คอลัมนิสต์

เรื่องเล่าในอดีต บางครั้งเป็นได้เพียง "นิทานหลอกเด็ก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพจำในอดีต วิถีชนบทแต่ละหมู่บ้าน ผู้สูงวัยถูกล้อมวงด้วยเด็กๆ เพื่อฟังนิทาน เมื่อวันเวลาผ่าน ยุคสมัยเปลี่ยนไป อย่างรวดเร็ว เรื่องเล่าในอดีตบางครั้งก็เป็นได้เพียง นิทานหลอกเด็ก บทวิเคราะห์โดย ชัยวัฒน์ ปานนิล

         ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ คุณยายเป็นนักเล่านิทานประจำหมู่บ้าน มีเด็กหลายคนมาล้อมวงคอยฟังนิทานจากคุณยาย ทุกคนจะเงียบกริบและตั้งใจฟังอย่างสนุกสนาน นิทานเป็นความบันเทิงเดียวที่เด็กๆ จะได้รับในยุคนั้น ก่อนที่เทคโนโลยีจะมาแยกระยะห่างระหว่างบุคคลออกไปจนหมดสิ้น

 

       โลกปัจจุบันเปลี่ยนไป ข่าวสารสามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างรวดเร็ว ไม่จำกัดสถานที่และเวลา การที่คนเราได้รับรู้อะไรเพียงบางส่วน อาจทำให้เข้าใจว่าตนเองรู้แจ้ง ทำให้เกิดความมั่นใจในองค์ความรู้ของตนเอง ที่ได้มาโดยปราศจากประสบการณ์หรือไม่เคยได้สัมผัสกับความเป็นจริงเลย อาจทำให้บุคคลนั้น ยิ่งมั่นใจในความรู้ของตนเองและแสดงออกถึงอาการที่แข็งกราว มั่นใจในตนเอง ทั้งที่มีความรู้เพียงครึ่งๆ กลางๆ อาจบอกได้ว่า เป็นการหลงผิดก็เป็นได้

 

      ส่วน โลกของนิทาน(หลอกเด็ก) สมัยผมฟังนิทาน ส่วนหนึ่งเพื่อความบันเทิงและรับคำสอนจากผู้ใหญ่สอนเราผ่านนิทานว่า โลกนี้มี ธรรมะกับอธรรม มีฝ่ายพระเอกกับฝ่ายผู้ร้าย บางคนเกิดมาเพื่อยิ้มละไมเป็นคนดีไปตลอดชีวิต บางคนเกิดมาเพื่อแยกเขี้ยวยิงฟันเป็นคนร้ายไม่ได้เลิก

 

        และเด็กทุกคนก็ควรตัดสินใจเลือกอยู่ข้างพระเอก ถ้าไม่ได้เป็นพระเอกอย่างน้อยเป็นลูกน้องพระเอกก็ยังดี ทุกอย่างถูกกำหนดเช่นนั้น แต่อย่างไรผู้ใหญ่ก็ไม่ลืมที่จะเล่าเรื่องผีเป็นเรื่องสุดท้าย เพื่อให้เราเข้านอนด้วยความกลัวและหลับไปอย่างเร็ว จนกว่าจะถึงเช้าวันใหม่

          เป็นอันว่า ในหมู่มนุษย์ของเราอันเป็นสัตว์ครองโลก จัดว่าฉลาดที่สุดแล้ว (เท่าที่ทราบ ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) มีสมองมากที่สุดแล้ว ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้ปล่อยให้เด็กเห็นโลกตามที่มันเป็น

 

        ซึ่งเด็กแต่ละคนควรจะโตขึ้นมา ด้วยวิธีแยกแยะของตัวเอง ว่าสิ่งใดควรฝังใจ ฝังจำ ยึดมั่นเป็นคุณงามความดีกันแน่ ทำอย่างไร เราจะให้เด็กเห็นความจริง คนๆ หนึ่งไม่ได้อยู่ข้างดีหรือข้างร้ายมาแต่เกิด ทุกคนมีที่มาที่ไป ทุกคนเผลอทำชั่วบ้าง มีแก่ใจทำดีบ้าง เด็กๆ สามารถโตขึ้นมาแบบทันเหตุการณ์ไม่ตกข่าว ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าข่าวสารไม่ได้น่าเสพไปทั้งหมด หลายเรื่องไม่ต้องรู้ก็ได้ 

 

        ย้อนกลับมาที่ การศึกษาของประเทศไทย ตาม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการจัดการศึกษา โดย มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกใน ความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

        มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อ การศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต บนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ

 

        หรือว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นผลจากการจัดการศึกษาที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างมากมาย จนคนที่ออกแบบการศึกษายังรับมันไม่ได้ หรือเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของข่าวสารเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น       

          การได้รับองค์ความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยปราศจากประสบการณ์จริง ถ้าเป็นผลไม้ที่ยังไม่สุกก็รีบเด็ดมารับประทาน จึงไม่อร่อยอย่างที่คาดหวัง แม้จะเป็นไปในรูปแบบไหนก็ดีผลที่ได้รับก็ยังคงเป็นความเสียหายของบ้านเมือง อยากฝากให้ทุกคนลองไตร่ตรองดู

 

       แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมย้อนคิดถึงอดีต เพราะ มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งออกมาเล่า “นิทานหลอกเด็ก” ผ่านสื่อหลายช่องทางกระจายไปทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นนิทานก่อนนอน เรื่องผี น่าจะเป็นการกล่อมให้เด็กนอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ