศรีเสาวราชกับพระแก้วฟ้า

 

7 ส.ค.2112  สมเด็จพระมหินทราธิราช  สวรรคตในเมืองข้าศึก

พระบรมสาทิสลักษณ์ ตราแผ่นดิน ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

โดยตราแผ่นดินอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำขึ้นใหม่จากหลักฐานเดิม

 

 

พระองค์ทรงพระราชสมภพปี พ.ศ. 2078 โดยมีพระนามเดิมว่า พระมหินทราธิราช หรือเรียกสั้นๆ อีกชื่อหนึ่งได้ว่าพระมหินทร์

 

ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระมหินทราธิราชได้ตามเสด็จฯ ออกรบในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ด้วย

 

แต่ถูกทหารมอญล้อมจับ พร้อมกับพระราเมศวร ไปถวายพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ซึ่งประทับที่เมืองชัยนาท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงส่งพระราชสาส์นไปขอให้ปล่อยพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คืนกรุงศรีอยุธยา

 

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตกลง โดยขอแลกกับช้างพลายมงคลทวีป และช้างพลายศรีมงคลไปไว้กรุงหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิปรึกษามุขมนตรีแล้วก็ตกลงถวาย กองทัพพระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพกลับไป

 

หลังสงครามช้างเผือก ที่ทำให้เสียพระราเมศวรแก่กรุงหงสาวดีในปี พ.ศ. 2106 กล่าวคือ พระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของพม่า ได้ขอพระราเมศวรไปเป็นพระราชโอรสบุญธรรมที่ประทับที่กรุงหงสาวดี โดยมีขุนนางติดตามไป 2 คนคือ พระยาจักรี และ พระสุนทรสงคราม 

 

 

7 ส.ค.2112  สมเด็จพระมหินทราธิราช  สวรรคตในเมืองข้าศึก

พระเจ้าบุเรงนอง

 


แต่หลังออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานพระราเมศวรก็ทรงพระประชวรและสวรรคตระหว่างทางซึ่งพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงจัดงานพระศพอย่างสมพระเกียรติ

 

ทางกรุงศรีอยุธยา เวลานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติ ให้พระมหินทราธิราช ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 25 พรรษา

 

สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงขัดพระทัย ที่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลก ทรงปรึกษากับพระยาราม แล้วจึงชักชวนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชให้มาตีเมืองพิษณุโลก

 

เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายประชิดเมืองพิษณุโลกได้แล้วก็ยังตีเมืองไม่สำเร็จ เพราะมีทัพจากพระเจ้าบุเรงนองมาช่วยเมืองพิษณุโลก

 

เมื่อแผนการไม่สำเร็จ สมเด็จพระมหินทราธิราชก็เลิกทัพคืนกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชากับหัวเมืองเหนืออยู่ข้างกรุงหงสาวดี และไม่ไยดีกับกรุงศรีอยุธยาแล้ว

 

จึงอัญเชิญพระราชบิดา ที่ลาผนวชมาครองราชสมบัติดังเดิมในปี พ.ศ. 2111 และใช้โอกาสที่สมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระนเรศไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี ยกทัพไปชิงพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระเอกาทศรถ และครอบครัวของพวกข้าหลวงเดิมมาไว้กรุงศรีอยุธยา

 

ขากลับสมเด็จพระมหินทราธิราชพยายามตีเมืองกำแพงเพชร เพราะทรงเห็นว่าเป็นกำลังฝ่ายข้าศึก แต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระมหาธรรมราชาทราบข่าวทั้งหมดจึงทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนอง

 

พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพใหญ่มาอีกครั้งในเดือน 12 สามารถปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ แต่ตีพระนครแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พราะราชบิดาของ สมเด็จพระมหินทราธิราชประชวรได้ 25 วันก็เสด็จสวรรคต

 

สมเด็จพระมหินทราธิราชสืบราชสมบัติอีกครั้ง แล้วทรงมอบหมายให้พระยารามบัญชาการรบแทน ฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหินทราธิราชว่า ถ้าส่งตัวพระยารามมาให้จะยอมเป็นพระราชไมตรี

 

สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ยอมทำตาม พระเจ้าบุเรงนองก็ให้กองทัพพักรบไว้ ต่อมามีรับสั่งให้พระสังฆราชกรุงศรีอยุธยา ไปแจ้งแก่กรุงศรีอยุธยาว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งปวงออกมาถวายบังคมแก่พระองค์ ก็จะรับพระราชไมตรี

 

ทรงรออยู่ 7 วันยังไม่ได้คำตอบ สมเด็จพระมหาธรรมราชาออกไปเจรจาก็ไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งโจมตีกรุงศรีอยุธยาต่อ

 

ระหว่างนั้นพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราชนำกองพล 15,000 มาช่วยป้องกันพระนครโดยไม่ได้ปรึกษาพระราชบิดา สมเด็จพระมหินทราธิราชเห็นว่าพระราชโอรสทำตามอำเภอใจ จึงรับสั่งให้พระยาธรรมาคุมตัวพระศรีเสาวราชไปสำเร็จโทษ ณ วัดพระราม บรรดาทหารก็เสียใจ แต่เห็นแก่สวัสดิภาพของครอบครัวจึงมุ่งรักษาพระนครต่อ

 

ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาคิดอุบายให้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก พระเจ้าบุเรงนองก็ยินดีตามแผน สมเด็จพระมหินทราธิราชหลงเชื่อว่าพระยาจักรีหนีมาได้จริง ก็พระราชทานรางวัลและมอบหมายให้บัญชาการรักษาพระนคร พระยาจักรีทำหน้าที่เข้มแข็งอยู่เดือนหนึ่ง จึงเริ่มทำให้กองกำลังกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลง

 

พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็รับสั่งให้นายทัพนายกองเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา จึงเสียกรุงในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 9 พระมหาอุปราชากรุงหงสาวดี และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พาสมเด็จพระมหินทราธิราชไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่พลับพลาวัดมเหยงคณ์

 

 

7 ส.ค.2112  สมเด็จพระมหินทราธิราช  สวรรคตในเมืองข้าศึก

 

พระเจ้าบุเรงนองตบพระหัตถ์ ที่พระราชอาสน์ทูลเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชให้เข้ามานั่ง สมเด็จพระมหินทราธิราชก็คลานเข้าไป แต่ไม่ถึงที่พระราชอาสน์ พระเจ้าบุเรงนองยื่นพานพระศรีให้

 

สมเด็จพระมหินทราธิราชไม่ทรงรับ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองหยิบพระศรีให้ ทรงรับมาไว้ครูหนึ่งจึงเสวย พระเจ้าบุเรงนองเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชไปอยู่กรุงหงสาวดี

 

โดยระหว่างรอเสด็จให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และให้พระมหาอุปราชาเข้าไปกวาดต้อนครัวเรือนชาวกรุงศรีอยุธยาและรูปหล่อส่งไปกรุงหงสาวดีทั้งหมด

 

เมื่อสมเด็จพระมหินทราธิราชตามเสด็จฯ ถึงเมืองแครงก็ประชวรหนัก แม้พระเจ้าบุเรงนองจะคาดโทษแพทย์ หากรักษาไม่หาย และได้เสด็จมาเยี่ยมให้กำลังใจไม่นานก็สวรรคต

 

สิริพระชนมายุ 34 พรรษา พระราชทานเพลิงแล้วให้ทหาญนำพระอัฐิ พระสนม และเครื่องราชูปโภคมาส่งกรุงศรีอยุธยา

 

7 ส.ค.2112  สมเด็จพระมหินทราธิราช  สวรรคตในเมืองข้าศึก

 

อย่างไรก็ดี กรณีสวรรคตของสมเด็จพระมหินทราธิราช ยังมีข้อถกเถียงมาจนทุกวันนี้ โดยข้อมูลอีกทาง จากเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การชาวกรุงเก่า  ที่พม่าเรียบเรียงจากปากคำเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่สอง โดยอาศัยความจำในการปะติดปะต่อเรื่องราว และอาจจึงมีความคลาดเคลื่อนสูง

 

เอกสารนี้จะระบุว่าพระมหินทราธิราชถูกพระเจ้าหงสาวดีจับถ่วงน้ำที่เมืองสถัง (เมืองสะเทิม Thaton)

 

โดยระบุว่า "ครั้นกลับไปยังมิทันถึงเมือง อันพระมหินทรราชานั้นไม่สุภาพดังพระยาราชสีห์ ไม่มีความครั่นคร้ามขามใจ เจรจาทนงองอาจ รามัญนั้นจับคำประหลาดได้ จึ่งทูลกับพระเจ้าหงษา พระเจ้าหงษาจึ่งให้ล้างเสียแล้ว จึ่งถ่วงน้ำที่เมืองสถัง แล้วจึ่งยกทัพกลับมายังเมืองหงษา"

 

คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า "แต่พระมหินทร์นั้นพระเจ้าหงษาวดีให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสระถุง พระมหินทร์ไม่ยำเกรงหยาบช้าต่อพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงพระพิโรธ จึงรับสั่งให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย"

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก นอกจากเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าลือต่อ ๆ กันมา

 

****************//***************

 

ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจากวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ