คอลัมนิสต์

เรียนออนไลน์ควรแค่ทดลอง 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนออนไลน์ควรแค่ทดลอง  โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

          "ถึงหลายฝ่ายที่มีข้อกังวลใจเรื่องเรียนออนไลน์ว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คนคิด การเรียนออนไลน์ เราคาดว่าเด็ก ม.4 ม.5 ม.6 คงต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเราก็สำรวจอยู่ ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ ถ้าโรงเรียนไหนมีความสามารถที่จะสอนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเรียนทางโทรทัศน์ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร ผมให้อิสระกับผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนตัดสินใจแนวทางในการสอน โดยกระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่เตรียมเป็นพื้นฐานไว้ "ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563

อ่านข่าว...  เรียนออไนลน์  สอนจริง หรือ ทดลอง

          ข้อความข่าวข้างต้นได้ถูกคัดลอกมาจาก website ของคมชัดลึก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และเมื่ออ่านจบ ก็เกิดความสบายใจขึ้นมานิดหน่อยว่า อย่างน้อยที่สุดเด็กเล็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษาก็ไม่ต้องเรียนผ่านออนไลน์ เพราะเท่าที่ได้คุยกับหลายๆ คนที่มีบุตรหลานในระดับอนุบาลและประถมศึกษา ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นไปได้ยากที่เด็กๆ จะนั่งเรียนออนไลน์ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีครู ตัวเป็น ๆ กำกับอยู่หน้าห้อง ซึ่งธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะไม่อยู่นิ่งและชอบที่จะคุย เล่นกับเพื่อน แกล้งกัน และตั้งคำถามกับคุณครู แต่คุณครูดิจิทัลก็ไม่สามารถตอบสนองธรรมชาติของเด็กวัยนี้ได้ ถึงแม้ว่าในอนาคตจะเป็น interactive education ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่คุ้นเคย ได้หรือไม่ แม้กระทั่งการเรียนผ่าน DLTV ที่มีการทดลองใช้ จากข่าวที่ได้อ่านมาก็พบว่าหลายคนหลับกันเป็นแถว แต่คงจะต้องยกเว้นบ้านที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปสังเกตุการณ์อย่างใกล้ชิดตามที่เป็นข่าว (ไม่แน่ใจว่าเด็กอยากให้ท่านรัฐมนตรีฯ ร่วมอยู่ในชั้นเรียนด้วยหรือไม่...หรืออาจจะคิดในใจว่า เมื่อไรน้าจะกลับบ้านไปเสียที) 


          อย่างไรก็ตาม บางคนอาจบอกว่าเด็กในปัจจุบันนี้เติบโตมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือและสามารถนั่งหน้าจอได้เป็นวันๆ ทำไมถึงจะเรียนออนไลน์ไม่ได้ คำตอบง่ายๆ ครับ เพราะสิ่งที่เด็กส่วนใหญ่ดูผ่านมือถืออยู่เป็นประจำคือความบันเทิงและเกม ไม่ใช่สาระทางวิชาการตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ ที่ประกอบไปด้วยทั้งเรื่องที่น่าสนใจและเรื่องน่าเบื่อ แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ 

 


          ท่านทั้งหลายที่อายุตั้งแต่ 30 – 60 ปี ลองนึกย้อนไปในอดีตสมัยประถมศึกษา (อาจรวมถึงมัธยมศึกษาด้วย) พวกเราสามารถนั่งหน้าจอทีวีได้เป็นวัน ๆ เพราะติดรายการบันเทิง ไม่ใช่รายการวิชาการหรือข่าวนักการเมืองตีกัน และเมื่อไรก็ตามที่มีเพื่อนมาตามให้ไปขี่จักรยาน เล่นฟุตบอลหรือทำกิจกรรมอื่นๆ กับเพื่อนๆ พวกเราก็พร้อมที่จะปิดทีวี วิ่งตามเพื่อนออกนอกบ้านทันที แม้กระทั่งนั่งอยู่ในห้องเรียน พวกเราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนตลอด 45 – 60 นาที ในคาบเรียนนั้น ฉะนั้นอยากให้ผู้บริหารและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒทั้งหลายของกระทรวงศึกษาลองคิดแบบโลกแห่งความเป็นจริงให้มากหน่อย อย่าไปลอกรูปแบบการเรียนการสอนหรือหลักสูตร (รวมถึงวิธีประเมินด้วย) แบบประเทศตะวันตกจนมากเกินไป และอย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งว่าในอดีตตั้งใจเรียนมากตลอดเวลา เรียนหนังสือเก่ง สามารถสอบได้อันดับต้นๆ แล้วก็พยายามยัดเยียด สิ่งที่ตัวเองเคยทำได้ให้กับเด็กรุ่นหลังๆ รวมถึงเร่งรัดให้เด็กเรียนเนื้อหาวิชาการที่เกินกว่าวัย ด้วยข้ออ้างว่าต้องตามให้ทันเด็กชาติอื่น ในความเป็นจริงคือ คนเราไม่เหมือนกัน เด็กทุกคนมีสติปัญญา ความสามารถ ความขยันไม่เท่ากัน (ยังไม่รวมความแตกต่างในองค์ประกอบทางสังคมนะ) วัยเด็กควรจะเป็นวัยแห่งความสุขสนุกสนาน ไม่ใช่ต้องมาเครียดทั้งวันกับสิ่งที่อัจฉริยะในกระทรวงศึกษายัดเยียดให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา...ลองคิดแบบเด็กท้ายห้องบ้าง แล้วจะเข้าใจ


          ในประเด็นเรื่องการเรียนออนไลน์นั้น ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.90 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด และบางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเวลาคอยดูแลหรือให้คำแนะนำระหว่างเรียนออนไลน์ รองลงมา ร้อยละ 29.86 ระบุว่า เห็นด้วยในบางระดับ ร้อยละ 22.05 ระบุว่า เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กจะได้พัฒนาความรู้ระหว่างรอเปิดเทอม ได้ทบทวนเนื้อหาวิชาที่เรียน และทำให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดโควิด – 19


          ซึ่งผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วยในการสอนออนไลน์บางระดับ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.47 ระบุว่า ควรสอนออนไลน์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะ มีวุฒิภาวะที่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในการเรียนได้ และมีความรับผิดชอบและความสามารถในการใช้อุปกรณ์สื่อสาร สื่อออนไลน์ได้ดี รองลงมา ร้อยละ 60.80 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะ เด็กมีความรับผิดชอบ มีสมาธิ ในการเรียนด้วยตัวเองได้ดี และสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 21.33 ระบุว่าเป็น ระดับประถมศึกษา เพราะ ควรจัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่ประถมศึกษา เป็นต้นไป เนื่องจากเด็กจะมีความเข้าใจมากกว่าระดับอนุบาล และร้อยละ 10.40 ระบุว่าเป็น ระดับอนุบาล เพราะ ช่วงเวลานี้เด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองสามารถเรียนออนไลน์ได้


          จากผลการโพล พบว่าสังคมไทยแบ่งเป็นสองกลุ่มที่มีสัดส่วนห่างกันไม่มากนักในประเด็นการเรียนออนไลน์ กล่าวคือผู้ที่สนับสนุนการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในทุกระดับหรือในบางระดับ รวมกันแล้วได้ ร้อยละ 51.91ในขณะที่กลุ่มผู้ที่ไม่สนับสนุนการเรียนออนไลน์ในทุกระดับ อยู่ที่ร้อยละ 46.90 และเมื่อแตกข้อมูลดูในเชิงลึกก็พบสิ่งที่น่าสนใจบางอย่าง เช่น คนภาคเหนือ (51.97 %) ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาในระดับประถมศึกษา (50.27 %)  กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา (51.06 %) เจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ (56.57 %) และผู้มีรายได้ 20,001 – 30,000 บาทต่อเดือน (54.13 %) ไม่เห็นด้วยกับการเรียนออนไลน์ในทุกระดับ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลากหลายเหตุผล เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่พร้อม การไม่มีเวลานั่งกำกับบุตรหลานเรียนออนไลน์ได้ทั้งวัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ไม่ค่อยน่ากังวลเหมือนที่อื่น ๆ รวมถึงอาจต้องการให้บุตรหลานมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน ๆ ครูอาจารย์ แบบเป็นธรรมชาติหรือแบบตัวเป็น ๆ มากกว่าการผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม


          อีกคำถามหนึ่งของนิด้าโพล ซึ่งผลที่ได้ควรจะถูกส่งไปให้ “ปลื้ม” อ่านจะได้เข้าใจสังคมไทยมากกว่านี้  คำถามนั้นเกี่ยวกับคำสั่งให้เปิดเทอมสำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พบว่า ร้อยละ 51.51 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 คงหมดแล้ว และโรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เด็ก ๆ ควรจะสวมหน้ากากอนามัยไปเรียนทุกครั้ง ร้อยละ 28.27 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ช่วงระยะเวลาที่จะเปิดเรียน น่าจะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 แล้ว และอยากให้เปิดทีละชั้นเรียนหรือผลัดกันเปิดของแต่ละชั้นเรียนเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก ร้อยละ 9.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อยากให้เปิดเร็วขึ้นกว่านี้ เนื่องจากการปิดเทอมนานทำให้พัฒนาการเด็กช้าลง และจะทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 8.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้เปิดเรียนเป็นวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เนื่องจาก วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นานเกินไป และบางพื้นที่ก็ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 แล้ว


          จากผลการสำรวจจะพบว่า ผู้ที่เห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยกับการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม รวมกันแล้วอยู่ที่ ร้อยละ 79.78 ซึ่งเหตุผลก็ค่อนข้างชัดเจนว่า เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กนักเรียน โดยคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น่าจะดีขึ้นแล้ว และพร้อมที่จะให้เด็กได้ไปใช้ชีวิตที่ปกติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ new normal หรือ old normal  ก็ตาม ในขณะเดียวกันผลสำรวจในข้อนี้ก็อาจจะสอดคล้องกับผลการสำรวจของนิด้าโพลอาทิตย์ที่แล้วที่คนไทยประมาณร้อยละ 83.80 เลือกสุขภาพที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ก่อนเสรีภาพ และแน่นอนเราคงไม่อยากเผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกับบางประเทศ ที่เปิดเรียนได้วันเดียวก็ต้องสั่งปิดเพราะพบนักเรียนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

 

          หากสามารถเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ได้ตามแผนของกระทรวงศึกษาธิการ การทดลองเรียนออนไลน์ก็ควรจะยุติลงได้ เพื่อสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วทั้งประเทศกลับมามีสีสัน มีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รถติดในกรุงเทพและเมืองใหญ่ ๆ ก็จะกลับมาเช่นเดียวกัน...ตำรวจจราจรเตรียมพร้อมนับถอยหลังได้เลย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ