คอลัมนิสต์

วัคซีนป้องกันโควิดในไทย แสงสว่างปลายอุโมงค์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความ จาก ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข

วันที่ 23 มิ.ย.2563  ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข ซึ่งได้เผยแพร่และให้ความรู้เรื่อง COVID-19  เป็นประจำทุกวัน ซึ่งล่าสุด ได้เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับ วัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

 

วันนี้เราฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทยเราเองให้ลิงเข็มที่ 2 แล้ว (22 มิ.ย. 63) ประเทศไทยได้พยายามที่จะบริหารจัดการเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 มาโดยตลอด นับตั้งแต่เราพบผู้ป่วยติดเชื้อรายแรก (นักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น) เมื่อกลางเดือนมกราคม 2563 และได้ทำงานในเชิงรับคือการติดตามควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดออกไป ซึ่งทำได้ดีมากจากการติดเชื้อเป็นประเทศที่ 2 ของโลก อันดับการติดเชื้อของเราตกลงมาเป็นอันดับที่ 92 แล้ว (แปลว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก) และจัดระบบสาธารณสุขรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดี มีผู้เสียชีวิตเพียง 1.8% (58 คน) ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อหรือเป็นผู้แพร่เชื้อต่อประชาชนก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ประชาชนให้ความร่วมมือจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้หน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม อยู่ในระดับต้นๆของโลก ดีกว่าประเทศที่เราเคยเชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนพลเมืองมีการศึกษาดีกว่ามาก มีรายได้ มีระบบความพร้อมของสาธารณสุขดีกว่าเรา แต่วันนี้ประเทศไทยเราสามารถพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จากสถานการณ์จริง ว่าเราทำได้ดีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆดังกล่าวเป็นมาตรการเชิงรับ(ซึ่งจำเป็นต้องทำ) และมาตรการกึ่งรุกกึ่งรับ แต่สำหรับโรคระบาดจากไวรัสอุบัติใหม่ (ซึ่งมนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกัน)นั้น เราต้องการมาตรการเชิงรุกให้ยุติเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคือ การมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนครบทุกคน ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิต การทำมาหากิน การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนเด็กๆลูกหลานเราสามารถไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัยได้อย่างสบายใจ

วัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะนี้มีโครงการวัคซีนมากกว่า 100 โครงการ ในหลายสิบประเทศทั่วโลกที่กำลังเร่งวิจัยพัฒนากันหามรุ่งหามค่ำ และมีวัคซีนจำนวนหน่วยประมาณ 10 โครงการที่กำลังวิจัยมาถึงขั้นสุดท้าย คือการทดลองในมนุษย์

โดยประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังศึกษาค้นคว้าวัคซีนดังกล่าวนั้น มีประชากรมากทั้งสิ้น เช่น จีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน สหรัฐฯมีประชากรกว่า 330 ล้านคน เมื่อประเทศเหล่านี้คิดค้นวัคซีนสำเร็จ (คาดว่าอย่างเร็วสุดคือปี 2564) คนไทยก็จะยังไม่มีโอกาสได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน เพราะประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ย่อมฉีดให้กับประชาชนของตนเองก่อนแน่นอน

 

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาวัคซีนของเราเองด้วยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า อย่างน้อยภายในระยะเวลาหนึ่งเราจะมีวัคซีนอย่างเพียงพอฉีดให้กับคนไทยทุกคนได้ โดยที่เราก็จะเร่งมือสร้างความพร้อมรองรับการผลิตวัคซีนโดยสูตรของต่างประเทศ และเตรียมความพร้อมในการประสานกับประเทศที่มีโอกาสสูงที่จะผลิตวัคซีนสำเร็จ เพื่อที่ประเทศเหล่านั้นจะได้ขายวัคซีนให้กับไทยเราเป็นลำดับต้นๆ

 

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ เราต้องพัฒนาจนผลิตวัคซีนของเราเองให้สำเร็จ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลามากเพียงใด ไม่ว่าจะต้องระดมนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยมากเพียงใด ไม่ว่าจะต้องใช้งบประมาณมากเท่าใด เพราะชีวิตของคนไทยทุกคนนั้นมีค่าอันไม่อาจประเมินได้ และผลที่จะเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจและสังคมหลังจากคนไทยทุกคนมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนนั้น จะมีมูลค่ามากกว่าที่เราลงทุนเงินงบประมาณเพื่อพัฒนาวัคซีนมากมายหลายสิบหลายร้อยเท่า

วัคซีนป้องกันโควิดในไทย แสงสว่างปลายอุโมงค์

เรามีข่าวดีเรื่องวัคซีนไทยมาเป็นระยะ และวันนี้ก็เป็นวันที่น่าชื่นใจอีกวัน ที่ทางรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) ได้แจ้งให้ทราบว่า จะมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับลิงที่มีภูมิคุ้มกันเพิ่มอย่างเป็นที่น่าพอใจจากการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 และถ้าผลของการตรวจระดับภูมิคุ้มกันหลังการฉีดเข็มที่ 2 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะมีการฉีดเข็มที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัยในสัตว์ทดลอง

 

ในเดือนตุลาคมปีนี้ ไทยก็จะขยับเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือการทดลองในมนุษย์ในอาสาสมัคร (ซึ่งมีข่าวว่าท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข คุณอนุทิน ชาญวีรกุล ยินดีที่จะเป็นอาสาสมัครคนแรก) คาดว่าภายใน 12-18 เดือน ถ้าผลการทดลองในมนุษย์ 3 ขั้นตอนย่อยตามหลักวิชาการสำเร็จ ไทยเราก็จะมีวัคซีนใช้เป็นของเราเอง ยืนบนขาของตนเอง ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ

 

การดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีนครั้งนี้ เกิดจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (กระทรวงสาธารณสุข) คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (กระทรวงการอุดมศึกษาฯ) ภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทำให้คนไทยมีความหวัง มีแสงสว่างปลายอุโมงค์ ในเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ