คอลัมนิสต์

ถึงเวลากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถึงเวลากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว  โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

          การประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ผู้คนต่างคาดหวังว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ประชาชนจะกลับมาดำเนินกิจการและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ผู้ดำเนินกิจการหลายอย่างที่ต้องปิดตัวไปหรือเปลี่ยนวิธีดำเนินกิจการในระหว่างที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเมษายนที่ผ่านมา

 

อ่านข่าว...   ย้ำไทยต้องการผู้นำที่เก๋งเศรษฐกิจ "ประยุทธ์"ควรลาออก 

 

          ต่างก็หวังว่าเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการในระยะ 2 จะทำให้ทุกอย่างค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่หวังไว้  ร้านที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่ง ที่กลับมาเปิดกิจการและต้องมีต้นทุนในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียม วัสดุอุปกรณ์รวมถึงการจ้างลูกจ้าง เป็นต้น กลับต้องเผชิญกับยอดขายที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งในที่สุด อาจจะไม่คุ้มกับทุนที่ได้ลงไปในช่วงของการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง ในขณะที่ตามตลาดสด ตลาดนัดต่างๆ ผู้คนก็ยังไม่เข้ามาจับจ่ายอย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมธุรกิจสถานบันเทิงยามราตรีที่คงจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับอนุญาติให้เปิดกิจการได้ และธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ก็คาดว่าอาจจะต้องต้องรอจนกว่าสถานการณ์ในต่างประเทศดีขึ้นแล้วถึงจะฟื้นกลับคืนมาได้บ้าง 

 

          ปัญหาที่ทำให้ธุรกิจการค้าหลายแห่งที่ได้รับการผ่อนปรนระยะสอง ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก ประการที่หนึ่ง ผู้คนจำนวนมากยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าดีขึ้นแล้วจริงหรือไม่ แม้ว่าระยะหลังส่วนใหญ่จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศที่อยู่ในสถานกักกันของรัฐก็ตาม แต่ตัวอย่างในหลายประเทศที่มีการผ่อนปรนแล้วกลับพบการระบาดภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้คนไทยจำนวนมากยังไม่กล้าออกไปใช้บริการในกิจการต่าง ๆ รวมถึงไม่กล้าออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่เปิดให้บริการบ้างแล้ว


          ประการที่สองคือมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าไม่ได้รับความสะดวกสบายในการไปใช้บริการจากกิจการต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะสอง จึงตัดสินใจยังไม่ไปใช้บริการ เช่น ร้านอาหารที่ต้องนั่งแยกกันแม้ว่าจะมาเป็นครอบครัว ร้านเสริมสวยผู้หญิงและร้านตัดผมสำหรับบุรุษที่ถูกจำกัดกิจกรรม โรงยิมที่ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ได้ทุกชนิด เวชกรรมเสริมความงาม เฉพาะเรือนร่าง ผิวพรรณและเลเซอร์ ไม่รวมการเสริมความงามบริเวณใบหน้า เป็นต้น


          ปัญหาประการที่สามคือการขาดกำลังซื้อของผู้คนภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ตกงาน ขายของไม่ได้ ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ รายได้ตก เป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จำนวนมาก แม้ว่าจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐตามโครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาให้กับกลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคมที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น แต่เงินอุดหนุนนี้ก็เป็นเพียงแค่เพื่อประทังชีวิต ไม่ให้ลำบากมากไปกว่านี้เท่านั้น

          ประการที่สี่ คือความไม่มั่นใจของผู้คนที่มีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่ยังคงมีรายได้หรือมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะอยู่รอดได้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่ยังคงเปิดกิจการได้ตลอดและยังคงมีลูกค้าอยู่พอประมาณ ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ยังคงมีการจ้างงาน กลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐที่ยังคงได้รับเงินเดือนอยู่ (แม้ว่าจะไม่มาก) และ กลุ่มลูกจ้างเอกชนที่ไม่โดนตัดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง เป็นต้น คนกลุ่มเหล่านี้จำนวนมากไม่กล้าที่จะใช้เงิน เพราะไม่ไว้ใจว่าเหตุการณ์ว่าจะเป็นปกติเมื่อไร และหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคในรอบสองขึ้นมา ก็ไม่แน่ใจว่าคราวนี้จะส่งผลกระทบต่อตนเองโดยตรงหรือไม่


          การที่กิจการต่าง ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะสอง ยังไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้นั้น อาจจะสอดคล้องกับ ผลการสำรวจของ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่เคยใช้บริการของกิจการเหล่านี้เลย 
ข้อแรกของการสำรวจ ได้ถามว่า คนไทยได้ออกไปทำกิจกรรมหรือใช้บริการในกิจการต่าง ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนระยะสองหรือไม่ โดยผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.08 ระบุว่า ยังไม่เคยเข้าไปในสถานที่หรือทำกิจกรรมตามที่ได้รับการผ่อนปรนเลย รองลงมา ร้อยละ 24.80 ระบุว่า เข้าศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้อยละ 11.61 ระบุว่า ใช้บริการร้านตัดผมชาย ร้านทำผมสตรี ร้อยละ 8.03 ระบุว่า เข้าร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ร้อยละ 6.20 ระบุว่า เข้าไปนั่งทานอาหารในร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม โรงอาหาร ศูนย์อาหาร ร้อยละ 0.72 ระบุว่า ใช้บริการคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ร้อยละ 0.48 ระบุว่า ใช้บริการโรงยิม ฟิตเนส สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ร้อยละ 0.32 ระบุว่า ใช้ห้องประชุมโรงแรม ศูนย์ประชุม ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ และร้อยละ 0.08 ระบุว่า เข้าห้องสมุดสาธารณะ แกลลอรี่ พิพิธภัณฑ์


          เมื่อพิจารณาข้อมูลในเชิงลึกสำหรับกลุ่มที่บอกว่ายังไม่เคยเข้าไปในสถานที่หรือทำกิจกรรมตามที่ได้รับการผ่อนปรนเลยที่มีถึงร้อยละ 62.08 ก็มีข้อน่าสนใจหลายอย่าง เช่น  กลุ่มผู้มีการศึกษาระดับประถมศึกษา (75.58 %) กลุ่มแรงงาน รับจ้างทั่วไป  (72.22 %) และ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา (71.43 %) คือกลุ่มที่ยังไม่เคยเข้าไปในสถานที่หรือทำกิจกรรมตามที่ได้รับการผ่อนปรนมากที่สุด ในขณะที่มากกว่า 50 % ของกลุ่มผู้ที่ไม่มีรายได้ไปจนถึงผู้มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ก็ยังไม่เคยใช้บริการของกิจการเหล่านี้เช่นกัน 


          แต่ถ้าจะวิเคราะห์ว่ากลุ่มไหนที่ไปใช้บริการหรือทำกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนระยะสองมากที่สุด  คำตอบคือ กลุ่มคนกรุงเทพ กลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 26 – 35 ปี กลุ่มผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี กลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 40,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มพนักงานเอกชน โดยระดับการศึกษาที่ยิ่งสูงขึ้นและรายได้ที่ยิ่งมากขึ้นก็จะเคยเข้าไปในสถานที่หรือทำกิจกรรมตามที่ได้รับการผ่อนปรนมากขึ้น


          ส่วนข้อที่สองของการสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” คือ การถามถึงความคิดเห็นของประชาชนกับคำว่า การ์ดตก ของคนในสังคม ตั้งแต่รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 พบว่า ร้อยละ 6.12 ระบุว่า คนในสังคม การ์ดตกมาก เพราะ คนในสังคมเริ่มไม่มีการป้องกันตัวเอง ไม่สวมหน้ากากอนามัย ตลาดสด ตลาดนัดไม่จำกัดการเข้า-ออกของผู้ซื้อ รถประจำทางเอกชนบางสายไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ร้อยละ 32.99 ระบุว่า คนในสังคม การ์ดค่อนข้างตก เพราะ คนในสังคมขาดความระมัดระวัง ประมาทในการใช้ชีวิต ไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากชะล่าใจกับจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อที่ลดลงมาก ร้อยละ 27.66 ระบุว่า คนในสังคม การ์ดไม่ค่อยตก เพราะ คนในสังคมส่วนใหญ่ยังให้ความร่วมมือ มีความตระหนักถึงความปลอดภัย         มีการระมัดระวังตัว ป้องกันตัวเองค่อนข้างดี ร้อยละ 29.18 ระบุว่า คนในสังคม การ์ดไม่ตกเลย เพราะ คนในสังคมส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตนตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้านทุกครั้ง


          เมื่อเงินหมุนเวียนภายในประเทศไม่คล่อง เศรษฐกิจก็ย่อมเดินหน้าได้ลำบากและส่งผลกระทบเป็นลุกโซ่ ฉะนั้นเพื่อให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้นให้ได้ การผ่อนปรนในระยะสามที่จะเริ่มในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และระยะสี่ที่อาจจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ควรจะต้องเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดมาตรการที่เป็นแรงจุงใจให้เกิดการลงทุนและจ้างงานที่มากขึ้น รวมถึงการจ้างงานในภาครัฐด้วย การลดมาตรการในการกำกับกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้มาใช้บริการ การสร้างความมั่นใจในมาตรการด้านสาธารณสุขให้กับสาธารณะ อย่างการบังคับให้สวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้านและลงโทษสถานประกอบการที่ไม่มีเจลล้างมือหรือสบู่ไว้บริการประชาชน ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรต้องกำหนดนโยบายและมาตรการจุงใจกลุ่มผู้ที่ยังมีรายได้อยู่ หรือไม่ได้รับผลกระทบ ฯ มากมายนัก ให้เกิดการจับจ่ายซื้อสินค้า และบริการภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้น ด้วยโครงการลดหย่อนภาษีให้มากเป็นพิเศษในหลาย ๆ รายการและอาจรวมถึงการลดหย่อนภาษีจากการตรวจสุขภาพประจำปีที่ต้องรวมการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ยังไม่มีอาการด้วย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ