วันนี้ในอดีต

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทอมบอเอง ก็ยังนับเป็นบุคคลมหัศจรรย์ เขาไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิตที่เกิดมาในครอบครัวยากจน และเจ้าพลูโตนี่เองที่ทำให้เขาได้เข้าศึกษาจนจบ

          ทุกครั้งที่พูดเรื่องดวงดาว และห้วงอวกาศ ผู้คนต่างมีมุมองและจินตนาการแตกต่างกันไปของตนเอง

          แต่อะไรจะมหัศจรรย์เท่ากับการค้นพบ ใครเลยจะคิดว่า วันหนึ่งมนุษยชาติ จะนึกอยากรู้จักเจ้าดวงเล็กๆ สีเงินวิบวับที่อยู่ห่างไกลแสนไกลออกไปบนท้องฟ้าขึ้นมา

          และเมื่อการเพียรค้นหาถึงจุดหนึ่ง เราก็ได้พบว่า มันคือก้อนหินและมวลดินขนาดมหึมา ที่อยู่ห่างไกลออกไปนับหมื่นแสนล้านไมล์ และมันยังมีความหมายต่อสมดุลแห่งห้วงอวกาศ รวมถึงดาวเคราะห์สีฟ้าอย่าง โลกใบนี้้ของเราด้วย

 

น้องเล็กแห่งระบบสุริยะ

          หนึ่งในบุคคลที่เข้าใจความรู้สึกนี้ คือ "ไคลด์ ทอมบอ" นักดาราศาสตร์ผู้ได้ค้นพบดาวดวงหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมันดีในวันนี้ของ 89 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2473

          แน่นอนที่การค้นพบครั้งนี้ มันก็เกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะสำรวจท้องฟ้าที่หอดูดาวโลเวลล์ รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ค้นพบดาวดวงอื่นๆ โดยบังเอิญเช่นกัน

          แต่สำหรับการพบกันของทั้งคู่ ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันรายนี้ กับเจ้าดาวเคราะห์ดวงน้อยดวงนี้ ได้ถือเป็นจุดกำเนิดของ ดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ของ ระบบสุริยะจักรวาลของเรา 

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

ภาพถ่ายสีของดาวพลูโตจากยาน นิวฮอไรซันส์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558

 

          และมันก็ยังได้รับการตั้งชื่อน่ารักๆ อย่าง “พลูโต” สมค่าความเป็นน้องเล็กของระบบสุริยะ เนื่องจากขนาดที่เล็กมากของมันนั่นเอง

          สำหรับความเล็กของมัน ระดับสมองอย่างชาวย้านร้านตลาดอย่างเราๆ คงนึกไม่ออก แต่ตัวเลขที่ระบุไว้คือ เจ้าดาวพลูโต มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 2,368 กิโลเมตร

          อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางเฉลี่ย 6 พันล้านกิโลเมตร หรือ 39.5 หน่วยดาราศาสตร์ (1 หน่วยดาราศาสตร์ = ระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก)

          หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 6.4 วัน และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลานานถึง 248 ปี

          และด้วยเหตุที่มันอยู่ในแถบไคเปอร์ หรือแถบพ้นดาวเนปจูน พูดง่ายๆ ว่าอยู่ท้ายๆ แถว ห่างจากดวงอาทิตย์กว่าพี่ๆ ทั้ง 8 ดังนั้น เจ้าพลูโตจึงมีอุณหภูมิดาวอยู่ที่ประมาณ -230 องศาเซลเซียส

          นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุอีกว่า เจ้าพลูโตมีวงโคจรที่ไม่เหมือนชาวบ้าน หรือดาวดวงอื่นในระบบสุริยะ นั่นก็คือโคจรเอียงจากระนาบสุริยวิถีไปมากถึง 17 องศา ในขณะที่พี่ๆ มีวงโคจรที่ลักษณะกลมและเอียงจากระนาบสุริยวิถีเพียงเล็กน้อย แถมเจ้าพลูโตยังโคจรทับวงโคจรของพี่ดาวเนปจูนอีกด้วย

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          เห็นเล็กๆ อย่างนี้แต่เพื่อนมีเพียบนะจ๊ะ เจ้าพลูโตยังมีดวงจันทร์บริวารอยู่อีกตั้ง 5 ดวงด้วยกัน ได้แก่ คารอน หัวหน้าแก๊งค์ที่อ้วนใหญ่ที่สุดแล้วของเจ้าพลูโต, คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1270 กิโลเมตร 

          เกือบเท่าพลูโต จนแทบจะถือว่าทั้งพลูโตและ คารอนนั้นคือดาวเคราะห์แคระคู่ ที่โคจรรอบกันและกันที่เหลือคือสติ๊กซ์, นิกซ์, เคอเบอรอส และไฮดรา ที่มีขนาดเล็กมาก

 

ตกชั้นดาวเคราะห์

          ที่สุด นอกจากความเล็กของดาวพลูโตตามข้างต้น ผ่านไป 75 ปี ดาวพลูโตพระเอกของเราก็ต้องถูกลดชั้น ในปี 2548 เพราะนักวิทยาศาสตร์ ยังได้ค้นพบวัตถุอวกาศที่อยู่ไกลจากพลูโตออกไป และหลายดวงก็มีขนาดใหญ่พอๆ กันกับพลูโต บางดวงใหญ่กว่าพลูโตด้วยซ้ำ

          แน่นอน มีการถกเถียงกันว่า ถ้ายังวัตถุอวกาศขนาดพอๆ กับพลูโตอีกแล้วจะจัดวัตถุอวกาศที่ค้นพบหลายดวงนั้นเป็น “ดาวเคราะห์” ทั้งหมด หรือจะทำอย่างไรกันดี

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          ที่สุด ทางออกของปัญหานี้จึงออกมาว่า ให้ทำการจัดประเภทดาวขึ้นมาใหม่เรียกว่า “ดาวเคราะห์แคระ” พร้อมกับนิยามคำว่า “ดาวเคราะห์” ให้แคบลงดังนี้

          1. โคจรรอบดาวฤกษ์โดยตรง ไม่เป็นบริวารของดาวใดอีกทอดหนึ่ง

          2. มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วง ทำให้ดาวอยู่ในภาวะสมดุลจนมีรูปร่างเป็นทรงกลม หรือเกือบกลมได้

          3. มีวงโคจรที่ชัดเจน สอดคล้องกับดาวเคราะห์ข้างเคียง และกวาดวัตถุอวกาศออกจากวงโคจรของตัวเองได้

          พูดง่ายๆ ว่ากำหนดสเปคของระดับดาวเคราะห์ใหม่ ซึ่งพลูโตไม่ผ่านคุณสมบัติข้อ 3  พลูโตของเราจึงตกชั้นกลายเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” ไป ไม่สามารถเรียกว่าดาวเคราะห์ได้อีกแล้ว

          โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลตัดสินปรับลดสถานะดาวพลูโตเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet)อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2549

 

สำรวจพลูโตผู้น่ารัก

          วิทยาศาสตร์คือการหาคำตอบ แม้พลูโตจะไม่ได้เป็นดาวเคราะห์อีก แต่น่าซ่า ก็ยังคงเดินหน้าสำรวจดาวพลูโตต่อไป ตามแผนที่ที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2544

          ที่สุด นิว ฮอไรซันส์ ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจนี้ ก็ถูกปล่อยออกสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพุ่ง “เฉียด” ดาวพลูโตในระยะใกล้ที่สุดที่ 12,500 กิโลเมตร โดยยานนี้ ไม่มีกำหนดกลับ  

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          นิว ฮอไรซันส์ ทำงานสำเร็จ เธอได้เผยภาพดาวพลูโตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หลังการเดินทางยาวนานกว่า 9 ปี

          โดยเธอได้เดินทางเฉียดดาวพลูโตในระยะห่างเพียง 12,500 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และได้จับภาพดาวพลูโตมาได้อย่างชัดเจน

          ชาวโลกได้เห็นว่า เจ้าพลูโตน้อยช่างน่ารักสมชื่อ เพราะมันมีหน้าตา หรือภูมิประเทศเป็น “รูปหัวใจ” ขณะที่หลายคนก็มองว่ามันเหมือนกับหัวเจ้าพลูโต น้องหมาคู่ใจของมิกกี้เม้าส์

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          ขณะยังมีข้อมูลว่า NASA ยังมีแนวคิดตั้งชื่อภูมิประเทศรูปหัวใจนี้ว่า “ทอมบอห์ เรจิโอ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบอีกด้วย

           แต่ไปทั้งที เรายังได้รู้จักทักทายกับเพื่อนตัวโตของพลูโตด้วย เธอคือ คารอน ดวงจันทร์ (หรือดาวเคราะห์แคระคู่) ของพลูโตออกนั่นเอง

 

ทอมบอ พ่อพลูโต

          อย่างที่เกริ่นไว้ การค้นพบดวงดาวเป็นเรื่องมหัศจรรย์ และหนึ่งในคนกลุ่มนั้น เขาคนนั้น มีไคลด์ วิลเลียม ทอมบอ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ค้นพบดาวเคราะห์แคระพลูโตเมื่อ พ.ศ. 2473

          หากทอมบอเอง ก็ยังนับเป็นบุคคลมหัศจรรย์ เขาไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิตที่เกิดมาในครอบครัวยากจน ที่เมืองสเตรเตอร์ รัฐอิลลินอยส์

          แม้จะยากจนจนไม่ได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่หลังจากครอยครัวย้ายไปเมืองอยู่ที่รัฐแคนซัส ทอมบอได้สร้างกล้องโทรทัศน์ขึ้นด้วยตนเองเพื่อใช้ส่องดูดาว

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          แล้วเขาก็ได้งานทำที่สถาบันหอดูดาวโลเวลล์ จากกล้องที่เขาสร้างขึ้นมาเองนี่แหละ เพราะเขาทำการส่งภาพวาดดาวพฤหัสและดาวอังคารที่เขาศึกษาจากกล้องนี้ เพื่อสมัครงาน

          ทอมบอได้งานเป็นผู้ช่วยนักดาราศาสตร์ที่นั่น กระทั่งได้ค้นพบดาวพลูโตเมื่อวันนี้ของ 89 ปีก่อน และเจ้าพลูโตนี่เองที่ทำให้เขาได้เข้าศึกษาจนจบสาขาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคนซัสและมหาวิทยาลัยนอร์ทแอริโซนา

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          ไคลด์ ทอมบอ ทำงานที่หอดูดาวโลเวลล์ระหว่าง พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2488 จึงได้ย้ายไปสอนวิชาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนเกษียณจากงานเมื่อ พ.ศ. 2516

          ไคลด์ ทอมบอ ค้นพบดาวเคราะห์น้อย (asteroid) มากถึง 14 ดวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้จากการค้นหาดาวเตราะห์ต่างๆ รวมทั้งดาวพลูโต

          ราชสมาคมดาราศาสตร์ แห่งประเทศอังกฤษได้มอบ เหรียญรางวัลแจ็กสัน-วิลท์ ให้แก่เขาเมื่อ พ.ศ. 2474

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

 

          และเชื่อหรือไม่ว่า ในที่สุดทอมบอก็ได้ไปเยี่ยมพลูโตจนได้ เพราะหลังจากที่เขาถึงแก่กรรมที่นิวเม็กซิโกเมื่ออายุ 91 ปี (ปี 2540) เถ้ากระดูกของเขาส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุไว้ใน “นิวฮอไรซอน” ที่เดินทางไปยังดาวพลูโตนั่นแหละ

          โดยในภารกิจนี้ นับเป็นการส่งชิ้นส่วนมนุษย์ออกไปไกลที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ

 

ชะตาแห่งดวงดาว

          หลายคนอาจดราม่า สงสารทอมบอ ที่ไม่ได้รู้ว่า ดาวพลูโตของเขาถูกลดชั้นลงมาเมื่อปี 2548 หลังเขาเสียชีวิตไปแล้วหลายปี

          หลายคนอาจดราม่าว่า จากผู้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 9 กลายเป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์แคระดวงหนึ่งเท่านั้น

          แต่รู้หรือไม่ว่า ช่วงปีที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า ดาวพลูโตได้รับการพดถึงอีกครั้ง จากนักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเซนทรัล ฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา

          พวกเขาให้ความเห็นว่า แม้แต่ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ เช่น ดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ หรือดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี บางครั้งก็ถูกเรียกว่าดาวเคราะห์อยู่บ่อยๆ

          หรือนักดาราศาสตร์บางคนก็วิเคราะห์คุณสมบัติของดาวเคราะห์โดยไม่ตรงตามคำนิยามที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลวางกรอบไว้ ซึ่งนักดาราศาสตร์อาจต้องกลับมาทบทวน และถอดรหัสพลูโตใหม่เพื่อคืนสถานะดาวเคราะห์ ให้แก่ดาวพลูโต

 

การพบกันของ ไคลด์ ทอมบอ และดาวเคราะห์แคระของเขา

https://www.happythinkingpeople.com/thought/2015/07/15/pluto-heart/

 

          ทั้งนี้ ศ. ฟิลิป เมตซ์เจอร์ จากมหาวิทยาลัย University of Central Florida (UCF) ระบุว่า

          “นับแต่ยุคของกาลิเลโอเป็นต้นมา นักดาราศาสตร์โดยทั่วไปยังคงเรียกดวงจันทร์บริวารเช่นดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ว่าเป็นดาวเคราะห์อยู่ จนกระทั่งไม่นานมานี้เองจึงเริ่มมีการนิยามความหมายของดาวเคราะห์อย่างตายตัวในทศวรรษ 1950 ซึ่งน่าขำว่าเกณฑ์ล่าสุดที่ไอเอยูใช้มากำหนดนิยามนั้น ไม่เคยมีนักดาราศาสตร์คนใดใช้ในการศึกษาวิจัยมาก่อนเลย” ศ. เมตซ์เจอร์กล่าว

          "เรามีหลักฐานว่างานวิจัยกว่า 100 ชิ้นใช้นิยามของดาวเคราะห์ที่ขัดกับหลักเกณฑ์ของไอเอยูอย่างสิ้นเชิง แต่พวกเขาก็ยังคงใช้มันเพราะว่ามีประโยชน์ในทางปฏิบัติจริง ซึ่งดีกว่าจะมายึดติดกับถ้อยคำเพียงอย่างเดียว”

          ก็นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับ คนรักพลูโต และอาจรวมไปถึงดวงวิญญาณของ ทอมบอ อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ