ข่าว

"ฝีดาษลิง" WHO เปิดข้อมูล แพร่ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน แรงกว่า โควิด

"ฝีดาษลิง" WHO เปิดข้อมูล แพร่ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน แรงกว่า โควิด

08 มิ.ย. 2565

"ฝีดาษลิง" ไวรัสฝีดาษลิง WHO เปิดสาเหตุระบาดใหญ่ แถมแพร่อย่างน้อย 2 สายพันธุ์พร้อมกัน การแยกกักตัว ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่า โควิด

แม้จะยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย สำหรับโรค "ฝีดาษลิง" แต่เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ให้ความรู้เรื่อง "ฝีดาษลิง" ใน 2 เรื่องใหญ่ ผ่านเพจ Center for Medical Genomics ระบุว่า

  • WHO แจงว่า เกิดการระบาดใหญ่ที่ผิดปกติของ ไวรัสฝีดาษลิง นอกทวีปแอฟริกาอย่างรวดเร็วภายใน 3 อาทิตย์ ส่งสัญญาณอันตรายว่า ไวรัสได้เปลี่ยนไป ทั่วโลกต้องช่วยกันยุติการระบาดก่อนจะสายกลายเป็นโรคประจำถิ่น
  • สาเหตุหลักน่าจะมาจากการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงเมื่อ 5 ปีก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ใน “ไนจีเรีย” ที่ถูกละเลย
  • WHO ย้ำว่า ไวรัสฝีดาษลิงไม่ใช่เชื้อไวรัสที่ติดต่อ "ผ่านสารคัดหลั่งในช่องคลอดและอสุจิขณะมีเพศสัมพันธ์" เหมือนเชื้อไวรัสเอชไอวี แต่สามารถติดต่อกันได้ "ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์" เช่นเดียวกับหวัด หรือโควิด และไม่ใช่โรคเฉพาะเกย์ 
  • บางประเทศเริ่มพบการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงอย่างน้อยสองสายพันธุ์ (clade) ไปพร้อมกัน เช่นที่สหรัฐอเมริกา ยังไม่ทราบความแตกต่างของการระบาดและความรุนแรงของอาการระหว่าง 2 สายพันธุ์
  • นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มระดมถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 2 สองแสนตำแหน่งของไวรัสฝีดาษลิงขึ้นแบ่งปันบนฐานข้อมูลโลก "GISAID"
  • WHO แถลงล่าสุด มีผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงแล้วอย่างรวดเร็วกว่า 800 ราย (6 มิ.ย. 2565) ในช่วง 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่ WHO คาดว่าจะเกิดตามมาคือการแยกกักตัว 
  • ไวรัสฝีดาษลิงมีการแยกกักตัวตั้งแต่ขึ้นตุ่มจนตกสะเก็ด (infectious period) กินเวลานานถึง 2-4 สัปดาห์ ซึ่งยาวนานกว่าไวรัสโคโรนา 2019 มาก อันน่าจะส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่าโรคโควิด-19 ที่ระยะแยกตัวสั้นกว่า ทั้งด้านเศรษฐกิจ (ปัญหาการต้องหยุดประกอบอาชีพนานร่วมเดือน) สังคม และสาธารณสุข(ค่าใช้จ่ายในระหว่างการกักแยกตัวเอง นานร่วมเดือน) หากมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย 

\"ฝีดาษลิง\" WHO เปิดข้อมูล แพร่ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน แรงกว่า โควิด

ต้นกำเนิดของฝีดาษลิง

 

เกือบ 5 ปีก่อน (พ.ศ. 2560)ได้เกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างไม่ปกติในไนจีเรีย ซึ่งอยู่ห่างไกลไปทางตะวันตกของแอฟริกา โดยพบเด็กชายอายุ 11 ขวบ เกิดแผลที่บริเวณผิวหนังในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 จากการสืบสวนโรคเป็นการระบาดจากสัตว์สู่คน เดิมแพทย์ผู้รักษาสงสัยว่า ติดเชื้อไวรัสสุกใส แต่จากการทดสอบทางห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่า เป็นโรคฝีดาษลิง โดยมีการแพร่ไปยังผู้อื่นอีก 12 คน โรคจึงถูกควบคุมสงบลง และที่ผิดปกติมากกว่านั้นคือ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันปี 2565 

 

ในไนจีเรียยังพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติมาอย่างต่อเนื่อง จำนวนมากกว่า 500 ราย อันอาจเนื่องมาจากไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นผู้ชาย และหลายคนมีรอยโรคที่อวัยวะเพศ ทำให้ตรวจคัดกรองได้ยาก เนื่องจากตุ่มแผลอยู่ใต้ร่มผ้า ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการติดต่อระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งดูจะแตกต่างจากการแพร่ติดต่อของไวรัสฝีดาษลิงในอดีต ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน ด้วยการสัมผัสสัตว์ป่วย ถูกสัตว์กัดหรือข่วน กินเนื้อสัตว์ที่ไม่สุก โดยจะมีตุ่มแผลเกิดขึ้นตามหน้าและตัว แต่เนื่องจากโรคฝีดาษลิง เกิดขึ้นในประเทศที่ยากจน และอยู่ห่างไกลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาจึงไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขเท่าที่ควร แม้ว่าสาธารณสุขไนจีเรียได้ร้องขอความช่วยเหลือเรื่องการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงจากประชาคมโลกมาโดยตลอดก็ตาม 

 

ในปี 2560 ได้เกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างไม่ปกติในยุโรป สหราชอาณาจักร และอิสราเอล จากผู้ที่เดินทางมาจากไนจีเรีย แต่โรคก็ถูกควบคุมให้สงบลงได้  (ภาพ 2-3)

การระบาด ไวรัสฝีดาษลิง

WHO  แถลงว่า ไวรัสฝีดาษลิงไม่ใช่เชื้อไวรัสที่ติดต่อ "ผ่านสารคัดหลั่งในช่องคลอดและอสุจิขณะการมีเพศสัมพันธ์" เหมือนเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบ C ซึ่งจะสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำอสุจิและของเหลวในช่องคลอด (ยังไม่มีข้อมูลว่าพบไวรัสฝีดาษลิงในน้ำอสุจิและของเหลวในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ) แต่สามารถติดต่อได้ "ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์" ได้เช่นเดียวกับโรคหวัด และโควิด-19 เพราะเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด แม้ว่าในการระบาดล่าสุดของไวรัสฝีดาษลิงจะแพร่กระจายในหมู่ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายหรือเกย์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคติดต่อเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ทุกคนไม่ว่าเพศใด อายุใด มีโอกาสติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้เช่นกัน 

\"ฝีดาษลิง\" WHO เปิดข้อมูล แพร่ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน แรงกว่า โควิด

เปิดสาเหตุทำไม ฝีดาษลิง กลับมาระบาดอีก

ผู้เชี่ยวชาญกำลังหาคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดว่าเหตุใดไวรัสฝีดาษลิงสามารถหลบเรดาร์การตรวจจับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนกลับมาระบาดใหญ่ในประเทศนอกทวีปแอฟริกาในปี พ.ศ. 2565 จากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีประวัติเดินทางไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไนจีเรียโดยอาจเป็นไปได้ว่า

 

  1. มีเหตุการณ์บางอย่าง เช่นงานชุมนุมใหญ่ที่มีคนจำนวนมากมาเข้าร่วม เช่น งานชุมนุมชายรักชาย (Gay pride) ที่สเปน ทำให้ไวรัสฝีดาษลิงบางคนมีโอกาสได้แพร่กระจายระหว่างคนสู่คนได้มากยิ่งขึ้น เมื่อผู้เข้าร่วมงานที่มีการติดเชื้อระหว่างการชุมนุมได้เดินทางกลับไปยังประเทศที่ตนพำนักอยู่ก็เกิดการระบาดใหญ่ติดตามมา
  2. ไวรัสฝีดาษลิงซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นเดิมมีการระบาดจากสัตว์สู่คนเป็นระยะๆ ได้มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์มาเป็นลำดับจนสามารถระบาดติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ดีขึ้น 
  3. ไวรัสฝีดาษลิงอาจมีแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เราตรวจไม่พบ

 

การระบาดของ ฝีดาษลิง แตกต่างจากโควิด

การระบาดของไวรัสฝีดาษลิงแตกต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 ที่เราคุ้นเคย เช่น แต่ละสายพันธุ์ (clade) ของไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือสายพันธุ์ย่อย จะทยอยระบาดออกมาแทนที่กัน เช่น เดลตาระบาดมาแทนที่อัลฟา และ เบตา ในขณะที่โอไมครอนระบาดมาแทนที่เดลตา เป็นต้น แต่ลักษณะการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงดูเหมือนหลายสายพันธุ์จะสามารถระบาดไปพร้อมกันได้

 

ตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ.2565 ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงที่พบการระบาดในทวีปยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ในประเทศ สเปน, เนเธอร์แลนด์, ฟินแลนด์, ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์, สโลวีเนีย, อิตาลี, อิสราเอล, ฝรั่งเศส, เบลเยียม,  เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส พบว่า เป็นไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่ระบาดเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกามากกว่า 40 ตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ เช่น ในกรณีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (US CDC) ได้สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2565 พบว่า มีการระบาดไวรัสฝีดาษลิงไม่น้อยกว่าสองสายพันธุ์ควบคู่กันไป สายพันธุ์แรกมีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับบรรดาสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในยุโรปในขณะนี้ (ปี 2565) ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่ได้มีประวัติการเดินทางไปไนจีเรีย ส่วนสายพันธุ์ที่สองพบว่า มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับสายพันธุ์จากผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากไนจีเรียเมื่อปี 2564

ไวรัสฝีดาษลิง

ทั้งนี้ US CDC คาดคะเนว่า ได้มีไวรัสฝีดาษลิงเข้ามาระบาดในสหรัฐอเมริกาแบบเงียบ ๆ มาระยะหนึ่งโดยกำลังสอบสวนจากการถอดรหัสพันธุกรรมว่าได้เข้ามาระบาดแล้วกี่ระลอก และแต่ละระลอกมีอาการการติดเชื้อแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

 

หากมีการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงเกิดขึ้นในประเทศซึ่งไม่เคยมีการระบาดมาก่อน เช่นประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบสืบสวนถอดรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งอาทิตย์ เพื่อให้ทราบว่าเป็นการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ไหน เพื่อสามารถจัดการป้องกัน ดูแล และรักษาให้สอดคล้องกับแต่ละสายพันธุ์ที่เข้ามาระบาดและแพร่จำนวนในประเทศไทย

ไวรัสฝีดาษลิง


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ พัฒนาการตรวจขึ้นสองแบบคือ 


1. พัฒนาการตรวจ Massarray genotyping อันเป็นการตรวจกรองเบื้องต้น หลังจากการตรวจ PCR ให้ผลบวก ที่สามารถตรวจกรองและคัดแยกไวรัสเหล่านี้ที่ก่อให้เกิดตุ่มน้ำบริเวณผิวหนังที่แยกยากจากตุ่มน้ำจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในระยะแรก ไปพร้อมกันในการทดสอบเพียงครั้งเดียว (single tube reaction)  

  • a. Herpes Simplex virus type 1 หรือ เชื้อ HSV-1 ที่มักพบการติดเชื้อเป็นตุ่มน้ำบริเวณปากหรือรอบๆ ปาก 
  • b. Herpes Simplex virus type 2 หรือ เชื้อ HSV-2 เป็นการติดเชื้อในลักษณะตุ่มน้ำบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ หรือ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทหารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ ฯลฯ
  • c. Herpes Simplex virus type 3 หรือ HSV-3 ก่อให้เกิดสุกใส  chickenpox (varicella) และงูสวัด shingles (herpes zoster) เกิดตุ่มน้ำขึ้นเช่นเดียวกัน
  • d. ไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังระบาดในทวีป ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงดั้งเดิม >40 ตำแหน่ง
  • e. ไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดในปี 2560 จากประเทศไนจีเรีย ทวีปแอฟริกา ซึ่งยังไม่มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ดั้งเดิม
  • f. ไวรัสฝีดาษคน (smallpox) ที่ผู้ติดเชื้อผู้ใหญ่มีอัตราการเสียชีวิต 30% และในเด็กสูงถึง 80% ปัจจุบันคาดว่าได้ถูกขจัดสูญพันธุ์ไปแล้ว 

 

2. การถอดรหัสพันธุ์อย่างรวดเร็วในลักษณะของ “Metagenomic” ซึ่งสามารถบ่งชี้จุลชีพและไวรัสอาร์เอ็นเอ หรือดีเอ็นเอ ทุกประเภท และทุกสายพันธุ์ จากสิ่งส่งตรวจ เพื่อให้ทราบว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับจุลชีพหรือไวรัสประเภทใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลมากพอเพียงที่จะระบุได้ว่า จะเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ไหน และมีการกลายพันธุ์ไปอย่างไร เพื่อการดูแล ป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที รวมทั้งร่วมด้วยช่วยกันเร่งแชร์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมขึ้นบนฐานข้อมูลโลก “GISAID” และ "Nextstrain" เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์จากทุกประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันยุติการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงลงโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน 

ดร.โรซามันด์ เลวิส (Rosamund Lewis)  หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโรคฝีดาษลิง WHO

 

 

 

 

ที่มา Center for Medical Genomics