คอลัมนิสต์

จบแบบไหน ตุลาอาถรรพ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตุลาอาถรรพ์ จบแบบไหน เมื่อประชาชนปลดแอก ลั่นกลองศึกรัฐธรรมนูญ ปักหลักชุมนุมม้วนเดียวจบ... คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดย ขุนน้ำหมึก

           เค้าลางสงครามท้องถนนบังเกิดขึ้นทันที เมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จับมือ ส.ว.ลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง โดยอ้างว่าเพื่อความรอบคอบ

        อ่านข่าว : มติ 432:255 เสียงตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

           ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับ “เกมยื้ออำนาจ” ในครั้งนี้

            

           ด้านพลังมวลชนนอกสภา กลุ่มไทยภักดี นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี เข้ายื่นรายชื่อจำนวน 130,000 รายชื่อ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา(ส.ว.) เพื่อคัดค้านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

           ส่วนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw (ไอลอว์) นำ 100,732 รายชื่อ ส่งให้รัฐสภา เพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชน ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

           ที่ร้อนแรงในนาทีนี้คือ คำประกาศของ “อานนท์ นำภา” แกนนำคณะประชาชนปลดแอก ที่ระบุว่า ภายในเดือนตุลาคม เตรียมตัวลงท้องถนนได้เลย นักศึกษานำลงท้องถนนแน่นอน และเป็นการสู้แบบม้วนเดียวจบ จบในเดือนตุลาคม

 

           ทนายอานนท์ย้ำถึงแผนการระดมคนเข้ากรุง “เตรียมขายข้าวมาชุมนุมยืดเยื้อไล่เผด็จการได้เลย ไล่ทั้งองคาพยพ..”

 

           ++

           รัฐประหารเงียบ

           ++

 

           เมื่อเอ่ยถึงเดือนตุลาคม คนไทยคงจดจำเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ได้ดี เพราะเป็นการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเป็นคนสร้างขึ้นมา เป็นประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นจริงมากที่สุด          
         

         จุดเริ่มต้นของแรงปะทุก็มาจากรัฐบาลถนอม เล่นเกมยื้อการร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้นักศึกษา และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การจับกุม 13 นักเคลื่อนไหวหรือ 13 กบฏ

 

           จากการชุมนุมปักหลักพักค้าง นำไปสู่การเดินขบวน จนเกิดเหตุปะทะ และบานปลายกลายเป็นจลาจล จบด้วย “รัฐบาลพระราชทาน”

 

          ประวัติศาสตร์ฉบับใต้ดิน ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลา มาจากการรัฐประหารเงียบ โดยอาศัยเงื่อนไขการเดินขบวนใหญ่ไล่รัฐบาลถนอม

 

           ++

           พลังซ้าย-ขวา

           ++

 

           ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน เกิดความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ “ซ้าย-ขวา” เมื่อขบวนนักศึกษา ประชาชน มีความโน้มเอียงไปทางความคิดสังคมนิยม

 

           ขณะที่ชนชั้นนำเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งพลังมวลชนฝ่ายขวา ต่อต้านการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย

 

           จุดแตกหักคือ การล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมต้านเผด็จการภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำไปสู่การรัฐประหาร 6 ต.ค.2519

 

           ตุลาอาถรรพ์ ที่คณะประชาชนปลดแอก จะต้องเผชิญนั้น หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า จะจบแบบไหน..14 ตุลา หรือ 6 ตุลา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ