คอลัมนิสต์

"ทักษิณ" สะเทือน "ก้าวไกล" หักเพื่อไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยังไม่จบ "ก้าวไกล-ก้าวหน้า" กร้าวใส่ "เพื่อไทย-ทักษิณ" ค้านในค้าน แค้นในแค้น คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

++

‘โทนี่’ ตกยุค

++

ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ไม่ได้เกิดเฉพาะกรณีงบกลาง ย้อนไปดูข่าวช่วงแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรใบเดียว หรือบัตร 2 ใบ ก็มีวิวาทะกันร้อนแรง ลามไปถึงกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย

 

ทั้งสองพรรค จัดอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย พวกเดียวกัน มีฐานมวลชนกลุ่มเดียวกัน เพื่อไทยได้ “รากหญ้า” และก้าวไกล ได้ “คนหนุ่มสาว”

 

“สหายใหญ่” ภูมิธรรม เวชยชัย และ “สหายจรัส” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คงคุ้นเคยทฤษฎีเก่าๆ ว่าด้วยวิธีประชาธิปไตยที่ใช้แก้ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนคือ “สามัคคี-วิจารณ์-สามัคคี” เริ่มจากที่จะสามัคคีกัน ผ่านการวิจารณ์หรือการต่อสู้ แก้ความขัดแย้งให้ตกไป แล้วบรรลุซึ่งความสามัคคีใหม่บนรากฐานใหม่

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” ซ้ายฝรั่งเศส ก็คงคิดไม่ต่างกัน จึงโพสต์เฟซบุ๊คเรื่อง “การดีเบต ไม่ได้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอ” ที่ระบุว่า “การวิจารณ์พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำให้เสียแนวร่วม การวิจารณ์พรรคก้าวไกลไม่ได้ทำให้เสียแนวร่วม การดีเบตไม่ได้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอเลย แต่จะช่วยให้เราเห็นเฉด เห็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้น”

 

"ทักษิณ" สะเทือน "ก้าวไกล" หักเพื่อไทย

ปิยบุตร เตือนเพื่อไทย-ทักษิณ

ส่วนประเด็นที่ปิยบุตรเขียนเรื่อง “ชวนมองภูมิทัศน์ใหม่การเมืองไทย” กลับชวนให้คิดว่า ฝ่ายก้าวหน้า-ก้าวไกล กำลังมองว่า ฝ่ายเพื่อไทยหรือทักษิณ อาจจะพ้นยุคไปแล้ว

 

หากมองในอีกมิติหนึ่ง ภาพจำที่คนทั่วไปนึกถึง 2 พรรคการเมืองนี้ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร” กับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ทั้งคู่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ก็ยังมีอิทธิพลทางความคิดเหนือพรรคทั้งสอง และกลายเป็นคู่แข่งไปโดยปริยาย

 

++

อย่าผูกขาด

++

“ปิยบุตร” มองว่า ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างพรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรก มีมาตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ อยากชวนให้มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าคิดเหมือนกันหมด ก็คงไปอยู่พรรคเดียวกัน วิธีคิด วิธีเดิน ชัดเจนว่าคนละแบบกัน และก็อยากให้ชวนมองด้วย เรื่องภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ที่ฟูมฟักคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ขึ้นมา

 

ในบทความของปิยบุตร ยังได้ย้อนภาพอดีตของพรรคการเมืองในเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ที่โดดเด่นเป็น “ธงนำ” ของฝ่ายประชาธิปไตย มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549

 

เลือกตั้ง 2550 พรรคพลังประชาชน ต่อสู้กับพรรคการเมืองที่คนเสื้อเหลืองหนุนหลัง ปี 2554 พรรคเพื่อไทย ก็สู้กับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ 3 ป.ยุคแรก

 

"ทักษิณ" สะเทือน "ก้าวไกล" หักเพื่อไทย

ทักษิณ วิ่งหาฐานเสียงเดิมของตัวเอง

“การเลือกตั้งปี 2562 มีตัวละครทางการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น และก็มีความคิดที่สนับสนุนประประชาธิปไตย ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง 2562 โดยการไม่เอา คสช. ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา..” จึงมีคำว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ผูกขาดอยู่พรรคเดียว

 

ปิยบุตร ชี้ว่า “ภูมิทัศน์การเมือง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ จากปี 2549 ถึงวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบที่ว่ามาจากการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก ชนะเลือกตั้งมาแล้วเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แค่นั้น แต่ในด้านเนื้อหาต้องมี เช่น ฟังเสียงประชาชน เปิดเสรีภาพในการวิจารณ์”

 

คู่หูของธนาธร พยายามบอกว่า พรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณแค่ชนะเลือกตั้งแล้ว บอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้ ยังจะต้องดูเนื้อหาด้วย เหมือนจะชี้ว่า ครั้งหนึ่ง พรรคไทยรักไทย ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา”

 

“วันนี้ ไม่มีทางที่เราจะใส่แว่นมองแบบปี 2549 ได้แล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยแบบไหน ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ” ปิยบุตรสรุป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ