ข่าว

กกท.ปั้น"นิวนอร์มอล สปอร์ตส"ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา เป้าพัฒนาควบคู่ศก.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กกท. ตกผลึกในการใช้"นิวนอร์มอล สปอร์ตส" เป็นแม่บทในการขับเคลื่อนมหกรรมกีฬาต่างๆ ฝ่าวิกฤติโควิด -19 ยอมรับการจัดแข่งขันกีฬาจากนี้ไปอยู่พื้นฐานที่ต้องรัดกุมในทุกมิติ ย้ำกิจกรรมกีฬา ที่จัดขึ้นมีผลต่อการพัฒนาวงการ และสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. )  เปิดเผยว่า   ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19" กกท. ได้วางแนวทางป้องกัน และมาตรการการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาในประเทศรูปแบบ "นิว นอร์มอล"เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรทางการกีฬาทุกองคาพยพ ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬารายการต่างๆ  เป็นรูปแบบปฎิบัติในการดำเนินกิจกรรมกีฬา นิวนอร์มอล สปอร์ตส: New Normal Sports  

 

ทั้งนี้รอบปี 2564 จะมีการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬา ประกอบด้วย  กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 "ช้างขาวเกมส์" 23 พฤษภาคม -5 มิถุนาย  , กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 3 "ตราดเกมส์" 8 -14 มิถุนายน  ,กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์" 15 สิงหาคม - 5 กันยายน ,กีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37 "นครลำดวนเกมส์"  18 - 22 กันยายน  ขณะที่ปี 2565 จะมีการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 37 "พัทลุงเกมส์" , กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 4 "เสกักเกมส์" , กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 48 "กาญจนบุรีเกมส์" ปี 2566 กีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 38 "เมืองกาญจน์เกมส์" มหกรรมกีฬาในประเทศเหล่านี้ถือเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทยแต่ละกลุ่ม 

 

สำหรับกีฬาประกอบไปด้วย ผู้เล่น ผู้ชม ผู้เชียร์ แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ "โควิด-19"  คำว่า นิวนอร์มอล เกิดขึ้น เดิมไม่เคยมีความคิดเรื่องของการจำกัดคนดู  ไม่มีความคิดเรื่องการจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เรื่องของมาตรการสาธารณสุขต่างๆ  แต่จากนี้ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ การจัดการแข่งขันกีฬาจะมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป บางชนิดกีฬาสัมผัสกันโดยตรง บางชนิดกีฬาไม่ต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในกฎกติกา มีการจัดทำคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแตกต่างกันไป

กกท.ปั้น"นิวนอร์มอล สปอร์ตส"ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา เป้าพัฒนาควบคู่ศก.

กีฬาในความรับผิดชอบภายใต้สมาคมกีฬา "แห่งประเทศไทย" มี 80 กว่าชนิดกีฬา เพราะฉะนั้น จะมีคู่มือ 80 กว่าคู่มือ ,กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข  ได้วิเคราะห์จนได้คู่มือแต่ละชนิดกีฬา ซึ่งนอกจากคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแล้ว  ก็ต้องปฏิบัติตามภายใต้มาตรการประกาศต่างๆ ของภาครัฐ  ดังนั้นนอกเหนือจากกฎกติกาสากล ที่กำหนดจากสหพันธ์กีฬานานาชาตินั้นๆ แล้ว ผู้จัดกีฬาต้องคำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ ตามคู่มือที่ได้ผลิตกันขึ้นมาภายใต้สถานการณ์โควิด-19   

 

"คอนเซ็ปต์ในการใช้กับการจัดมหกรรมกีฬานั้น ต้องยอมรับปัจจุบันไม่เคยมี เราจะมีรูปแบบของการจัดกีฬาเดี่ยวๆ เช่น การจัดวิ่ง การจัดแบดมินตัน การจัดฟุตบอล ประเทศไทยเราจัดไปแล้วภายใต้การระบาดของโควิด-19 หรือแม้กระทั่งมวยก็เริ่มจัดแล้ว แต่สำหรับในแบบที่เป็นมหกรรมกีฬา กำลังจะจัดในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 "ช้างขาวเกมส์" เป็นที่แรก ซึ่งจะมีความซับซ้อนกว่าการจัดกีฬาทั่วๆไป"


"เนื่องจากมหกรรมกีฬาจะมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ทุกชนิดกีฬาจะมาแข่งขันในห้วงเวลาเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องวางมากตรการเฉพาะสำหรับการจัดมหกรรมกีฬา ซึ่งตอนนี้มีคู่มือเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เน้นคือ ทำอย่างไรไม่ให้มีการรวมตัวกันในจังหวะเดียวกัน เช่น พิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน ซึ่งเดิมไม่ได้จำกัด แต่คราวนี้ได้จำกัดแล้ว จะมีมาตรการเรื่องของการเว้นระยะ  มีเรื่องการใช้แอลกอฮอล์ เรื่องของการกำชับการใส่หน้ากากอนามัย รูปแบบก็จะเรียบง่ายขึ้น ลดการสัมผัส รวมถึงเรื่องของการกินอยู่ด้วย"

 

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า  มหกรรมกีฬา  คือการที่นักกีฬาทุกจังหวัดเดินทางมารวมตัวกัน  ทำให้มีมาตรการเรื่องของการขยายห้วงเวลาแข่งออกไปแทนที่ เดิมจัด 7-10 วัน  ก็ขยายออกไปเพื่อลดการแออัด นอกจากนั้นสถานที่แข่งขันก็สำคัญ พยายามใช้มาตรการใหม่ สนามแข่งขันกับสถานที่พัก  ให้อยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ต้องมีการเดินทางมาก ไม่ต้องมีการไปสัมผัสสิ่งต่างๆมาก  จัดระเบียบใหม่ แบ่งกลุ่มชนิดกีฬาประเภททีม กีฬาต่อสู้ กีฬาบุคคล เพื่อให้มีการกระจายระยะเวลาไป  ช่วงแรกอาจจะแข่งกีฬาประเภททีม

กกท.ปั้น"นิวนอร์มอล สปอร์ตส"ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา เป้าพัฒนาควบคู่ศก.

ช่วงที่สองแข่งกีฬาบุคคล ช่วงที่สามแข่งกีฬาต่อสู้ เป็นต้น ซึ่งจะมีการจัดระบบใหม่ รวมไปถึงการกระจายไปจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เช่น จังหวัดตราด ที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาเยาวชนแห่งชาติ  ก็ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเช่นจังหวัดจันทบุรี  รับเป็นเจ้าภาพในหลายชนิดกีฬา  กล่าวคือแบ่งไปจัดที่จังหวัดจันทบุรี  จังหวัดระยอง, กรุงเทพมหานคร, จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ การจัดมหกรรมกีฬาในวิถีใหม่"นิวนอร์มอล"

 

"หัวใจหลักเลยคือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง กกท.ได้พูดคุยกับทางจังหวัดตราด รวมถึงท้องถิ่นตราด และสาธารณสุขตราด ซึ่งเราถามไปก่อนเลยว่า  ตราด มีศักยภาพด้านสาธารณสุขที่จะรองรับคนในเวลาเดียวกันในปริมาณเท่าใด ถ้าสาธารณสุขตราดบอกว่า มีความเสี่ยงที่จะรับคนได้เยอะๆ เช่นบอกว่า รับได้ครั้งละ 2,000 คน เราก็ต้องกลับมาวางแผนกัน เพราะเราไม่สามารถให้คนหมื่นกว่าคนมาในจังหวะเดียวกัน มากิน มาอยู่ มาใช้ชีวิตในจังหวัดตราดพร้อมกัน "

 

ดร.ก้องศักด  กล่าวด้วยว่า   หวังว่าการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการต่อไปในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์"  15 สิงหาคม - 5 กันยายน  จะมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น หลังจากประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นความเสี่ยงก็จะลดลงไปด้วย

 

"ท่ามกลางโควิด-19  ถ้าเราไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ความต่อเนื่องในการพัฒนานักกีฬาจะหยุดชะงักไป เช่น นักกีฬาได้แต่ซ้อมอยู่ที่บ้าน จะไม่เหมือนได้ลงสนามแข่งจริง ทั้งเรื่องของบรรยากาศ ประสบการณ์ต่างๆ  เพราะฉะนั้นสิ่งที่มหกรรมกีฬาจะเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนต่อวงการกีฬาคือ เรื่องของการพัฒนานักกีฬา ซึ่งเราตั้งเป้าว่าเราจะต้องช่วงชิงอันดับ 1 ในอาเซียนให้ได้   จะต้องเป็นประเทศชั้นนำในทวีปเอเชีย ติดอันดับ 6 ของเอเชียให้ได้ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีมหกรรมกีฬา   ซึ่งนอกจากประโยชน์ทางด้านกีฬาแล้ว สิ่งที่ชัดเจนก็คือ เรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ เพราะจะเกิดการหมุนเวียนของเงินทันที เช่น กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่ผ่านมาเงินหมุนเวียนประมาณ 800-900 ล้านบาท ถ้าเป็นกีฬาแห่งชาติ จะขยับตัวเลขขึ้นไปอีกเป็นหลักพันล้าน ตรงนี้คือ ประโยชน์ที่ได้จากการจัดมหกรรมกีฬา" ผู้ว่า กกท.  กล่าว 

 

กกท.ปั้น"นิวนอร์มอล สปอร์ตส"ขับเคลื่อนมหกรรมกีฬา เป้าพัฒนาควบคู่ศก.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ