คอลัมนิสต์

อยากเป็นรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติให้ครบ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อยากเป็นรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติให้ครบ  โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

          กระแสข่าวการเมืองที่มาแรงในขณะนี้คงไม่พ้นสองเรื่อง โดยกระแสแรกคือการเลือกกรรมการบริหารและตำแหน่งสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งถ้าไม่มีอะไรทำให้พลิกล๊อค เร็ว ๆ นี้ พปชร. จะมีหัวหน้าพรรคชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของ 3 ป. ส่วนเลขาธิการพรรคน่าจะเป็น คุณอนุชา นาคาศัย ในขณะที่อีกข่าวการเมืองที่เป็นกระแสแรงมากกว่าข่าวแรกคือ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโควตา พปชร. ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาสูตร ครม. ใหม่ว่อนสื่อไปหมด แต่คนสุดท้ายที่จะตัดสินใจก็คือนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา


          การจะได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโควตาพรรคการเมืองนั้น ไม่ใช่จะได้มาง่าย ๆ เพราะเพียงแค่ความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ และประสบการณ์ในอดีต ตามที่ทุกสำนักโพลบอกว่าเป็นคุณสมบัติที่ต้องการ ก็อาจจะไม่สามารถฟันฝ่าขวากหนามเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งได้ เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการกับความเป็นจริงทางการเมืองอาจเป็นหนังคนละม้วนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีรัฐมนตรีประเภทนี้ผสมอยู่ใน ครม. ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับนายก ฯ เช่น การเลือกรัฐมนตรีในโควต้านายก ฯ ที่อาจต้องคัดสรรค์เฉพาะผู้ที่สามารถสร้างหน้าตาและผลงานที่ดีให้กับรัฐบาลได้

          อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะพบว่าผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีจากโควต้าพรรคการเมืองได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยสามในสี่ข้อที่สำคัญ ข้อแรกซึ่งสำคัญที่สุดและขาดไม่ได้สำหรับผู้ต้องการเป็นรัฐมนตรีคือ มุมมองของนายกรัฐมนตรีต่อบุคคลผู้นั้น เช่น เหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ นายก ฯ พอใจหรือไม่ และยอมรับได้หรือเปล่า เป็นต้น 


          ข้อที่สองเกี่ยวข้องกับการเมืองเชิงปริมาณที่ประชาชนฟังแล้วอาจไม่สบอารมณ์ แต่นี้คือความเป็นจริงทางการเมืองไทย นั้นคือบุคคลผู้นั้นอยู่ในกลุ่มการเมือง (อาจเป็นหัวหน้ากลุ่มหรือไม่เป็นก็ได้) ที่มีจำนวน สส. เพียงพอที่จะต่อรองและผลักดันให้เข้าสู่อำนาจได้หรือไม่ ซึ่งบางคนอาจถามว่า นายก ฯ ไม่สนใจข้อนี้ได้หรือไม่ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี คำตอบคือ คงเป็นไปได้ยากเพราะความมั่นคงของรัฐบาลประชาธิปไตยแบบรัฐสภาขึ้นอยู่กับจำนวน สส. ที่สนับสนุน


          ข้อที่สามได้แก่ ตำแหน่งและบทบาทในพรรคการเมือง เช่น ตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือบทบาทในฐานะกระเป๋าเงินของพรรค หรือ ผู้มีคุณวุฒิหรือวัยวุฒิของพรรคที่ได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิกพรรค ข้อสุดท้ายคือ คนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งเมื่อถ่วงน้ำหนักความเป็นจริงทางการเมืองแล้ว อาจเป็นคุณสมบัติที่มีน้ำหนักน้อยที่สุดก็เป็นได้


          คราวนี้ ลองมาพิจารณาสามกลุ่มใน พปชร. นั้นคือ คนที่คาดว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่แน่นอนหากมีการปรับ ครม.  คนที่เป็นรัฐมนตรีอยู่แล้วแต่มีกระแสข่าวว่าอยากจะเปลี่ยนกระทรวง และคนที่อยู่ในความเสี่ยงว่าจะหลุดจากตำแหน่ง โดยบุคคลผู้ที่จะสมหวังนั้นต้องมีองค์ประกอบที่หนึ่งก่อนถึงจะมีสิทธินั้นคือมุมมองของนายก ฯ ต่อบุคคลนั้น และจากนั้นก็ควรจะมีอีกอย่างน้อยสองจากสามองค์ประกอบที่เหลือ 

 

  
          ขอเริ่มต้นจากผู้ที่คาดว่าจะสมหวังก่อน ว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่จากการคาดการณ์ของสื่อเกือบทุกสำนัก หากมีการปรับ ครม. จริง ! นั้นคือว่าที่เลขาธิการพรรค ฯ คนใหม่ คุณอนุชา เพราะดูแล้วน่าจะสอบผ่านคุณสมบัติสามข้อแรกข้อ แต่คุณสมบัติในข้อสี่คงต้อรอดูว่าจะได้คุมกระทรวงไหนจากการสลับเก้าอี้ภายใน พปชร. ถึงจะรู้ว่ามีคุณสมบัติในข้อที่สี่หรือไม่ นั้นคือ เหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ 


          ส่วนกลุ่มคนที่อยากจะเปลี่ยนกระทรวง จากการวิเคราะห์ของสื่อทั้งหลายมีอย่างน้อยสองคน คนแรกคือคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จากข่าวในหน้าสื่อต่าง ๆ บอกว่าอยากได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งคุณสุริยะ คงผ่านคุณสมบัติข้อหนึ่งถึงสามได้ไม่ยาก แต่ในคุณสมบัติข้อที่สี่ยังคงเป็นที่สงสัยว่าเหมาะกับกระทรวงพลังงานหรือไม่ และนายก ฯ เห็นชอบด้วยหรือไม่ แต่ถ้าอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมเหมือนเดิม ก็ดูจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นนักธุรกิจที่มาจากตระกูลที่เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม 


          คนที่สองที่อยากเปลี่ยนตำแหน่งคือคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรไปจากคุณสุริยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติข้อสองและสามนั้นล้นแก้ว และผลงานในการคุมกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมาก็ไม่เสียหายอะไร สามารถแสดงบทบาทเป็นผู้ใส่ใจในความยุติธรรมของประชาชนได้ดีพอสมควร แต่กระแสข่าวบอกว่าคุณสมศักดิ์อยากสลับเก้าอี้ไปคุมกระทรวงอื่นบ้าง ซึ่งการย้ายไปเป็นเจ้ากระทรวงอื่น อาจทำให้ภาพลักษณ์เปลี่ยนไปก็ได้...ลองคิดดูให้ดี  ส่วนคนอื่น ๆ ที่มีข่าวว่าอยากเปลี่ยนกระทรวงนั้นไม่ขอพูดถึง เพราะกระแสข่าวในช่วงหลังคาดว่าคงได้อยู่ที่เดิม


          แต่ที่น่าสนใจคือผู้ซึ่งกำลังถูกมองว่าจะอยู่หรือไป แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีสองคนคือคือ รัฐมนตรีสาย กปปส. คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และคุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โดยทั้งสองคนนั้นมีปัญหาในคุณสมบัติข้อที่สองนั้นคือจำนวน สส. ที่อยู่ในมือเพียงพอที่จะเป็นอำนาจต่อรองได้หรือไม่ ในขณะที่คุณณัฏฐพลนั้นอาจจะมีแบ็คดี (คุณสมบัติขอที่สาม) แต่สื่อหลายสำนักบอกว่าอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้ดังใจต้องการเพราะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติข้อที่หนึ่ง (มุมมองของนายก ฯ) ฉะนั้นจึงมีข่าวออกมาในช่วงหลังว่า คุณณัฏฐพลมีความสุขดีกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พูดสั้น ๆ คืออย่างน้อยที่สุดก็ขออยู่ที่เดิมก็แล้วกัน) ส่วนคุณพุทธิพงษ์นั้นผลงานดี ขยัน ไม่มีปัญหาในคุณสมบัติข้อที่หนึ่งและสี่ แต่หากขาดพวก (คุณสมบัติข้อที่สาม) ก็อาจไม่รอดเหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่าในความเป็นจริง การเมืองในเชิงปริมาณมีน้ำหนักมากกว่าผลงานหรือความเหมาะสมกับตำแหน่ง


          กลุ่มสุดท้ายที่กำลังยืนอยู่คาบเส้นคาบดอกกว่าทุกกลุ่มว่า จะรอดหรือไม่คือ กลุ่มสามรัฐมนตรีที่ผันตัวจากเทคโนแครตไปเป็นนักการเมือง ได้แก่ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทั้งสามคนนี้มีแนวโน้มมากกว่า 90 % จากการคาดการณ์ของสื่อทุกสำนักว่าไม่รอดแน่ เนื่องจากเรื่องสำคัญในการขาดคุณสมบัติข้อสอง (ไม่มี สส. ในมือเพียงพอ) และข้อสาม (ไม่มีแรงสนับสนุนในพรรค ฯ) อย่างไรก็ตาม จะรอดหรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับเบอร์หนึ่งของรัฐบาลว่า ยังคงพอใจในผลงานของทั้งสามคนนี้หรือไม่ หากไม่พอใจหรือแค่พอใจผ่าน ๆ รับรองว่าทั้งสามคนหลุดจากตำแหน่งแน่ แต่หากพอใจในระดับสูงพอสมควร ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า การอุ้มทั้งสามคน (หรือบางคน) กับความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่มั่นคงจากแรงกดดันทางการเมืองภายใน พปชร. นั้น อันไหนสำคัญกว่ากัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ