คอลัมนิสต์

ถึงเวลาหรือยัง..ยกเลิก' พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถานการณ์ระบาด'โควิด-19'ดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่เรามี พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งให้อำนาจ ควบคุม กักตัว ,สั่งให้เจ้าของบ้านทำความสะอาดเพื่อป้องกันโรค สั่งปิดตลาด โรงมหรสพ ห้ามทำกิจกรรม ดังนั้นใช้บังคับ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเคร่งครัด ก็น่าจะพอหรือไม่

        มีข่าวว่า รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์ เรื่อง"พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)ในสัปดาห์นี้ หลังจากมีการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาบังคับใช้ไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันประกาศ  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาต่อ ขยายเวลาต่อได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน
        และต่อมาวันที่ 2 เมษายน 63 ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น.-04.00 น. 
        แต่มาถึงตอนนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงฯข่าวดีต่อเนื่อง ว่าไทยปลอดผู้เสียชีวิต 3 วันติดต่อกัน ( 18-20 เม.ย.63 )
        จากตัวเลขที่ดีขึ้นเป็นลำดับนั้น แสดงว่ามาตรการทางสาธารณสุขที่ดำเนินการมาได้ผล จนสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ 
     ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการ"ล็อกดาวน์"ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเช่นกัน  
   

    ถึงเวลาแล้วหรือยัง....ที่จะต้องนำไปสู่การ "เปิดร้าน เปิดเมือง"กันต่อไป เพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ กลับมาทำงานใหม่โดยเร็วที่สุด  เพราะว่าขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนเพราะขาดรายได้จากมาตรการของรัฐเป็นจำนวนมาก ตัวเลขคนตกงานอาจสูงถึง 10 ล้านคน 
   
       คราวนี้มาดูกันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ  พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มีความเหมือน-ต่าง กันอย่างไร

        พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน)
        ประเทศไทยเราถือได้ว่ามีความก้าวหน้าและทันสมัยมากที่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้ 
          พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่ไทยได้ให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR)ที่กำหนดเรื่องการป้องกันรักษาและควบคุมโรคระบาด ซึ่งการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาดนั้น ปรัชญา ที่มา และการดำเนินการ อีกทั้งความรู้ที่ใช้ จะเป็นเรื่องการสาธารณสุข การแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าเป็นส่วนใหญ่ จึงแตกต่างกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อย่างสิ้นเชิง
           โดยมาตรา 34 ของกฎหมายนี้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อ สั่งให้คนที่เป็นโรคมากักตัว บังคับรักษา จนกว่าจะเป็นที่พอใจว่าจะไม่แพร่เชื้อต่อได้ 
           อีกทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังให้เจ้าของบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ทำความสะอาด จัดการสุขาภิบาลต่างๆ เพื่อป้องกันโรค และห้ามไม่ให้ทำการใดๆที่เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดโรคได้ด้วย เช่น ออกจากที่ควบคุม หรือเข้าไปในพื้นที่ เช่น บ้าน โรงเรือน หรือยานพาหนะที่มีโรคติดต่อ
        นอกจากนี้ ในมาตรา 35 ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาด สถานประกอบอาหาร โรงงาน โรงมหรสพ หรือห้ามจัดกิจกรรม สั่งห้ามการประกอบอาชีพที่ทำให้เกิดโรค และการกำกับโรคระบาดให้ครอบคลุมไปถึงการจัดการกับการเดินทางเข้าออกจากต่างประเทศด้วย 
      และโทษตามกฎหมายก็มี โดยผู้ที่ไม่ปฏิบัตตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในมาตรา 34 และ 35 มีโทษจำคุก โทษปรับ หรือ ทั้งจำทั้งปรับ  โดยโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
      พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ยังกำหนดให้มี คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ ผอ.โรงพยาบาล เป็นกรรมการอีกด้วย 
      ส่วน  พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน) 
      ความเป็นมาของกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ.2548 ภายหลังเหตุการณ์วางระเบิดเมืองยะลาเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับทั้งตัวเมืองติดต่อเป็นเวลานาน จึงได้มีการออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อประกาศแล้ว อำนาจหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ให้โอนมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี 
 และนายกฯสามารถอาศัยมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯประกาศ ‘เคอร์ฟิว’ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดได้ ,ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม 

  โดยสรุป.... 

     ความเหมือน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
    - การกักตัวหรือควบคุมตัวบุคคล
    - การเข้าออกตรวจค้นเคหสถาน
     - การสั่งห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆที่กำหนด
     -การสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด
   ความต่างที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทำได้ แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯทำไม่ได้ 
 -    การสั่งห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด(Curfew)
   - ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
    - ตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ยับยั้งการสื่อสารใดๆ
    - การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
    - มีข้อยกเว้นการรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่

      สถานการณ์ ณ เวลานี้ รัฐบาลบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ อย่างเคร่งครัดก็น่าจะเพียงพอหรือไม่ ..

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ