วันนี้ในอดีต

9 ต.ค.2538 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระหว่างการเล่นการเมือง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองที่ทุกคนรู้จักดี คือ เรื่องของการใช้วาทศิลป์ และผวนชื่อของตนเอง ว่า "คึกฤทธิ์ คิดลึก"

          ถ้าพูดถึงปูชนียบุคคลของประเทศไทย ผู้ที่นับเป็นปราชญ์ และรอบรู้ศาสตร์และศิลป์ไปหมดทุกแขนง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างแน่นอน ไม่มีใครโต้แย้ง

          แต่วันนี้ ของเมื่อ 23 ปีก่อน ช่างน่าเศร้าเสียดาย เมื่อนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ผู้นี้ได้ลาจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ

          วันนี้ในอดีต จักได้นำประวัติและผลงานของปูชนียบุคคลท่านนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการรำลึกถึงอีกครั้ง ดังนี้ 

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

          ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ 20 เม.ย. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

          ท่านเป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา ทั้ง 6 คน ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) โดยท่านเป็นน้องชายแท้ๆ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกทั้งคู่ว่า “หม่อมพี่ หม่อมน้อง”

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

ยืนแถวหลัง (จากซ้าย) ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ปราโมช, ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี, ม.ร.ว.อุไรวรรณ ปราโมช, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

แถวกลาง คือพลโทพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับ หม่อมแดง ปราโมช ณ อยุธยา ส่วนที่นั่งหน้า คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก http://thaigoodview.com/node/216880)

          โดยชื่อ “คึกฤทธิ์” นั้นมาจากการที่ชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

          ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ หม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อปี 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ หม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงวิสุมิตรา ปราโมช หากต่อมาได้แยกกันอยู่กับหม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง 

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

คุณชายคึกฤทธิ์ กับคุณหญิงพักตร์พริ้ง ภาพจาก http:// http://thaigoodview.com/node/216880

          ซึ่งแม้จะหย่าขาดจากกัน แต่ต่างก็ไม่สมรสใหม่ และไม่ได้โกรธเคืองกัน โดย ม.ร.ว.พักตร์พริ้งอยู่กับลูกชายคือ ม.ล.รองฤทธิ์ ที่บ้านในซอยสวนพลู ติดกับบ้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และยังไปมาดูแลทุกข์สุขกันเสมอ

          ในวัยเด็ก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้าน กับ ม.ร.ว.บุญรับ พี่สาวคนโต จนอ่านภาษาไทยได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี

          กระทั่งเมื่อปี 2458 ท่านจึงเข้าศึกษาภาคบังคับ ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

          และเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนเทรนต์วิทยาลัย จากนั้นสอบเข้าวิทยาลัยควีนส์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เพื่อศึกษาวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง โดยสำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และอีกสามปีต่อมา ก็สำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

          นอกจากนี้ ภายหลัง ท่านยังได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายสาขาวิชา

          ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พักอยู่ที่บ้านในซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยอยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “บ้านซอยสวนพลู”

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

บ้านซอยสวนพลู

          คนไทยที่ติดตามจะรู้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีบุคลิกและบทบาทที่หลากหลาย มีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการประพันธ์ การแสดง

          อย่างไรก็ดี ชีวิตการทำงานในวัยต้น ท่านเริ่มทำงานที่กรมสรรพากร และถูกเกณฑ์ทหารตอนสงครามอินโดจีน ได้ยศสิบตรี

          จากนั้นไปทำงานธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ลำปาง และกลับมาทำงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่กรุงเทพฯ

          กระทั่ง เมื่อท่านเข้าสู่แวดวงการเมือง ท่านยังเป็นนักการเมืองแถวหน้า ที่เป็นผู้ก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า” เมื่อปี 2488 ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา

          กล่าวคือ รอยต่อระหว่างนั้น "ควง อภัยวงศ์" ได้ชวนท่านไปก่อตั้งพรรคใหม่ชื่อ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งควงดำรงตำแห่งหัวหน้าพรรค ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค อยู่สู้ในสภา 2 ปี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ก็ได้เป็น รมช.กระทรวงการคลัง ในรัฐบาลชุดควง อภัยวงศ์

          ต่อมาเมื่อปี 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหาร แต่ยังไม่พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง จึงไปชวนควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายยกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

          ครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอย สั่งราชการกระทรวงการคลัง แต่อยู่ได้เพียง 5 เดือน จอมพลป.พิบูลสงคราม ก็ขึ้นบริหารประเทศแทน

          แต่แล้ววันที่ 16 ก.ย. 2491 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และหันหลัง ลาออกไปจากกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะท่านคัดค้านการขึ้นเงินเดิอน ส.ส.

          จากนั้น ท่านก็ได้ยุติบทบาททางการเมืองอยู่นาน และอย่างไรก็ดี ระหว่างนั้นเอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้หันไปหยิบจับงานสื่อสารมวลชน เกิดเป็นหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เป็นของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493

          จนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงจัดตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง “กิจสังคม”

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

          และจากการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ. 2518 แม้พรรคกิจสังคมจะได้รับเลือกมาเพียง 18 คน แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชก็สามารถเป็นแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2518–20 เมษายน 2519

          และนโยบายที่โด่งดังของรัฐบาลท่าน คือ รัฐบาลคึกฤทธิ์ในครั้งนั้น คือ นโยบาย “เงินผัน” ซึ่งมี บุญชู โรจนเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดูแลนโยบายนี้

          ช่วงที่่เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2518 หลังจากที่ตัดขาดความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลมาเป็นเวลานาน

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

ภาพขณะเข้าพบประธานเหมา เจ๋อ ตุง ในปี พ.ศ. 2518

          คนไทยยุคหนึ่ง รู้กันดีว่า ระหว่างการเล่นการเมือง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองที่ทุกคนรู้จักดี คือ เรื่องของการใช้วาทศิลป์ และบทบาทเป็นที่ชวนให้จดจำ เช่น การผวนพูดเล่นชื่อของตัวเองเมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงอะไร โดยตอบว่า “คึกฤทธิ์ ก็คือ คิดลึก” เป็นต้น

          ทั้งยังได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมาย เช่น “เฒ่าสารพัดพิษ” “ซือแป๋ซอยสวนพลู” ภายหลังเมื่อมีอาวุโสสูงวัย จนสามารถแสดงความเห็นทางการเมือง ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ จึงได้รับฉายาว่า “เสาหลักประชาธิปไตย” นอกจากนี้ อีกฉายาหนึ่งที่ใช้เรียก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในบางแห่งคือ “หม่อมป้า”

         มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของท่านในแวดวงภาพยนตร์ โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยรับบทเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ชื่อว่าประเทศสารขัณฑ์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) คู่กับมาร์ลอน แบรนโด (พ.ศ. 2506)

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

มาร์ลอน แบรนโด (กลาง) และ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ (ขวา) ในภาพยนตร์ The Ugly American

          และยังเคยรับบทเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์ "ผู้แทนนอกสภา" กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2526 อีกด้วย

          ส่วนในด้านวรรณศิลป์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น สี่แผ่นดิน, ไผ่แดง, กาเหว่าที่บางเพลง, หลายชีวิต, ซูสีไทเฮา, สามก๊กฉบับนายทุน และเรื่องสั้น “มอม” ซึ่งได้ใช้เป็นบทความประกอบแบบเรียนภาษาไทยในปัจจุบัน บางชิ้นมีผู้นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น สี่แผ่นดิน, หลายชีวิต และทำเป็นภาพยนตร์ เช่น กาเหว่าที่บางเพลง

          จึงเป็นที่ยอมรับว่า แม้ท่านจะถือเป็นปราชญ์ที่เชี่ยวชาญหลากหลาย ผ่ารประสบการณ์มาชนิดที่คนๆ หนึ่งจะมีได้ในช่วงชีวิต แต่ถ้าพูดถึงงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของท่าน ก็คือ "งานประพันธ์" นั่นเอง

          โดยแม้ว่าในระยะหลังเมื่อท่านมีอายุมากแล้ว สุขภาพไม่แข็งแรงนัก แต่ท่านก็ยังเขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน อยู่เป็นประจำ

          กอปรกับงานเขียนอื่นๆ อีกมากมายรวมทุกประเภทมากกว่าร้อยเรื่อง ล้วนได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างกว้างขวางทั้งสิ้น กระทั่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ประกาศให้ ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2528

9 ต.ค.2538  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ถึงแก่อสัญกรรม

          หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ป่วยด้วยโรคหัวใจจนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกา เมื่อพ.ศ. 2530 และเข้ารับการรักษาพยาบาลเรื่อยมาเป็นระยะๆ จนกระทั้งถึงแก่อัญกรรม ณ โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 รวมอายุ 84 ปี 172 วัน

          ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 กระทรวงวัฒนธรรมเสนอชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก โดยมีทั้งเสียงสนับสนุน และคัดค้าน

          ที่สุดในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554 โดยได้รับการประกาศพร้อมกันกับเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2553

///////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 

วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ