คอลัมนิสต์

ต่างชาติมาแล้ว...ไวรัสโควิด-19 ก็มา 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต่างชาติมาแล้ว...ไวรัสโควิด-19 ก็มา  โดย...   ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

ในช่วง 48 วันที่ผ่านมา คนไทยมีความสุขและความภาคภูมิใจว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีมาตรการที่ดีและเข้มแข็งในการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงแม้ว่าคนภายในประเทศอาจจะมีการ์ดตกไปบ้าง ซึ่งก็เกิดจากความมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในใจลึก ๆ ของผู้คนยังคงผวากับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะอนุญาติให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงการกังวลในข่าวรายวันเกี่ยวกับการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นพาหะ นำเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาด้วยหรือไม่

 

อ่านข่าว...  ระยองวุ่นพบ "ทหารอียิปต์" ติดเชื้อโควิด เข้าพักโรงแรม เดินเที่ยวห้าง

 


ในที่สุดวันที่ 49 ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ ก็มาพร้อมกับข่าวร้ายจากการพบ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 3 ราย โดยรายที่สำคัญที่สุดคือชายสัญชาติอียิปต์ที่เป็นทหารและสามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน ที่ยกเว้นให้คน 11 กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ควบคุมยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะที่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การไม่ต้องกักตัว 14 วัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไปไหนก็ได้ ซึ่งในกรณีทหารอียิปต์กลับมีข่าวว่า ได้มีการออกจากที่พักในจังหวัดระยองไปเดินเล่นตามห้าง ซึ่งเมื่อผลตรวจออกมาว่าทหารอียิปต์ผู้นี้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลลัพธ์ที่ตามมาคือความวุ่นวายทั้งเมืองระยอง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดบางชั้นของโรงแรมที่พักที่ทหารอียิปต์เข้าพัก การกักตัวพนักงานเสิร์ฟอาหาร และการสั่งปิดสถานศึกษาในเขตเทศบาลเมืองระยอง (หวังว่าคงไม่ต้องถึงกับปิดจังหวัดนะ) 


อย่างไรก็ตามเราจะวุ่นวายไปทั่วประเทศแน่ หากประมาณ 14 วันนับจากนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ ซึ่งหมายถึงความพยายามและความร่วมมือของคนไทยที่ผ่านมาเดือนกว่าจะสูญเปล่าทันที่ และเราอาจต้องไปเริ่มต้นใหม่ในภาวะที่ย่ำแย่กว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ต้องพยายามหาแพะว่าเกิดจากการหละหลวมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนหรือเกิดจากความประมาทของโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้า เนื่องจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ คือ ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ดันมีนโยบายยกเว้นให้กลุ่มพิเศษ แบบที่สังคมกำลังประชดประชันว่า “พวก VIP” ที่ได้รับอนุญาติให้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องทำการกักตัว 14 วัน ในขณะที่ “พลเมืองไทย แท้ ๆ” ต้องกระทำ


นอกเหนือจากนั้นแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็มีอีก 3 โครงการที่จะเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ คือโครงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้ (Medical and Wellness Program) ซึ่งโครงการนี้ สถานพยาบาลน่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด ถัดมาคือโครงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาล (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ (โครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่) ซึ่งโครงการนี้อาจจะมีเม็ดเงินหล่นเข้าธุรกิจท่องเที่ยวบ้าง แต่คาดว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่คงอยู่แถวสถานพยาบาลและสถานเสริมความงามมากกว่า ในขณะที่โครงการทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) จะอนุญาตให้คนต่างชาติจากประเทศที่ปลอดเชื้อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเหลือกี่ชาติที่จะเข้าไทยได้ เพราะตอนนี้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก
 

การจะเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้นั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ควรต้องฟังเสียงประชาชนบ้างว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่” ซึ่งผลที่ได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ประชาชนไม่เห็นด้วย 2 โครงการ และเห็นด้วย 1 โครงการ แต่ที่ แน่ ๆ คือ ประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มไม่ค่อยเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นเลยต่อรัฐบาลในการควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ หากมีการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ตามโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ ร้อยละ 30.53 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นในรัฐบาล และ ร้อยละ 29.10 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ซึ่งเมื่อรวมทั้งสองกลุ่มทำให้มีผู้มีแนวโน้มไม่มั่นใจในสมรรถนะของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มาจากชาวต่างชาติ ถึง ร้อยละ 59.63 


ส่วนผลของการสำรวจความคิดเห็นในโครงการ Medical and Wellness Program พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ในขณะที่ ร้อยละ 13.91 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ซึ่งรวมสองกลุ่มแล้วมีประมาณร้อยละ 55.32 ส่วนความเห็นของประชาชนในโครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และ ร้อยละ14.55 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ซึ่งหมายถึงมีแนวโน้มไม่เห็นด้วยกับโครงการ ฯ รวม ร้อยละ 52.44 โดยเหตุผลหลักที่ผู้คนคัดค้านทั้งสองโครงการคือความกังวลในคนต่างชาติว่าจะนำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 รอบ สอง ในประเทศไทย


ในขณะที่โครงการทราเวลบับเบิล ดูเหมือนจะเป็นโครงการเดียวที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย ถึงแม้ว่าผู้คนร้อยละ 29.65 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และ ร้อยละ 14.95 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ผลรวมของทั้งสองกลุ่มก็ไม่สามารถเทียบได้กลับผู้คนที่มีแนวโน้มพอใจในโครงการที่มีผลรวมอยู่ที่ ร้อยละ 54.36 โดย ร้อยละ25.90 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และ  ร้อยละ 28.46 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ก็มีประเด็นให้ฉุกคิดว่า จะเหลือสักกี่ประเทศที่ปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลานานเพียงพอที่จะรับประกันความปลอดภัยได้


นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ในช่วง4 – 5 เดือนที่ผ่านมา อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายในทันที่ในสายตาประชาชนหากผลลัพธ์ทั้ง 3 โครงการไม่สามารถบรรลุได้จริงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และ จะแย่ยิ่งกว่านั้นหากผลลัพธ์ของทั้ง 3 โครงการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบสอง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ