วันนี้ในอดีต

31 พ.ค.2423 ดั่งดวงหฤทัยแหลกลาญ สามที่รักลาจาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การสูญเสียบุคคลในครอบครัวนั้นว่าเจ็บปวดแสนสาหัสแล้ว แต่ยิ่งเป็นบุคคลที่รักยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ ยิ่งเจ็บปวดสาหัสกว่าหลายเท่า

 

 

*******************

 

 

          ถึงทุกวันนี้ เมื่อคนไทยผ่านทางวัดกู้ จะต้องนึกถึงเหตุการณ์โศกสลดที่สร้างความโทมนัสแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก

 

          เพราะวันนี้เมื่อ 139 ปีก่อน ตรงกับวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระองค์ต้องเผชิญกับความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่บุคคลอันเป็นที่รักดังแก้วตาดวงใจถึง 3 พระองค์ต้องมาสิ้นพระชนม์พร้อมกันในคราวเดียว

 

          นั่นคือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระอัครมเหสี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย

 

 

 

31 พ.ค.2423  ดั่งดวงหฤทัยแหลกลาญ  สามที่รักลาจาก

         

         ทั้งหมดต้องพบกับชะตากรรมที่ไม่มีใครคาดคิด จากอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มลงกลางแม่น้ำ บริเวณหน้าวัดกู้ ต.บางพูดอ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขณะโดยเสด็จพระสวามี ประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ และข้าราชบริพาร

 

         เหตุการณ์ในวันนั้น มีบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่างๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า ด้วยติดพระราชกิจ และจึงทรงตามไปภายหลัง

 

         โดยทางด้านของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ

 

         หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป

 

         แต่แล้ว...เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาด จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลข่าวร้ายว่า

 

          “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์”

 

         เรื่องนี้ ยังความโทมนัสแก่พระองค์เป็นอันมากหาที่เปรียบมิได้ ถึงขนาดเล่ากันว่าพระองค์ทรงล้มทั้งยืน ทั้งนี้เพราะพระนางสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยพระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ พระชนม์ 5 เดือนเต็ม 

 

 

 

31 พ.ค.2423  ดั่งดวงหฤทัยแหลกลาญ  สามที่รักลาจาก

 

 

         นอกจากนี้ ที่น่าโศกสลดคือ มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น แล้วได้มีการกู้พระศพขึ้งมา (จึงเป็นที่มาของชื่อวัดกู้ หรือวัดพระนางเรือล่มในกาลต่อมา) มีเรื่องบันทึกจากปากคำชาวบ้านในขณะที่งมพระศพขึ้นมาได้ว่า

 

          “ลักษณะของพระศพนั้น สร้างความเศร้าสลดให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้โอบกอดพระธิดาไว้แนบอก ส่วนสถานที่ที่พบพระศพนั้นก็คือใต้ซากเรือพระประเทียบนั้นเอง”

 

          หลังจากที่พระองค์ประสบอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่มจนสิ้นพระชนม์พร้อมพระเจ้าลูกเธอ ที่บางพูดแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าเหตุการณ์พระราชทานไปยังพระยาเทพประชุน ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า

 

         “หญิงใหญ่นั้นเป็นคนว่ายน้ำแข็ง แจวเรือพายเรือได้แข็ง ที่ตายครั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะห่วงลูก เพราะพี่เลี้ยงของลูกว่ายน้ำไม่เป็น”         

 

          หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

 

          อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก”[4] ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล

 

 

         

 

31 พ.ค.2423  ดั่งดวงหฤทัยแหลกลาญ  สามที่รักลาจาก

 

 

          ในที่สุดหลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424

 

          อนึ่ง การสูญเสียบุคคลในครอบครัวนั้นว่าเจ็บปวดแสนสาหัสแล้ว แต่ยิ่งเป็นบุคคลที่รักยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจ ยิ่งเจ็บปวดสาหัสกว่าหลายเท่า

 

          สำหรับ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ พระนามเต็มนั้นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีทรงได้ชื่อว่าเป็น พระชายาที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของล้นเกล้า ร.5

 

          เป็นที่รู้กันดีว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี”

 

          และยังทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้ และทรงเป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร

 

 

 

31 พ.ค.2423  ดั่งดวงหฤทัยแหลกลาญ  สามที่รักลาจาก

พระโกศพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และ พระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์

 

 

 

        ทั้งนี้ ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์

 

          พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรทั้ง 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

 

          โดยภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 8 ปี จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก “พระเจ้าลูกเธอ” เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ถวายตัวรับราชการเป็นภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ 15–16 พรรษา จึงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

 

        ก่อนที่เรื่องราวจะลงท้ายที่บางพูด เป็นตำนานความโศกศัลย์ที่คนไทยไม่เคยลืม

 

 

*****************************

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ