คอลัมนิสต์

"เอนก" เสนาบดีคนตุลากลางไฟม็อบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เอนก" เสนาบดีคนตุลากลางไฟม็อบ แฟลชม็อบในรั้วอุดมศึกษา ข้อเสนอทะลุเพดานของเด็กๆ ท้าทายฝีมือ "เอนก" รัฐมนตรีคนเดือนตุลา

++
เหมือนถูกที่ถูกเวลา “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” กับตำแหน่งรัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย มีความตื่นตัวทางการเมือง ไม่ต่างสมัยช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516
 

40 กว่าปีที่แล้ว “เอนก” คือผู้นำนักศึกษา ไม่ต่างจากเพนกวิน หรือหลานๆ อีกหลายร้อยคนที่ลุกขึ้นมาจากกิจกรรมแฟลชม็อบในรั้วมหาวิทยาลัย พ.ศ.นี้

 

อ่านข่าว...  มหาชนภาค 2 พรรค"เหล่าธรรมทัศน์"

 

"เอนก" เสนาบดีคนตุลากลางไฟม็อบ

ครอบครัว “เหล่าธรรมทัศน์”

 

เอนกเป็นนิสิตแพทย์ และนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มุ่งสู่เทือกเขาบรรทัด ก่อนเคลื่อนไปสู่ภูพยัคฆ์
 

จากวนาคืนสู่นาคร เป็นอาจารย์สอนหนังสือด้านรัฐศาสตร์ ก่อนเข้าสู่โหมดการเมือง ทั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ,หัวหน้าพรรคมหาชน และผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย


++
บทเรียน 6 ตุลา 
++
เหตุการณ์ 14 ตุลา นำมาซึ่งกระแสสูงแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ขบวนการนักศึกษาก้าวรุดหน้าไปอย่างฮึกห้าวเหิมหาญ แต่ก็ใช่ว่า ความคิดของนิสิต นักศึกษาจะไปทางเดียวกัน 100% หากแต่ยังมีความแตกต่างความคิด และการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ภายในสถาบันการศึกษาอยู่
 

จุฬาฯ ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่มีระบบโซตัสแข็งแกร่ง กลุ่มนิสิตหัวก้าวหน้า-ภูมิธรรม เวชยชัย และเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ได้จัดตั้ง "พรรคจุฬา-ประชาชน" ถือว่าเป็นพรรคปีกซ้ายในจุฬา
 

พรรคจุฬา-ประชาชน พยายามส่งคนเข้าชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (นายก สจม.) แต่ก็พ่ายแพ้แก่พรรคแนวคิดอนุรักษนิยม 2 ปีซ้อน
 

ปีการศึกษา 2519 “ภูมิธรรม-เกรียงกมล” ดันสุธรรม แสงปทุม นิสิตจุฬาฯ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และพรรคจุฬา-ประชาชน ส่ง “เอนก เหล่าธรรมทัศน์”  เข้าชิงนายก สจม. คราวนี้ฝ่ายซ้ายจุฬาฯได้รับชัยชนะ 
 

เอนกในฐานะนายก สจม. ได้นำนิสิตจุฬาฯ เข้าร่วมการชุมนุมต้านการกลับมาของจอมพลถนอมที่ธรรมศาสตร์ จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา
 

หลังรัฐประหาร เอนกและเพื่อนๆ เดินทางล่องใต้เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตเทือกเขาบรรทัด (พัทลุง ตรัง สตูล) ภายใต้ร่มธงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อจากนั้น เอนกขึ้นไปอยู่สำนัก 61 (สำนักผู้นำนักศึกษา) ภูพยัคฆ์ น่านเหนือ


 ปี 2524 เอนกคืนสู่นาคร ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการศึกษาจากแพทย์ศาสตร์มาศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดี คณะรัฐศาสตร์ 

"เอนก" เสนาบดีคนตุลากลางไฟม็อบ

อาจารย์เอนก กับลูกชาย และหลานสาว แห่งพรรค รปช.

 

++
คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า
++
จากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เอนกในบทบาทนักวิชาการมาโด่งดังจากงานวิชาการเรื่อง ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ที่ว่า “คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล” 


เมื่อปี 2561 เอนกให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อออนไลน์ The 101 World เกี่ยวกับการอธิบายสังคมไทยด้วยเรื่องคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ว่า “ผมเองก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ครับ เคยเป็นเยาวชน และตระหนักเสมอว่าคนรุ่นใหม่สำคัญ ประเด็นสำคัญคือไม่มีใครผูกขาดความเป็นคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เพิ่งมี มีมานานแล้ว”
 

อย่างไรก็ตาม อเนกยังมีความเชื่อว่า คนรุ่นเก่า-ใหม่ จะไม่หักโค่นกัน
 

“ในสยามหรือในไทยนั้น ประวัติศาสตร์มักจะเปลี่ยนแปลงแบบไม่หักโค่น คนสองรุ่น เก่า-ใหม่ มักไม่ห้ำหั่นกัน ตรงข้าม มักจะต่อรอง กดดัน พลาง แต่ก็ปรองดองไป เจรจาไปพลางด้วย หรือ บ่อยครั้งก็กลับมาปรองดอง รอมชอมกันได้เสมอ”
 

ความขัดแย้งระหว่างเก่า-ใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย รอต้อนรับรัฐมนตรีคนเดือนตุลาอยู่แล้วในนาทีนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ