คอลัมนิสต์

ระวังโควิดดื้อยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระวังโควิดดื้อยา คอลัมน์ ล่าความจริง โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร

     มาตรการของรัฐบาลในการจัดการปัญหาโควิด-19 แม้จะประสบความสำเร็จในแง่ของการถ่วงรั้งไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงจนน่าวิตกเหมือนในสหรัฐและยุโรปก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้
     และแม้ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดต่ำลงจากเลข 3 หลักมาเหลือ 2 หลัก ถือเป็นข่าวดี แต่ในวงการหมอผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อยังคงปรามว่า อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะศึกครั้งนี้ยังอีกยาวนาน

 

     สิ่งที่ต้องทบทวนคือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ออกโดยรัฐบาล ถึงวันนี้อาจจะมองว่า “ถูกทาง” แต่ก็ต้องทบทวนเรื่องความเด็ดขาด ความรอบคอบ และการสื่อสารข้อมูลเพื่อป้องกันความสับสน
    บทเรียนของการออกมาตรการถือว่าน่าศึกษา...
     เริ่มจากกรณีสนามมวย มีการออกมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ห้ามจัดชกมวย จากนั้นวันรุ่งขึ้น 4 มีนาคม กกท. หรือการกีฬาแห่งประเทศไทย ก็ได้ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือไปยังสนามมวยต่างๆ แต่ไม่มีเวทีมวยชื่อดังที่ไหนให้ความสนใจเลยยังเดินหน้าจัดชกตามปกติต่อไป จนผู้ป่วยจากสนามมวยกลายเป็น super spreader ลุกลามไปทั่วประเทศ

 

 


     ที่ผ่านมา กกท.แทบไม่มีช่องทางอะไรจัดการสนามมวยได้ ขณะที่ฝ่ายกองทัพที่มีเอี่ยวกับการจัดชกมวยของเวทีดังบางเวที ก็ทำได้แค่ตั้งกรรมการสอบ และเด้งนายทหารระดับเจ้ากรม แต่ก็ยังไม่มีใครหน้าไหนต้องรับโทษให้สังคมได้เห็นกันจะจะ ทั้งๆ ที่สร้างความเสียหายร้ายแรง
     เรื่องนี้สะท้อนความไม่เด็ดขาด และการบังคับใช้กฎหมายอยู่ภายใต้แรงกดดันของผลประโยชน์ กรณีต่อมา 21 มีนาคม กทม.ออกประกาศปิดห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต) และยังปิดสถานประกอบการอื่นๆ อีกรวม 26 ประเภท ทำให้เกิดกระแสกักตุนสินค้า และมีคนว่างงานทันทีจำนวนมาก ส่งผลให้คนเหล่านั้นแห่กลับบ้านในต่างจังหวัด โดยไปแออัดยัดเยียดกันตามสถานีขนส่งและรถ บขส. กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการส่งเชื้อโควิดออกจากเมืองหลวงไปสู่ภูธร
     เรื่องนี้สะท้อนถึงการออกมาตรการที่ไม่รอบคอบ ไม่ได้เตรียมการรองรับผลข้างเคียงที่จะตามมา
     24 มีนาคม ครม.มีมติใช้อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ซึ่งทุกคนคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว) แต่กลับรอการบังคับใช้ออกไปอีก 2 วัน ส่งผลให้เกิดการกักตุนสินค้าและเดินทางออกต่างจังหวัดกันอีกรอบ หนำซ้ำเมื่อใช้อำนาจจริงในวันที่ 26 มีนาคม มาตรการทั้งหมด 16 ข้อ ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือ
    2 เมษายน รัฐบาลยกระดับมาตรการเป็นการใช้เคอร์ฟิวทั่วประเทศ แต่กลับห้ามออกจากบ้านแค่ 4 ทุ่มถึงตี 4 ทั้งๆ ที่เป็นเวลาที่ไม่มีใครเขาออกกันอยู่แล้วในช่วงโรคระบาด เพราะร้านรวงตลอดจนสถานบริการต่างๆ ปิดทำการ
    แต่ที่น่าแปลกใจคือเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบกลับไม่ยอมจัดการเคอร์ฟิวสถานบริการบางประเภท เช่น สปาหวิวแฝงค้าประเวณี ที่ยังแอบเปิดกันอยู่หลายที่โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย รวมถึงบ่อนการพนันในหลายๆ พื้นที่ ทั้งบ่อนวิ่ง และบ่อนถาวร
    อีกหนึ่งมาตรการที่ประกาศวันเดียวกันคือ ชะลอการเข้าประเทศไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน คล้ายๆ ปิดประเทศ แต่ก็ไม่ปิด มาตรการนี้สร้างความสับสนจนเกิดความวุ่นวายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และคนไทยที่เป็นแรงงานร้านต้มยำกุ้งจากมาเลเซียต้องนอนริมถนนหน้าด่านสะเดา จ.สงขลา เพราะเข้าประเทศไม่ได้ (ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปิดประเทศ)
    เมื่อเกิดปัญหาก็มีการประกาศปิดสนามบิน ปิดน่านฟ้า โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ห้ามอากาศยานทุกประเภททำการบินเข้ามาในประเทศไทย ช่วงแรก 3 วัน (4-6 เม.ย.) จากนั้นประกาศห้ามต่ออีกจนถึงวันที่ 18 เมษายน ซึ่งพิจารณาจากวันที่ประกาศห้าม ไม่สอดคล้องกับมาตรการชะลอเข้าประเทศที่สิ้นสุดแค่ 15 เมษายน ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะแก้ประกาศหรือไม่ อย่างไร

 

    วันที่ 5 เมษายน มีเอกสารของปลัดกระทรวงมหาดไทยออกมา สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดทำสถานกักกันระดับพื้นที่ หรือ local qauarantine ให้พร้อม รวมทั้งจัดการระบบให้บริการน้ำและอาหาร เสมือนหนึ่งเตรียมล็อกดาวน์ 100% เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง จนเกิดข่าวลือ คนแห่ไปกักตุนสินค้า ยืนต่อคิวกันแน่นตามห้างจนอาจกลายเป็นการแพร่กระจายเชื้อโควิดมากขึ้นไปอีก
    หลังจากนี้ถ้าจะมีมาตรการอะไรใหม่ๆ ออกมาเพิ่มอีก เช่น ขยายเวลาเคอร์ฟิว หรือมาตรการอื่นใดก็ตาม รัฐบาลควรทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา แล้วหาแนวทางป้องกันปัญหาความผิดพลาด สับสน ไม่ให้เกิดซ้ำอีก...
    ก่อนที่โควิดจะดื้อยาไปมากกว่านี้ !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ