คอลัมนิสต์

ไฟลามทุ่ง "กองทัพชาติพันธุ์" สงครามท้องถนน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ตัวแปรการเมืองในเมียนมา จะขยับหมากอย่างไร หาก "มินอ่องหล่าย" ปราบม็อบสามนิ้วเด็ดขาด  คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก


++
เสียงปืน และเลือดหยดแรก บนถนนสายหลักในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของเมียนมา กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หลังการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการรัฐประหารปะทุต่อเนื่อง
    

วันที่ 9 ก.พ.2564 มีผู้ชุมนุมประท้วงต้านการรัฐประหาร เป็นวันที่ 3 ตำรวจได้พยายามขับไล่ผู้ประท้วงด้วยด้วยการยิงปืน ส่วนใหญ่เป็นการยิงขึ้นฟ้า รวมทั้งมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล 4 คน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... กลิ่นปฏิวัติ "ทหารพม่า" จี้สอบโกงเลือกตั้ง

ไฟลามทุ่ง "กองทัพชาติพันธุ์" สงครามท้องถนน
    3 ผู้นำกองทัพแห่งตะอาง

 

มีข้อน่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเมียนมา จะเป็นคนหนุ่มสาว และกลุ่มชาติพันธุ์ ในหัวเมืองภูมิภาค
    

ภาพข่าวการชุมนุมต้านรัฐประหารที่เผยแพร่ในโซเชียล จะพบว่า มีชาวคะฉิ่น, ชาวไทใหญ่, ชาวกะเหรี่ยง, ชาวมอญ, ชาวยะไข่(อาระกัน), ชาวชิน และชาวปะหล่อง ออกมาเดินขบวนบนท้องถนนกันอย่างคึกคัก 
    

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์การเมืองในเมียนมา จึงจับตา “กองกำลังติดอาวุธ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ดำเนินการสู้รบกับกองทัพเมียนมา มายาวนาน บางส่วนเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ บางกลุ่มมีเขตปกครองตนเอง แต่อีกหลายกองกำลังที่ถูกประทับตราเป็นผู้ก่อการร้าย
    

ผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์เหล่านี้ จะมีท่าทีอย่างไร? ในสถานการณ์การชุมนุมต้านประหารที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาเดินขบวนกันคึกคักเช่นนี้

 

ไฟลามทุ่ง "กองทัพชาติพันธุ์" สงครามท้องถนน

เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพไทใหญ่


++
ปะหล่องชูสามนิ้ว
++
เมื่อไม่นานมานี้ โซเชียลพม่าแชร์ภาพ นายพลทาโบนจ่อ และมิตรสหาย ผู้นำกองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ชู 3 นิ้ว แสดงจุดยืนคัดค้านการทำรัฐประหาร และสนับสนุนการชุมนุมประท้วงของชาวพม่าอย่างสันติวิธี
    

กองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) เป็นกองกำลังของแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (PSLF) และเป็น 1 ใน 4 กองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งรวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือประกอบด้วยกองทัพคะฉิ่น(KIA) ,กองทัพตะอาง (TNLA) กองทัพโกก้าง(MNDAA) และกองทัพอาระกัน(AA)
    

ชาติพันธุ์ปะหล่อง หรือดาราอั้ง ในเมียนมา มีประมาณ 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตภูเขารัฐฉานเหนือ และตอนใต้ของรัฐคะฉิ่น โดยชาวปะหล่องได้ดำเนินการต่อสู้เพื่อการสร้างรัฐเอกราช มาหลายรุ่น
    

ปี 2556 นักปฏิวัติชาวปะหล่องได้ตั้งองค์กรใหม่คือ แนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง(PSLF) และจัดตั้งกองทัพแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง  โดยการสนับสนุนของกองทัพคะฉิ่น (KIA) 
    

สมัยรัฐบาลอองซานซูจี ได้การประชุมสันติภาพปางโหลงศตวรรษที่ 21 หลายครั้ง โดยการเชิญผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มากกว่า 20 กลุ่ม เข้ามาพูดเรื่องเจรจาสันติภาพ แต่รัฐบาลซูจี และกองทัพเมียนมา ไม่เชิญ 3 กองกำลังคือ กองทัพตะอาง(TNLA) กองทัพโกก้าง(MNDAA) และกองทัพอาระกัน(AA) โดยถือว่ากลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เหล่านี้ เป็นกลุ่มก่อการร้าย
    

ไม่น่าแปลกใจ ที่นายพลทาโบนจ่อ พร้อมสหายคู่ใจ จึงโพสต์ภาพชู 3 นิ้ว ต้านรัฐประหาร
 

ไฟลามทุ่ง "กองทัพชาติพันธุ์" สงครามท้องถนน

มินอ่องหล่าย ยืนยันเดินหน้าเจรจาสันติภาพ

 

++
ลีลายอดศึก
++
ด้านกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ในสมัยรัฐบาลเต็งเส่ง ปี 2558 นำโดยเจ้ายอดศึก ผู้นำสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ออกแถลงการณ์คัดค้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา เป็นการสวนทางกับแนวทางที่จะพัฒนาระบอบการเมืองของประเทศให้ก้าวสู่การเป็นสาธารณรัฐที่แท้จริง
    

พร้อมกันนั้น เจ้ายอดศึกประกาศว่า สภากอบกู้รัฐฉานขอยืนอยู่เคียงข้างกับพ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนส่วนใหญ่
    

ส่วนสภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA หรือ KPC) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ก็มีท่าทีและจุดยืนไม่ต่างจากเจ้ายอดศึก 
    

ขณะที่ผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ระดับ “ขาใหญ่” อย่างกองทัพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ยังนิ่งเงียบ ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมา
    

อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิดระบาดหนัก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ส่งผู้แทนกองทัพเมียนมา นำอุปกรณ์การแพทย์ไปมอบให้ผู้นำกองทัพคะฉิ่น, กองทัพว้า และกองทัพเมืองลา 
    

ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา ไม่ได้มีแค่กองทัพเมียนมา กับพรรคเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจี เท่านั้น หากแต่มีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีก 20 กลุ่ม ที่น่าจับตามอง ในสถานการณ์ที่มวลชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เดินลงท้องถนน ชูสามนิ้วต้านรัฐประหาร
    

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ