คอลัมนิสต์

เปิดข้อบังคับ พปชร. ยึดพรรคง่ายจริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดข้อบังคับ พปชร. พบว่า เสียงส่วนใหญ่ที่ใช้โหวตเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ คือ สมาชิกพรรค และ ส.ส. ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนนายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตหัวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรค ยังมีความหวัง

หลังจากกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐแสดงเจตจำนงลาออก จำนวน 18 คนจากทั้งหมด 34 คน ซึ่งถือว่าเกินครึ่งนั้น ผลที่จะเกิดตามมาไม่ได้มีแค่กรรมการบริหารพรรคเป็นอันสิ้นสภาพยกชุดเท่านั้นแต่ยังมีขั้นตอนตามกฎหมายพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นอีก นั่นก็คือ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งเมื่อเปิดดูข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ 

( อ่านข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ..ที่นี่ )

 ข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนมกราคม 2562 มีประเด็นเกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของกรรมการบริหารพรรคและการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เอาไว้แบบนี้ 

- การลาออกของกรรมการบริหารพรรคเกินครึ่งหนึ่ง เข้าข้อบังคับพรรค ข้อ 15 (3) กรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 

- ขั้นตอนหลังจากนี้ ให้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ให้กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับพรรคข้อ 15 เช่นกัน 

- การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง ต้องดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ตามข้อบังคับพรรคข้อ 40 

  องค์ประชุมใหญ่พรรคการเมือง เป็นไปตามข้อบังคับพรรคมาตรา 37 ประกอบด้วย 

1. กรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด (ชุดที่รักษาการ) 

2. ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า  2 สาขาซึ่งมาจากต่างภาคกัน 

3. ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 

4. สมาชิกพรรคการเมือง 

องค์ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ต้องรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 250 คน การลงมติให้ถือเสียงข้างมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนมกราคม 2562 เขียนล้อมาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงมีขั้นตอนและรูปแบบการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแบบพื้นๆ เท่านั้น ไม่มีข้อกำหนดพิเศษซับซ้อนเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการให้น้ำหนักคะแนนของโหวตเตอร์แตกต่างกัน เช่น ส.ส. 1 เสียง คิดเป็นคะแนนมากกว่า 1 คะแนน เป็นต้น แต่ของพรรคพลังประชารัฐไม่มีข้อกำหนดพิเศษแบบนั้น 

จากข้อบังคับพรรคในลักษณะนี้ ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนนายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตหัวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรค ยังมีความหวัง เพราะเสียงส่วนใหญ่ที่ใช้โหวตเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ คือ "สมาชิกพรรค" ซึ่งรวมถึง ส.ส.ด้วย ส่วนกรรมการบริหารพรรคเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย (มีแค่ 34 คน ขณะที่ ส.ส.มี 119 คน และสมาชิกอีกจำนวนมาก) ขณะที่ผู้แทนสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวังก็มีไม่มากนัก เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคตั้งใหม่ ฉะนั้นเสียงที่จะชี้ขาดคือเสียงสมาชิกพรรค รวมทั้ง ส.ส. จุดนี้เองทำให้เกิดปรากฏการณ์งัดข้อ-ประลองกำลัง ระดม ส.ส.โชว์เพาเวอร์กันเป็นระยะในช่วงที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐประกาศจะระดมสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศให้มาร่วมประชุมใหญ่พรรคกันมากๆ ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคคนใหม่ เพื่อจะได้ลงคะแนนเสียงเลือกฝ่ายที่พวกตนให้การสนับสนุน

มีรายงานล่าสุดจากพรรคพลังประชารัฐว่า สาขาพรรคทั่วประเทศมีราวๆ 4 สาขา และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมีครบทุกจังหวัด ฉะนั้นโหวตเตอร์กลุ่มนี้ ถ้ามากันครบจะมีราวๆ 80 กว่าคนเท่านั้น ครึ่งหนึ่งก็จะอยู่ที่ 40 กว่าเสียง

ฉะนั้นเสียงส่วนมากในที่ประชุมใหญ่พรรค คือ ส.ส.และสมาชิกพรรค

เปิดข้อบังคับ พปชร. ยึดพรรคง่ายจริงหรือ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ