คอลัมนิสต์

'เราไม่ทิ้งกัน'.. แค่ประโยคสวยหรู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาตรการเยียวยาเดือนละ 5 พัน รวม 3 เดือน จากผู้ได้รับผลกระทบ'โควิด-19' ทำให้ชาวบ้านยิ้มออกได้บ้าง ในช่วงที่แสนลำบากเยี่ยงนี้ แต่เอาเข้าจริงกับมีเสียงวิจารณ์ตามมาด้วยความผิดหวัง เกี่ยวกับมาตรฐานคัดกรองคนที่มีสิทธิได้รับ

     ยังเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทรวม 3 เดือน จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก 'โควิด-19'ที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐได้ทยอยโอนเงินเข้าบัญชีผู้ที่ลงไปทะเบียนไปบ้างแล้ว

    อย่างไรก็ตามก็มีเรื่องให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันถึงเกณฑ์การพิจารณาว่าใครได้รับผลกระทบหรือไม่ และใครควรได้รับการเยียวยาหรือไม่เยียวยา     

       กรณีสาวรายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความเหยียดเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่รัฐบาลจ่ายช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 

      " 5 พันบาทเข้าบัญชีแล้วค่ะ ก็แค่เศษเงินหลังตู้เย็น เหอะ !! "หลังเธอได้รับเงินจากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

     หรือกรณีหญิงสาวอีกคนที่เธอได้รับเงิน 5,000 บาทโอนเข้าบัญชีเฉย ทั้งที่เธอทำเรื่องยกเลิกไปแล้ว โดย
เจ้าตัวโพสต์ภาพสลิปที่เงินเข้า 5,000บาท พร้อมข้อความ "โกหกเค้ามา แต่ได้เฉย"

     และเจ็บปวดที่เห็นชายหนุ่มจากจังหวัดสุราษฎ์ธานี ที่มีเงินฝากในบัญชี 7 หลัก ขับรถมอเตอร์ไซด์ราคาแพง มีทองใส่ที่ข้อมือ แล้วมาโพสต์อวดว่าตนเองได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท

     ในทางกลับกันกับมีผู้หญิงรายหนึ่ง เขียนเข้ามาในเฟซบุ๊กของผู้บริหารที่ดูแลการลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ว่า  เป็นแม่ค้าขายอาหารตามตลาดนัด รายได้หลักเลี้ยงดูบุตรผู้พิการเจาะคอ ท้องและเลี้ยงดูพ่อแม่สูงอายุ ขายอาหารอยู่ตลาด กรุงเทพ ตลาดประจำออฟฟิศ บางตลาดปิด บางตลาดเปิด แต่บริษัท
สั่งพนักงานทำงานอยู่บ้าน ยอดขายลดลง 90%

       "ตอนนี้รายได้ไม่พอซื้อของ แพมเพิส นม ให้ลูก ลงในอาชีพที่อยู่ในเงื่อนไขทุกอย่าง ป่านนี้ระบบAIยังค้นไม่เจอเราสักที ต้องการหลักฐานไรเพิ่มเติมว่ามีผลกระทบ ยินดีจะมอบทุกอย่าง กราบให้ระบบAI ค้นหาเราเจอและเยียวยาเราที เราเครียดมากตอนนี้ เราไม่กลัวตัวเองลำบาก แต่ลูกชายและพ่อแม่เราลำบากมากเพราะทุกคนรอรายได้จากเราซึ่งเป็นเสาหลัก"

           หรือแม้แต่แม่ค้าล็อตเตอรีรายหนึ่งซึ่งคิดว่าตนเองน่าจะได้ 5,000 บาทต่อเดือนเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพรายอื่นๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อลงทะเบียนแล้วไม่มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับเงินเยียวยา เพราะไม่มีทะเบียนเป็นผู้ค้าเนื่องจากเป็นรายย่อย ขณะที่แผงค้ารายใหญ่ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ได้รับกันถ้วนหน้า

         นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานเป็นพาร์ททาม ส่งเสียตัวเองเรียนก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ และยังมีอีกหลายอาชีพมาก

      แค่ขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยาก็เหลื่อมล้ำมากๆแล้ว ใครไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเตอร์เน็ตก็เข้าไม่ถึงมาตราการเยียวยานี้ 

        มีตัวอย่างหนึ่ง  ผัว-เมีย คู่หนึ่ง  ผัวเป็นคนขับรถเมล์ ส่วนภรรยา เป็นกระเป๋า เมื่อเกิด'โควิด-19' ตกงานทั้งคู่ และต้องไปอยู่ในเพิงพัก เก็บขยะหากิน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาเพราะใช้'อินเตอร์เน็ต' ไม่เป็น  

       บางคนต้องไปจ้างคนอื่นลงทะเบียนให้ มีค่าใช้จ่าย 100-500 บาท และแม้ว่าจะลงทะเบียนได้สำเร็จแล้วก็ยังมีความเสี่ยง ไม่มีความมั่นใจใดเลยว่าจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนจากรัฐบาล เงินที่จ่ายไป 100-500 บาทอาจต้องสูญเปล่า...

         ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ'โควิด-19' ต่างรอคอยเงินเยียวยาด้วยความหวัง โดยไม่รู้ว่าจะเงินจะเข้าเมื่อไหร่ ตรวจเช็กยอดเงินกันรายวันก็มี

         เพราะว่าสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ การรอคอยแม้จะเพียง 1-2 วัน สำหรับพวกเขานั้นมีค่ามาก ปัจจุบันมีแต่รายจ่ายออกไป ไม่เคยมีรายได้เข้ามา

       ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ประเมินว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ 5,000 บาท ไม่เกิน 8 ล้านคน จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนทั้งหมดประมาณ 24.5 ล้านคน

       สรุปว่า คนที่มาลงทะเบียนทั้งหมดจะมีคนไม่ได้รับเงินมากกว่าคนที่ได้รับเงิน 

       เข้าใจว่า งบฯมีจำนวนจำกัด จึงไม่สามารถให้เงินกับทุกคนได้ อย่างที่นายกฯบอก
      แต่อยากถามกลับไปยังผู้เกี่ยวข้องดังๆว่า....เอาเกณฑ์อะไรมาตัดสิทธิ์ประชาชนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ทั้งที่มาตรการช่วยเหลือจากรัฐที่ควรจะเป็น ต้องให้อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน 

        ไหนว่า..เราจะไม่ทิ้งกันไง..ครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ