วันนี้ในอดีต

รำลึกพระบรมราชินี "หนึ่งเดียวในพระทัย" ล้นเกล้า ร.๗

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว

          วันนี้เมื่อ 35 ปีก่อน คือวันที่ พันเอกหญิงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคต ยังความโศกสลดแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

          จึงขอรำลึกถึงพระบรมราชินีอันทรงเป็นที่รักของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 มา โดยขออันเชิญพระราชประวัติ ดังต่อไปนี้

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

 

          พันเอกหญิงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุล “สวัสดิวัตน์” (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)

          ส่วนพระมารดาคือหม่อมเจ้าอาภาพรรณี สวัสดิวัตน์ (ราชสกุลเดิม คัคณางค์) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4) ภายหลังหม่อมเจ้าอาภาพรรณีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี

          สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า "หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์" ชาววังเรียกขานพระนามพระองค์ว่า "ท่านหญิงนา"

          เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ 2 ปี พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่ “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ซึ่งในระยะนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดูพระราชวังดุสิต ในเวลานี้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีกำลังทรงศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นอยู่

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีชันษาได้ 6 ปี ได้ทรงย้ายสถานที่พักจากพระราชวังดุสิต ไปพระบรมมหาราชวังตามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปด้วย และได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนราชินีพร้อมหม่อมเจ้าพระองค์อื่นๆ

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

ขณะทรงพระเยาว์

 

          หลังจากเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้เสด็จย้ายจากพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังพญาไท ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่และได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้เป็นการถาวรจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ซึ่งหม่อมเจ้ารำไพพรรณีได้ตามเสด็จมาด้วยโดยประทับอยู่บนพระตำหนักฝ่ายในติดกับห้องเสวย

          เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณีมีชันษาได้ 8 ปีเศษ และได้ผ่านพระราชพิธีเกศากันต์ (โกนจุก) แล้ว ก็ได้ทรงรู้จักกับ ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7) ซึ่งได้เสด็จนิวัตกลับกรุงเทพ หลังจากทรงได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษแล้ว สาเหตุก็อันเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทกับพระชนนีเป็นครั้งคราว และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจะเป็นผู้ที่สนิทกันมากที่สุดด้วย

          เมื่อปี พ.ศ. 2460 หลังจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช ณ พระตำหนักทรงพรตวัดบวรนิเวศราชวรวิหารก็ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะเสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี

          ที่สุด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย ถนนสามเสน และพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่พระที่นั่งวโรภาษพิมานพระราชวังบางปะอิน

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

วันอภิเษกสมรส

 

          การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ รวมทั้งยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย

          ส่วนวังศุโขทัยนั้น ได้สร้างขึ้นก่อนที่ทั้ง 2 พระองค์จะทรงเสกสมรสกัน โดยเป็นเรือนหอที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้างให้บริเวณคลองสามเสนและพระราชทานนาม “วังศุโขไทย” ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ขึ้นเป็น  "หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7"

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระนามเป็นหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

พระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี

 

          ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก       

          และอย่างที่คนไทยรู้กัน ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับอยู่ที่วังไกลกังวลอำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นัยว่าเพื่อให้พ้นจากสองฝ่าย โดยเสด็จฯ โดยเรือศรวรุณ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางสภาวะอากาศเลวร้ายใช้เวลากว่าสองวัน จึงถึงจังหวัดสงขลา ไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเล่าความในพระราชหฤทัยครั้งนั้นว่า

          “ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน”

          ต่อมา ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 (นับศักราชตามเดิม) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สู่ทวีปยุโรป แต่ก็ยังมีการขัดแย้งเจรจาเกี่ยวกับการเมืองกับทางกรุงเทพมหานครสืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตัดสินพระราชหฤทัยทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่ยังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

กดอ่าน http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/315114

 

 

          ซึ่งในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “เห็นพ้องต้องกันกับพระราชสวามีในการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชย์”

          หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศที่จะทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอนทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนบท ทรงจัดสวน เลี้ยงนกเลี้ยงปลา เสด็จประพาสทัศนศึกษาตามโบราณสถานต่างๆ เป็นต้น

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

พระองค์และพระราชสวามีในอิริยาบถสบาย

 

          ในช่วงที่ประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระประชวรอยู่เนืองๆ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังทรงปรนนิบัติพระองค์ จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย มีพระชนมพรรษา 48 พรรษา

          สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการเรื่องพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการภายในเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปีนั้น นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งต้องทรงสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จนิวัตกรุงเทพ พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ที่อันควรแก่พระบรมราชอิสริยยศในพระบรมมหาราชวัง

          สำหรับพระราชฐานะของพระองค์เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยนั้น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการพระราชวัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหม่อมราชวงศ์เทวาธิราช เทวกุล ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า

          ...สมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชินีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ในงานพิธีราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ จริงอยู่ทุกประเทศ รวมทั้ง ประเทศไทยด้วย เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลฐานะของพระราชินีย่อมเปลี่ยนไป เช่น พระราชินีแมรี่และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติแล้วและการแต่งตั้งพระราชินีรำไพพรรณีไม่มีการเพิกถอน ท่านก็น่าจะคงเป็นพระราชินีตามเดิม แต่ไม่ใช่พระราชินีซึ่งพระราชสวามีทรงราชย์ Queen Consort เปลี่ยนเป็นพระราชินีวิธวา Queen Dowager ฉะนั้น น่าจะขนานพระนามถวายโดยอนุโลมพระสวามีว่า สมเด็จพระบรมราชินี รัชกาลที่ ๗...

          พระองค์เสด็จไปประทับอยู่ในตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก วังสระปทุม เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปอยู่ร่วมกับพระองค์ โดยทรงไปประทับอยู่ที่นั่นนานถึงสามปี ถึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัยอีกครั้ง

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

พระองค์เสด็จนิวัตประเทศไทยพร้อมพระบรมอัฐิของพระสวามี

 

          หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแบ่งเบาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยในขณะนั้นเหล่าพระโอรสและพระธิดาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์

          ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 71 พรรษา

          และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน และในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 จึงมีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง และเชิญพระราชสรีรังคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

 

 รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗         รำลึกพระบรมราชินี  "หนึ่งเดียวในพระทัย"  ล้นเกล้า ร.๗

 

          อนึ่ง สำหรับพระบรมราชินี รัชกาลที่ 7 พระองค์นี้ ในอดีตกล่าวกันว่าพระองค์เป็นสตรีชาวไทยที่ทรงพระสิริโฉม สามารถเลือกฉลองพระองค์ยุโรปมาสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีพระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ