วันนี้ในอดีต

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถาปนิกไทย ระดับช่างหลวง หัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถึง 3 ครั้ง ณ ท้องสนามหลวง ในรัชกาลที่9

 

          ภาพจำ...ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการปรากฏภาพทรงพระสรวลด้วยความสุข เป็นภาพพระสรวลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะประทับอยู่ในรถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จยกยอดฉัตรพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้พสกนิกรชาวไทยอดยิ้มตามไปกับภาพที่เห็นไม่ได้

 

         เมื่อไล่เรียงถึงเบื้องหลังของภาพนี้จึงทราบว่า เหตุการณ์ในภาพนี้เกิดขึ้นในขณะที่ “พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น” ถวายรายงานต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า “จะอยู่ถึง 120 ปี” พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เลยตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นเกล้ากระหม่อมขอทูลลาไปก่อน” จึงทำให้ทุกพระองค์ทรงแย้มพระสรวลด้วยความสุข

 

 

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

 

   

    วันนี้ในอดีต วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 วันถึงแก่กรรมของช่วงหลวง “พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น” สถาปนิกชาวไทย หัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถึง 3 ครั้ง ได้แก่ พระเมรุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ ท้องสนามหลวง

 

         พล.อ.ต.อาวุธ ยังได้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ในงานออกแบบถึง 2 งานหลักๆ ได้แก่ “วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก”,“ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร” 

 

         ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแห่งชาติ ที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นงานงานบูรณะ“มณฑปโลหะปราสาท”วัดราชนัดดารามวรวิหารในปี พ.ศ 2539 ให้เป็น“มณฑปสีดำ”หรือหุ้มด้วยทองแดง, ยอดพระมหามณฑปวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง “พระที่นั่งสันติชัยปราการ”ในสวนสันติชัยปราการ,พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร จนต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อยสถาปัตยกรรมประจำปี พ.ศ. 2539

 

         พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่บ้านเลขที่ 762 ริมคลองด่าน ตำบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ที่อยู่เดิม) บ้านเป็นเรือนไทยโบราณ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 199 ถนนริมคลองด่าน แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

 

 

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

 

         เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องสามคน ของนายทองเปลว และนางละเมี้ยน เงินชูกลิ่น ชีวิตส่วนตัวสมรสกับนางชาริณี เงินชูกลิ่น (สกุลเดิม บุราวาศ) เมื่อ พ.ศ. 2519 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายชวิน เงินชูกลิ่น (เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2520) และนายวทนะ เงินชูกลิ่น (เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528)

 

        ท่านมีพี่สาวต่างมารดา 1 คน คือ นางบังอร เงินชูกลิ่น (พี่สาวเกิดไม่นาน คุณแม่ก็เสียชีวิต) มีน้องชาย 1 คน คือ นายสุทธินาถ เงินชูกลิ่น และน้องสาว 1 คน คือ นางอุษณีย์ ลีละเศรษฐกุล คุณพ่อของท่านรับราชการที่กระทรวงการคลัง ตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ คือ เลขานุการกรมธนารักษ์ คุณแม่ของท่านทำการค้าขายงอบ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีระเบียบมากและเป็นคนประหยัด แต่จะทำบุญอยู่เสมอ

 

         บริเวณบ้านกว้าง คุณแม่ของท่านจะปลูกผลไม้ไว้ให้ลูก ๆ รับประทาน เมื่อเหลือจาดแบ่งปันญาติและเพื่อนบ้าน ก็จะนำไปขาย มีชมพู่ ฝรั่ง มะม่วง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะพร้าว อ้อย กล้วย ลิ้นจี่ มะนาว พืชผักสวนครัว มีกอไผ่เป็นรั้วกั้นเขต ที่บ้านของท่านจึงได้รับประทานหน่อไม้ และจะมีเห็ดโคนขึ้นที่โคนกอไผ่ด้วย

 

 

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

 

        เมื่ออายุถึงวัยเข้าเรียน คุณพ่อได้พาท่านไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัจนะศึกษา (ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว) ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 4 (ป.1-ป.4)เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คุณพ่อได้พาท่านไปเข้าโรงเรียนวัดราชโอรสซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านมากนัก เรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรสเมื่อพ.ศ. 2499

 

       คุณพ่อของท่านเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้งานศิลปะของท่าน เพราะท่านเป็นลูกชายคนโต ต้องช่วยคุณพ่อทำงานช่างต่าง ๆ ทุกครั้ง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านสอบเข้าเรียนในโรงเรียนช่างศิลป์ เมื่อเรียนจบจากช่างศิลป์ ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ เริ่มต้นมีความคิดที่จะเข้าเรียนคณะมัณฑนศิลป์ ก็ไปปรึกษาคุณพ่อ ท่านแนะนำว่าถ้าคณะมัณฑนศิลป์จะต้องรอให้ผู้อื่นออกแบบก่อน เราถึงจะทำต่อได้ (ความเข้าใจในสมัยนั้น) แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรม เราจะได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่คุณพ่อของท่านก็ไม่ได้บังคับท่าน เพียงแต่แสดงความเห็นให้ทันตัดสินใจด้วยตนเอง

 

       ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลปและศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อพ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ดังเช่นปัจจุบัน

 

        เมื่อจบการศึกษาและทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ กับ“พันเอก จิระ ศิละกนก” สถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับรับราชการ เป็นสถาปนิก  กรมช่างโยธา ประจำกองทัพอากาศ  ทำงานอยู่นาน 9 ปี จนติดยศ “เรืออากาศเอก” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 จึงได้โอนมารับราชการในตำแหน่งช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร

 

        พลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟัง ในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้งหนึ่งว่า “เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่ง เกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากรเมื่อปีพ.ศ. 2518”

 

 

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

 

        เมื่อถึงปีพ.ศ. 2521ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม นั้นเอง และได้เจริญเติบโตในหน้าที่ราชการเรื่อยมา จากนั้น 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ได้รับ"พระราชทานยศนาวาอากาศเอก" (เป็นกรณีพิเศษ)

 

          ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะการได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2541 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

 

         ส่วนงานราชการจากที่เป็น“ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ระดับ 9” จนเป็น“อธิบดีกรมศิลปากร” ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อพ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น ภายหลังยังได้รับพระราชทานยศ"พลอากาศตรี”เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

 

 

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

 

         ภารกิจสำคัญในฐานะผู้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงถึง 3 พระองค์ คือ

 

         เมื่อปี พ.ศ. 2538 เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ทรงปราสาทจตุรมุขยอดเกี้ยว และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

       

เมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

         เมื่อปี พ.ศ. 2555 เป็นหัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

         พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีงานออกแบบชิ้นสุดท้ายของ พล.อ.ต.อาวุธ ในขณะที่เขาทำการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อเวลาประมาณ 05.40 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 รวมอายุ 71 ปีนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการสถาปัตยกรรมไทย 

 

 

รำลึกช่างหลวง"พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น"

 

         หลังการมรณกรรมของ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งประกอบเกียรติยศ และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ มีกำหนด 7 วัน

 

         และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 เวลา 17.00 น.

 

        น้อมรำลึก พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้ถวายรายงานในหลวงรัชกาลที่9 และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการปรากฏภาพทรงพระสรวลด้วยความสุข ท่านเป็นผู้ที่มีความรอบรู้งานช่างศิลป์ในทุก ๆ ด้าน และอุทิศตนทำงานเพื่อวงการสถาปัตยกรรมไทยมาตลอดชีวิต จึงนับเป็นช่างหลวงและบรมครูคนสำคัญของประเทศไทย ที่ต้องจารึกชื่อไว้ตราบนิรันดร์

  -----//-----

ขอบคุณข้อมูลวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ