ข่าว

เปิดงบ-แผนกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" 100 ล้านบาท ทร.ชี้จำเป็นต้องกู้ขึ้นบก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดงบและแผนกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง คาดใช้เงิน 100 ล้านบาท บอกเหตุผลจำเป็นต้องกู้ขึ้นบก ทร.จะดำเนินการเป็นขั้นตอนสุดท้ายของภาระกิจ

พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ถึงแผนการกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" และการเร่งค้นหากำลังพลที่สูญหายจำนวน 23 นาย ว่า สำหรับแผนการกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" หลังจากที่อับปางกลางทะเลอ่าวไทยบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพเรือ (ทร.) ได้วางแผนเบื้องต้นโดยจะต้องเริ่มจากการสำรวจจุดที่เรืออัปปางก่อน พร้อมกับตรวจสอบว่ามีกำลังพลที่สูญหายติดค้างอยู่ภายในเรือหรือไม่  เพราะภารกิจค้นหากำลังพลที่สูญหายถือว่าเป็นภารกิจหลักที่ ทร. จะต้องเร่งดำเนินการก่อน 

 

 

หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบสภาพ "เรือหลวงสุโขทัย" ให้ชัดเจนเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการอับปางอีกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณใต้ท้องเรือ เพื่อพิสูจน์ว่ามีรอยแตก รอยรั่วหรือไม่ เพราะ ทร.จำเป็นจะต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าก่อนเกิดอับปางเกิดอะไรขึ้น รวมถึงเพื่อดูว่าจะสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เรือที่อับปางไปแล้วก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก 

พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวต่อว่า สำหรับการกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" ขึ้นมาจากใต้ทะเลนั้นเนื่องจาก ทร. ไม่มีความเชี่ยวชาญและไม่มีประสบการณ์ ดังนั้นการดำเนินกู้เรือหลวงสุโขทัย จำเป็นจะต้องให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการให้ เพราะจะมีความเชี่ยวชาญในการกู้ซากเรือมากกว่า โดยการดำเนินการกู้ซากเรือจะอยู่ในความดูแลของ กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดหาเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาดำเนินการ เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณในการกู้  "เรือหลวงสุโขทัย" ประมาณ 100 ล้านบาท โดยกระบวนในการดำเนินการจะเป็นการเปิดประกวดราคา ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของราชการ  

พล.ร.อ.ปกครอง ระบุว่าต่อ สำหรับสาเหตุที่ ทร. จำเป็นจะต้องกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" ขึ้นมานั้น เพราะป้องกันน้ำมันที่ยังมีอยู่ในตัวเครื่องรั่วลงสู่ทะเล ซึ่งหากน้ำมันรั่วออกสู่ทะเลจะถือว่าเป็นอันตรายมาก ๆ  และป้องกันการกีดขวางการเดินเรือของเรือลำอื่น ๆ เพราะระดับความลึกที่เรือหลวงสุโขทัยจมลงไปนั้นมีระยะเพียง 40 เมตรเท่านั้นในระยะดังกล่าวจะทำให้เกิดการกีดขวางเรือเดินทะเลน้ำลึก ซึ่งแตกต่างจาก เรือไททานิค ที่มีการอับปางในทะเลที่มีความลึก 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ลึกมาก และไม่กีดขวางการเดินรือน้ำลึกลำอื่น ๆ  อีกทั้งหากปล่อยให้เรือจมอยู่ใต้น้ำโดยที่ไม่ได้กู้ขึ้นมาจะเกิดกรณีที่คลื่นซัดและตัวเรือเคลื่อนที่ไม่กีดขวางเรือลำอื่น ๆ ด้วย  อย่างไรก็ตามแผนการ กู้เรือหลวงสุโขทัย จะดำเนินการเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพราะภาระกิจหลักขณะนี้คือการค้นหากำลังพลที่สูญหายให้เจอทุกนายก่อน  

 

 

"ที่ผ่านมาทร.ไม่เคยประสบเหตุการณ์ร้ายแรงทางทะเลมาก่อน หลัก ๆ ภาระกิจของ "เรือหลวงสุโขทัย" คือ การป้องกันน่านน้ำและให้ความช่วยเหลือเรือเดินทะเลที่ประสบอุบัตเหตุ  ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์  "เรือหลวงสุโขทัย" อับปางครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ของ ทร. เพราะที่ผ่านตั้งแต่ในอดีตไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะทำให้เราสูญเสียกำลังพลไปแล้ว ยังส่งผลไปถึงการสูญเสียงบประมาณ กว่า 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมาก" พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวทิ้งท้าย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ